The Belt and Road Initiative เส้นทางสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของ ASIA และ THAILAND (ตอนที่ 1)

หากพูดถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งศตวรรษที่ 21 คงจะไม่มีโครงการไหนในโลกจะยิ่งใหญ่เท่ากับ โครงการเส้นทางสายไหม หรือ One Belt and One Road ที่ตอนหลังถูกเรียกใหม่ว่า The Belt and Road Initiative (BRI) โดยโครงการนี้มีหัวเรือใหญ่ผู้ผลักดันคนสำคัญคือ ประเทศจีน และยุทธศาสตร์นี้ปรากฏต่อประชาคมโลกครั้งแรกในปี 2013 ในช่วงที่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทางไปเยือนประเทศคาซักสถาน และได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการนี้เป็นครั้งแรกที่นั่น (การไปเยือนประเทศคาซักสถานของนายสี จิ้นผิง ได้พูดถึงในส่วนของ One Belt ซึ่งจะเชื่อมโยงเครือข่ายถนนและเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมจีนกับประเทศในยุโรปผ่านเอเชียกลาง)

และเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน นายสี จิ้นผิง ได้พูดถึงโครงการนี้อีกครั้งระหว่างเดินทางไปเยือนประเทศอินโดนีเซียในงานประชุมอาเซียนซัมมิท (ในรอบนี้ได้พูดถึง One Road ซึ่งเป็นการเปิดตัวเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่จะเชื่อมท่าเรือของจีนกับท่าเรือของประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป) โดยโครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงการคมนาคมทางบกและทางทะเล พร้อมปรับปรุงท่าเรือและสร้างศูนย์การผลิตอุตสาหกรรมและการค้าขึ้น

โครงการ The Belt and Road Initiative นี้จะครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 68 ประเทศทั่วโลก พร้อมเงินลงทุนที่คาดว่าจะสูงถึง 1.2 – 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เลยทีเดียว (ปี 2027) สำหรับการลงทุนในระบบเครือข่ายขนส่ง พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมที่จะพาดผ่านทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา มันคือการให้การสนับสนุนด้านเงินทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของโลกที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศ และวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัยสำหรับรัฐบาลจีน โดยเส้นทางสายไหมถือเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่อายุยืนยาวด้วยระยะทางกว่า 8,000 ไมล์ พร้อมกับการเดินทางที่ยากลำบาก และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์คาดว่ามีมาตั้งแต่ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช นั่นแสดงให้เห็นว่าชาวจีนมีการติดต่อกับต่างชาติมาอย่างยาวนาน รวมไปถึงการค้าขายโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพงอย่างเช่นผ้าไหม ซึ่งมีการส่งไปขายที่ราชสำนักโรม (ยุโรป) และนี้ได้สะท้อนอารยธรรมโบราณอันเก่าแก่และยิ่งใหญ่ของจีนที่มีต่อโลกใบนี้

ประวัติศาสตร์เส้นทางสายไหม

เส้นทางสายไหมเดิมนั้นเกิดขึ้นในช่วง ราชวงศ์ฮั่น 206 ก่อนศักราชปัจจุบัน – ค.ศ. 220 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งขยายเครือข่ายการค้าให้ครอบคลุมไปทางตะวันตก ที่ครอบคลุมตั้งแต่ประเทศในเอเชียกลางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอัฟกานิสถาน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน รวมไปถึงอินเดีย ปากีสถาน และมุ่งลงสู่ทิศใต้ต่อไป นั้นทำให้เส้นทางเหล่านี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,000 ไมล์ ไปถึงยุโรปเลยทีเดียว

เอเชียกลางนั้นถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของคลื่นลูกแรกของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศทางตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน รวมไปถึงการกระจุกตัวของความมั่งคั่งขนาดใหญ่ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา ขณะที่สินค้าขึ้นชื่อของประเทศจีนในตอนนั้นไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหม เครื่องเทศ หยก และสินค้าอื่น ๆ ได้มุ่งหน้าสู่ตะวันตก พร้อมกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยทองคำ แร่เงินอื่น ๆ งาช้าง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว โดยเส้นทางสายไหมได้ก้าวไปสู่จุดสูงสุดในช่วงเวลาระหว่าง 1,000 ปี ซึ่งเป็นช่วงของ ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) ขณะที่ทางฝั่งยุโรปเป็นโรมยุคแรก และจักรวรรดิไบแซนไทน์

