The Belt and Road Initiative เส้นทางสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของ ASIA และ THAILAND

การพัฒนา ความร่วมมือ และเงินทุน ปัจจัยความสำเร็จของ BRI

ปัจจุบันโครงการที่จะพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ หนึ่งแถบ (One Belt) หรือเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมใหม่ เป็นเครือข่ายทางบกจากจีนไปยัง 6 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เอเชียใต้ และยุโรป โดยจะแบ่งออกเป็น 6 เส้นทาง / ระเบียงเศรษฐกิจ และระเบียงเศรษฐกิจที่ติดกับชายฝั่งจะถูกเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกับเส้นทางทางทะเล ซึ่งระเบียงเศรษฐกิจที่สร้างนั้น นอกจากจะมุ่งยกระดับประสิทธิภาพ การขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำแล้ว ยังถือเป็นจุดกระจายสินค้า รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางการค้า เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ การข้ามแดน ศุลกากร เป็นต้น

6 ระเบียงเศรษฐกิจ หนึ่งแถบ (One Belt)

1.ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย (China-Mongolia-Russia) / รถไฟ / จีน (ท่าเรือเทียนจิน), มองโกลเลีย, รัสเซีย

2.แลนด์บริดจ์ยูเรเชีย สายใหม่ (New EurasianLand Bridge) / รถไฟ, ถนน / จีน (เขตปกครองพิเศษซินเจียง และเมืองเหลียนหยุนก่าง ในมณฑลเจียงซู), คาซัคสถาน, รัสเซีย, เบลารุส และ 23 ประเทศในสหภาพยุโรป

3.จีน-เอเชียกลางและเอเชียตะวันตก (China-Central and West Asia) / รถไฟ / จีน (เขตปกครองพิเศษซินเจียง) คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน ตุรกี ยูเครน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย และรัสเซีย

4.จีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indo-China Peninsula) / รถไฟ, ถนน, ท่าเรือ / จีน (Pearl River Delta) สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย

5.จีน-ปากีสถาน (China-Pakistan) / รถไฟ, ถนน, ท่อส่งน้ำมัน / จีน (ซินเจียง), อินเดีย, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน

6.บังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-พม่า (Bangladesh-China-India-Myanmar) / รถไฟ, ถนน, ท่าเรือ / บังคลาเทศ, จีน (เมืองคุณหมิง มณฑลยูนนาน), อินเดีย, พม่า

อีกด้านหนึ่งในส่วนของโครงการนี้เรียกว่า หนึ่งเส้นทาง หรือ เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (One Road) เป็นเส้นทางเดินเรือที่จะเชื่อมจีนเข้ากับประเทศในมหาสมุทรต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจีนได้พัฒนา 4 ท่าเรือหลัก เพื่อรองรับโครงการในส่วนนี้คือ ท่าเรือฝูโจว ท่าเรือเฉวียนโจว ท่าเรือกวางโจว และท่าเรือจ้านเจียง พร้อมแบ่งเส้นทางเดินเรือออกเป็น 2 เส้นทาง

1.ชายฝั่งตะวันออกของจีน / ทะเลจีนใต้, มหาสมุทรอินเดีย, อ่าวเปอร์เซีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ยุโรป

2.ชายฝั่งตะวันออกของจีน / ทะเลจีนใต้, มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

การลงทุนของจีนในท่าเรือตามนโยบาย BRI

ท่าเรือ                          ทวีป                             ประเทศ                       มูลค่าการลงทุน (ล้านเหรียญสหรัฐ)

Gwadar                        เอเชีย                           ปากีสถาน                     198

Hambantota                 เอเชีย                           ศรีลังกา                       1,900

Columbo Port City      เอเชีย                           ศรีลังกา                       1,430

Columbo Port              เอเชีย                           ศรีลังกา                       500

Port of Djibouti            แอฟริกา                       จิบูตี                            185

Lamu                           แอฟริกา                       เคนย่า                           484

Mombasa                     แอฟริกา                       เคนย่า                         66.7

Pireas                           ยุโรป                             กรีซ                             624

Antwerp                       ยุโรป                           เบลเยียม                      3.94

เราจะเห็นว่าเส้นทางของโครงการ BRI กินขอบเขตกว้างขวางถึง 4 ทวีป มีสัดส่วน Nominal GDP (Nominal Gross Domestic Product คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น) 30% ของทั้งโลก และคิดเป็น 40% ของอัตราการเติบโตของ GDP พร้อมครอบคลุมประชากรจำนวน 44% ของโลก นั่นทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะขับดันได้เพียงลำพัง ความร่วมมือระหว่างชาติในมิติต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่การได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ การประสานผลประโยชน์ระหว่างประเทศผ่านข้อตกลงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี โดยมีจีนเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะต้องแสดงความมุ่งมั่นในการผลักดันโครงการเหล่านี้ ซึ่งจะส่งสัญญาณผ่านการเยือนประเทศต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ

โดยท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงการนี้ในงานประชุม The Belt and Road Forum for International Cooperation เมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 ว่า ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (One Belt, One Road) นั้นมีรากฐานมาจากเส้นทางสายไหมในอดีต

“เมื่อ 2 พันกว่าปี มาแล้ว บรรพบุรุษของเราเดินทางข้ามทุ่งหญ้าและทะเลทรายเพื่อเปิดเส้นทางเชื่อมโยงระหว่าง เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เรียกว่า เส้นทางสายไหม บรรพบุรุษของเราเดินเรือในทะเลที่ปั่นป่วน เพื่อสร้างเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงตะวันออกกับตะวันตก เรียกว่า เส้นทางสายไหมทางทะเล”

ข้อความนี้ได้เน้นย้ำถึงหลักการและแนวคิดของโครงการ BRI ว่าจะเป็นข้อริเริ่มทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่เปิดกว้างโดยมีประเทศร่วมมือกันมากกว่า 60 ประเทศ พร้อมมุ่งเป้าให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม พร้อมยืนหยัดหลักการไม่แทรกแซง กิจการภายในของประเทศในภูมิภาค ไม่แสวงหาอำนาจครอบงำในกิจกรรมต่าง ๆ ของภูมิภาค

โดย BRI ไม่ใช่สิ่งที่ไปทดแทนข้อริเริ่มหรือกลไกความร่วมมือภูมิภาคที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่มี เป้าหมายในการขับเคลื่อนให้บรรลุซึ่งความเชื่อมต่อกันของยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมข้อได้เปรียบซึ่งกันและกันสำหรับประเทศตามแนวเส้นทาง

ด้านเงินทุน

นอกจากจีนจะเป็นผู้นำในการกำหนดยุทธศาสตร์ในโครงการนี้แล้ว จีนก็จะต้องเป็นนายทุนใหญ่ในโครงการนี้ด้วยที่คาดกันว่าตัวเลขการลงทุนจะสูงถึง 1.2 – 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว นั้นทำให้จีนต้องจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อรองรับการลงทุนในโครงการนี้ 2 แห่ง คือ กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB)

1.กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ถูกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2014 ที่กรุงปักกิ่ง โดยเป็นความร่วมมือของสถาบันการเงินหลักของจีน 4 แห่ง คือสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศแห่งชาติจีน (The State Administration of Foreign Exchange), บริษัทเพื่อการลงทุนแห่งชาติจีน (China Investment Corporation), ธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน (China Development Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (The Export-Import Bank of China) และตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ มากมายเช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในประเทศปากีสถาน โรงงานก๊าซธรรมชาติเหลว ในรัสเซีย โรงงานผลิตน้ำสะอาดและพลังงาน ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ เป็นต้น

2.ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) มีหน้าที่หลักคือ สนับสนุนด้านการเงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย โดยมีประเทศจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมสมาชิกก่อตั้งขั้นต้น 10 ประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิก 93 ประเทศ

จากข้อมูลของทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่าปัจจุบัน โครงการ BRI ที่เสร็จสิ้นการก่อสร้างไปแล้วมีอยู่ 3 โครงการใหญ่ ได้แก่

  1. เส้นทางรถไฟอี้อู-ลอนดอน (Yiwu-London railway) เส้นทางขนส่งสินค้าจากจีน ระยะทางรวมกว่า 12,000 กิโลเมตร ตัดผ่าน 8 ประเทศได้แก่ คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ เยอรมนี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และสิ้นสุดที่สหราชอาณาจักร โดยขบวนรถไฟส่งสินค้าขบวนแรกที่ออกจากเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีนได้เดินทางถึงกรุงลอนดอนในเดือนมกราคม ปี 2017 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 18 วัน ซึ่งเร็วกว่าการขนส่งสินค้าทางเรือซึ่งปกติใช้เวลาราว 30 – 45 วัน และมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศ
  2. ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor) เป็นโครงการที่จีนสามารถผลักดันให้เดินหน้าได้มากที่สุดในบรรดาระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แห่ง ซึ่งโครงการย่อยที่ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ท่าเรือคาซิม มอเตอร์เวย์ระหว่างเมืองเปศวาร์และการาจีซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในปากีสถาน และถนนเชื่อมไปยังท่าเรือน้ำลึกกวาดาร์ ซึ่งรัฐบาลปากีสถานตั้งใจผลักดันให้เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศภายในปี 2055
  3. ท่าเรือน้ำลึกฮัมบานโตตา ประเทศศรีลังกา (Hambantota port) มีมูลค่าลงทุนรวม 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มก่อสร้างในปี 2008 โดยมีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ แต่ภายหลังรัฐบาลศรีลังกาตัดสินใจยกให้บริษัทท่าเรือสัญชาติจีนเป็นผู้ดูแลภายใต้สัญญาเช่า 99 ปี เพื่อเป็นการลดภาระหนี้