SUMMER SONIC เทศกาลดนตรีดังครั้งแรกในไทย โอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Festival Economy กว่า 2 พันล้านบาท

อย่างที่ทราบกันดีว่า Summer Sonic หรือเทศกาลดนตรีที่โด่งดังมากที่สุดเทศกาลหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาแล้วมากมาย ได้เตรียมเปิดฉากเทศกาลดนตรี SUMMER SONIC นอกญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2024 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจะมีศิลปินไทยและต่างชาติขึ้นแสดงกว่า 20 วง ซึ่งงานนี้รัฐบาลไทยเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้งานออกมาประสบความสำเร็จ และหวังว่าไทยจะกลายเป็นฮับอีกแห่งของเทศกาลดนตรีระดับโลก รวมทั้งกวาดรายได้มหาศาลสู่ภาคการท่องเที่ยว

 

เทศกาลดนตรี (Music Festival) มักเกิดขึ้นกลางแจ้ง และมีหลายแนวดนตรี ทั้งเทศกาลดนตรีป๊อป เทศกาลดนตรีร็อก เทศกาลดนตรีฮิปฮอป เทศกาลดนตรี EDM และอื่น ๆ โดย ขนาดของตลาดเทศกาลดนตรีทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 2,482.99 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 และคาดว่าจะขยายตัวที่ CAGR 22.89% ในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ โดยจะแตะ 8,550.59 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2574 จึงถือเป็นอีกตลาดที่มีมูลค่าสูงทีเดียว

 

เมื่อมีการจัดเทศกาลดนตรีขึ้น ผู้คนจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาเพื่อร่วมงาน ทำให้เกิดการใช้จ่ายจากผู้เข้าร่วมงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เทศกาลดนตรีจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็น Festival Economy เนื่องจากมีการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ในภาคการท่องเที่ยว ทั้งบริการที่พัก/โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง

 

ที่ผ่านมา Music Festival ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก เช่น เทศกาล Glastonbury ในประเทศอังกฤษ มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 203,000 คน Coachella ในสหรัฐอเมริกา มากกว่า 896,000 คน Rock in Rio ในบราซิล มากกว่า 1,500,000 คน รวมทั้ง Summer Sonic และ Fuji Rock ในประเทศญี่ปุ่น จำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่า 350,000 คน และ 130,000 คน (อ้างอิงจากปี 2019) ซึ่งเทศกาลดนตรีเหล่านี้ทำรายได้มหาศาล เช่น Coachella 2019 ทำรายได้กว่า 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ Rock in Rio 2019 ทำรายได้ถึง 323 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

และเทศกาลดนตรี Summer Sonic Bangkok 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทยปีนี้ SCB EIC วิเคราะห์ข้อมูลของ Summer sonic และสำนักข่าวต่าง ๆ ว่ามีโอกาสสร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวราว 2 พันล้านบาท จากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ทั้งนี้ประเมินจากข้อมูลผู้เข้าร่วมงาน summer sonic ในญี่ปุ่น ราว 10% เป็นผู้ร่วมงานที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ/ผู้เยี่ยมเยือนไทยของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

เดิมที เทศกาลดนตรี SUMMER SONIC ถูกจัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ในเมืองโตเกียวและโอซากา โดยมีผู้เข้าร่วม Summer Sonic ประมาณ 350,000 คนเกือบทุกปี ดังนั้นเมื่อเทศกาลดนตรีนี้ได้มาจัดที่เมืองไทยจึงถูกคาดหวังว่าจำนวนผู้เข้าชมจะอยู่ในระดับเดียวกันตอนจัดที่ประเทศญี่ปุ่น

 

แต่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ จากที่มีข่าวก่อนการเปิดขายบัตรรอบ Pre-sale และการประกาศผังและราคาบัตรแต่ละประเภท โดยที่ยังประกาศไลน์อัปศิลปินไม่ครบ ทำให้ผู้ที่คาดว่าจะเข้าร่วมงานโดยเฉพาะชาวไทยตัดสินใจได้ยากว่าจะเข้าร่วมงานนี้หรือไม่ เนื่องจากราคาบัตรที่สูง (5,500 – 20,000 บาท) สวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยซึ่งอยู่ราว ๆ ชั่วโมงละ 46 บาทเท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องทำงานกว่าครึ่งเดือนถึงจะสามารถซื้อตั๋วราคาถูกสุดได้ จึงอาจจะไม่คุ้มค่าถ้าได้ชมการแสดงของศิลปินที่ชื่นชอบเพียงไม่กี่วง และอาจต้องพึ่งพารายได้จากการขายบัตรให้ชาวต่างชาติมากกว่าที่คาดการณ์

 

ทั้งนี้มีการประกาศรายชื่อศิลปินออกมาแล้วบางส่วน ได้แก่ YOASOBI, Laufey, Nothing But Thieves, AURORA, Lauv, Bodyslam (แขกรับเชิญพิเศษ BABYMETAL และ F.HERO), BRIGHT, Violette Wautier และ LAUV แต่ยังมีไลน์อัปศิลปินที่ยังไม่ได้ประกาศเช่นกัน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่ใจและคาดเดาได้ยากในหมู่ผู้ที่สนใจเข้าร่วมเทศกาลดนตรีนี้

 

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไทยซึ่งนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้ามาสนับสนุนเทศกาลดนตรีในครั้งนี้อย่างจริงจัง อาจช่วยให้ไทยกลายเป็นฮับทางด้านคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีต่อไปได้ จากความพยายามผลักดันให้เกิด Festival Economy ในไทยขึ้นคล้าย ๆ กับที่สิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดคอนเสิร์ต The Eras Tour ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ แต่เพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจสิงคโปร์ 350-500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว ๆ 9 พันล้าน – 1.3 หมื่นล้านบาท ทำให้ GDP ของสิงคโปร์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีหลายจุดที่ไทยต้องพัฒนาและปรับปรุงเพื่อให้เทศกาลดนตรีครั้งนี้สามารถดึงดูดใจผู้ชมทั้งชาวไทยและต่างชาติยิ่งขึ้น

 

ในแง่หนึ่ง หากการนำเทศกาลดนตรีจากต่างประเทศมาจัดที่ประเทศไทยแล้วประสบความสำเร็จ ทำรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นไปตามที่คาดการณ์ราว 2 พันล้านบาท การกลับมาให้พื้นที่และสนับสนุนเทศกาลดนตรีของไทย ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และน่าสนใจไม่แพ้กับเทศกาลดนตรีดัง ๆ ทั่วโลก อย่างเช่น Wonderfruit หรือเทศกาลดนตรีอื่น ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนไทยและอุตสาหกรรมดนตรีของไทยเพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศได้ในระดับเดียวกันกับเทศกาลดนตรีจากต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อไปในอนาคต

 

ที่มา : Summersonic Bangkok, linkedin, dtn, gitnux, nationtv
เขียนและเรียบเรียง : สีน้ำ แผ่วฉิมพลี
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus