The Belt and Road Initiative เส้นทางสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของ ASIA และ THAILAND (ตอนที่ 4)

ประเทศไทย กับโครงการ BRI

โดยภาพใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางบก (ทางถนนและทางรถไฟ) จะมีด้วยกัน 3 เส้นทาง

1.เส้นที่ 1 คุนหมิง เวียดนาม กัมพูชา ไทย สิงคโปร์

2.เส้นที่ 2 คุนหมิง พม่า ไทย สิงคโปร์

3.เส้นที่ 3 คุนหมิง ลาว ไทย สิงคโปร์

โครงการนี้สำหรับไทยถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศที่จะเดินไป เพราะBRI จะทำให้การเชื่อมโยงระหว่าง ไทย – อาเซียน, ไทย  – จีน และอาเซียน – จีน กลายเป็นจริง ซึ่งจริง ๆ แล้วไทยนั้นมียุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ปี 2009 และเนื่องจากไทยถือเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีภูมิรัฐศาสตร์ที่เหมาะสม ไทยจึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในการผลักดันเรื่องนี้ โดยมีเส้นทางสำคัญ 3 เส้นทาง คือ

1.ระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันตก – ตะวันออก ที่จะเชื่อมพม่า ไทย ลาว เวียดนาม ด้วยการสร้างถนนและทางรถไฟ

2.ระเบียงเศรษฐกิจใต้ จะมีถนน ทางรถไฟ จากเมืองทวายในพม่า เข้าไทยที่กาญจนบุรี ผ่านกรุงเทพฯ ไปทางตะวันออก ถึง กรุงพนมเปญ และโฮจิมินห์ซิตี้

3.ระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ จะเชื่อมจีนตอนใต้ โดยเฉพาะเชื่อมคุนหมิงกับหนานหนิง ผ่าน พม่า ลาว เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ถึงสิงคโปร์

เราจะเห็นว่าทั้งสามระเบียงเศรษฐกิจนี้มีความเชื่อมโยงกับโครงการ BRI ของจีนอย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งถ้าทำสำเร็จประเทศไทยก็จะกลายเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้โดยสมบูรณ์แบบ เปรียบเสมือนดั่งประตูเชื่อมระหว่างอาเซียนและโครงการ BRI โดยเราจะเห็นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามอย่างมากในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หนองคาย ที่สุดท้ายแล้วจะไปเชื่อมกับคุนหมิงของประเทศจีน (และต่อเข้าสู่เซินเจิ้น มุ่งหน้าสู่จุดที่เรียกว่า The Greater Bay Area) ขณะที่ทางใต้จะมุ่งหน้าลงสู่สิงคโปร์

ในช่วงปี 2018 ไทยกับจีนมีปัญหากันอยู่ในเรื่องของการเจรจาการลงทุน ที่ไทยไม่ต้องการใช้เงินกู้ของจีน โดยไทยต้องการลงทุนเองทั้งหมด และไทยจะสร้างแค่จาก กรุงเทพฯ ไปถึง นครราชสีมา เท่านั้น (จากเดิม กรุงเทพฯ – หนองคาย) ซึ่งเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้มีมูลค่ากว่า 170,000 ล้านบาท (โดยที่โครงการนี้จะไปเชื่อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของทางซีพี ซึ่งจะมุ่งหน้าเข้าสู่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกต่อไป (EEC))

รูปแบบการลงทุนในตอนหลังถูกปรับมาเป็นรูปแบบการลงทุนร่วม ก่อนจะปรับอีกครั้งมาเป็นรูปแบบว่าจ้างแทน และในตอนหลังโครงการนี้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ช่วง (1.กลางดง – ปางอโศก = 3.5 กิโลเมตร 2.ปางอโศก – กรุงเทพฯ =  11 กิโลเมตร 3.ปลายทางเข้ากรุงเทพฯ = 100 กิโลกเมตร 4.กลางดง – โคราช 100 กิโลกเมตร) โดยที่ไทยขอเปลี่ยนข้อตกลงอีกโดยจะขอสร้างทดลองช่วงแรกก่อน ในส่วนของ บ้านกลางดง-บ้านปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรเท่านั้น!! (ซึ่งมันแทบไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง) ซึ่งแน่นอนว่ามันสร้างความไม่พอใจให้กับจีนอย่างมากจนไม่เชิญประเทศไทยไปงานประชุม BRI Summit (และต้องไม่ลืมว่าการเจรจาโครงการนี้ระหว่างรัฐบาลไทยที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับฝั่งจีนที่มีนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ทางไทยได้ขอให้จีนช่วยเหลือในเรื่องซื้อข้าว 2 ล้านตัน ยาง 2 แสนตันจากไทย เพื่อแลกกับการสร้างรถไฟความเร็วสูงแต่ปรากฏว่าไทยเบี้ยว) รวมถึงการที่จีนยังไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่หมดวาระของคนล่าสุดเลยจนถึงตอนนี้

ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทยกับจีน มองเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไรสำคัญก็แค่ผลประโยชน์ไม่ลงตัว แต่ในความเป็นจริงไทยนั้นอยู่ในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ซึ่งหากมองในมุมของการเมืองระหว่างประเทศจะเห็นได้ชัดเจนว่า การปล่อยให้โครงการนี้เกิดขึ้น ผู้ที่จะเสียประโยชน์ที่สุดคือสหรัฐอเมริกานั้นเอง เพราะมีความเป็นไปได้สูงมากว่าปัญหาที่แท้จริงจะมาจากการเมืองของสองมหาอำนาจ มากกว่าเงื่อนไขด้านการลงทุนของรัฐบาลจีน

ในมุมด้านการลงทุนของโครงการนี้ ด้วยจำนวนเม็ดเงินมหาศาลมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหากประเทศไทยใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็มีแนวโน้มโน้มสูงมาก ๆ ที่ประเทศจะมีโอกาสเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดจากการมาของโครงการนี้ และนั้นจะทำให้บริษัทภาคเอกชนของประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศ หลังจากปีที่ผ่านมาประเทศตกอยู่ในสภาพยากลำบาก และคาดการณ์ว่าปีนี้ก็อาจจะเป็นอีกปีที่ภาคเอกชนไทยจะเจอกับปัญหามากมาย เพราะฉะนั้นยิ่งไทยผลักดันโครงการ BRI ให้เกิดขึ้นเร็วมากเท่าไร ภาคเอกชนและประชาชนก็จะมีโอกาสฟื้นตัวเร็วขึ้นเท่านั้น

สรุป

จะเห็นว่าเส้นทาง สายไหมใหม่ หรือ the Belt and Road Initiative (BRI) ไม่ใช่แค่โครงการคมนาคมอย่างที่หลายคนเข้าใจ สำหรับผมมันคือโครงการที่ซ่อนพลังทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การฑูต การเมืองระหว่างประเทศ และภูมิรัฐศาสตร์ เอาไว้อย่างลึกซึ้งผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งน่าจะใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกจะเคยมีมาเลยก็ว่าได้ และหากทำสำเร็จก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จีน จะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกอย่างแน่นอน แต่กับหลายประเทศที่อยู่ในเส้นทางโครงการนี้และแน่นอนว่าไม่อาจไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จำเป็นต้องพิจารณาให้ดีถึงผลกระทบระยะยาวที่มีต่อประเทศของตนเองในทุก ๆ มิติอย่างรอบคอบ เพราะเมื่อมีการตัดสินใจลงทุนไปแล้วการจะมานั่งตามแก้ปัญหานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอย่างที่ทราบกันผลกระทบมันมีหลากหลายมิติเกินกว่าหลายคนจะคาดเดาได้หมด การบริหารจัดการความเสี่ยงแทบจะเป็นสิ่งแรกที่รัฐบาลทั่วโลกจะต้องพิจารณาให้ดี

ไทยเองก็เช่นในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ประเทศของเราถือว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ซึ่งมีความสำคัญต่อมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือจีน การถ่วงดุลระหว่างทั้งสองให้ดีจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ในแง่การลงทุนในโครงการนี้ซึ่งเมื่อตัดสินใจลงทุนไปแล้ว มันจะผูกพันกับเศรษฐกิจของประเทศไประยะยาว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการเจรจาต่อรองให้ได้ผลรับที่ดีที่สุดเพื่อประเทศไทย และไม่นำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเกรงว่าสุดท้ายผลประโยชน์ที่เราควรจะได้จากโครงการนี้ที่จะนำความเจริญมาให้ จะไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ประเทศต้องเสียไปเสียแล้ว

LINK ตอนที่ 1,2,3

The Belt and Road Initiative เส้นทางสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของ ASIA และ THAILAND (ตอนที่ 1)

The Belt and Road Initiative เส้นทางสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของ ASIA และ THAILAND (ตอนที่ 2)

The Belt and Road Initiative เส้นทางสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของ ASIA และ THAILAND