แต่สงครามครูเสดและความก้าวหน้าของมองโกเลียในเอเชียกลาง ได้ทำให้เส้นทางการค้าสายนี้หยุดชะงัก ซึ่งทำให้ประเทศในเอเชียกลางแยกตัวทางเศรษฐกิจออกจากกัน โดยปัจจุบันการค้าในภูมิภาคนี้คิดเป็น 6.2% ของการค้าทั้งโลกเท่านั้น และพวกเขาก็ต้องพึ่งพารัสเซียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการโยกย้ายเงิน ซึ่งตรงนี้คิดเป็นหนึ่งในสามของ GDP คีร์กีซสถานและทาจิกิสถาน และในปี 2018 การชำระเงินของพวกเขาลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2013 เนื่องจากรัสเซียมีปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก นั่นทำให้เห็นว่าการพึ่งพารัสเซียเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีกต่อไป

จีนวางแผนอะไรสำหรับเส้นทางสายไหมครั้งใหม่นี้

อย่างที่ได้เกริ่นไปในช่วงแรกว่าโครงการนี้มีแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ก็คือในส่วนของคมนาคมทางบกและทางทะเล ซึ่งวิสัยทัศน์ของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในเรื่องนี้คือ การสร้างโครงข่ายการเดินทางทางรางขนาดมหึมา ท่อส่งพลังงาน ทางหลวงขนาดใหญ่ และการข้ามเขตแดนที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยไปทางตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการผ่านภูเขาจำนวนมากของอดีตสหภาพโซเวียต ด้านทิศใต้จะผ่านประเทศปากีสถาน อินเดีย (ณ ข้อมูลล่าสุด อินเดียไม่เอาด้วยกับโครงการนี้ หลังโครงการนี้วิ่งผ่านพื้นที่ทับซ้อนที่ทางปากีสถาน และอินเดีย และต่างอ้างว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นของตัวเอง) รวมไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายเงิน หยวน หรือที่เรียกในอีกชื่อว่า เหรินหมินปี้ ในระดับนาน ๆ ชาติให้มากขึ้น

ตรงนี้จะทำให้สกุลเงินของจีนมีอิทธิพลต่อโลกมากขึ้น (และถือเป็นการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐไปด้วย) และถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการผลักดันตัวเองให้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกด้านเศรษฐกิจหมายเลข 1 โดยสมบูรณ์ในอนาคตข้างหน้า ซึ่งทาง IMF คาดกันว่าจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลกในปี 2028 จากเดินที่คาดไว้คือ 2030

มูลค่า GDP ของประเทศจีนตั้งแต่ปี 2015 – 2025

ปี                                                         มูลค่า GDP

2015                                                    11,113.53

2016                                                    11,227.08

2017                                                    12,265.32

2018                                                    13,841.9

2019                                                    14,731.81

2020                                                    15,222.16

2021*                                                  16,834.59

2022*                                                  18,240.57

2023*                                                  19,745.8

2024*                                                  21,369.44

2025*                                                  23,089.16

ที่มา : IMF

หมายเหตุ : 2021 – 2025 เป็นการคาดการณ์

จีนมีแผนจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภายใต้โครงการนี้ถึง 50 เขต ในรูปแบบเดียวกับที่ทำกับเมืองเซินเจิ้น (เซินเจิ้น ถูกเปิดตัวในฐานะเขตเศรษฐกิจพิเศษครั้งแรกในปี 1980 ระหว่างการปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้การนำของท่านประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยว ผิง) โดยจากการประเมินของนักวิเคราะห์ ระเบียงเศรษฐกิจที่จะมุ่งพัฒนาอย่างท่าเรือกวาดาร์ที่ทำกับทางประเทศปากีสถานเพียงลำพัง อาจจะต้องใช้เงินสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากรวมทั้งโครงการ ตอนนี้จีนใช้เงินไปแล้วกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ

จีนหวังจะบรรลุผลอะไรจากโครงการนี้

สิ่งที่เป็นแรงจูงใจ 2 เรื่องสำคัญที่ซ่อนอยู่หลังความริเริ่มนี้คือ การมีอิทธิพลในเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์โลก และความคิดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในช่วงเวลาที่การเติบโตลดลง พร้อมกับการค้าที่ตึงเครียดซึ่งสัมพันธ์กับการที่สหรัฐอเมริกาเริ่มกดดันจีนให้เปิดตลาดใหม่สำหรับการซื้อขายสินค้า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญต่างวิเคราะห์ว่าโครงนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายอันโดดเด่นภายใต้การเป็นผู้นำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคียงคู่กับ The Made in China 2025 ซึ่งเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ

นอกจากนั้นวิสัยทัศน์นี้ยังถูกมองเป็นการแสดงถึงการต่อต้านกลยุทธ์ในเอเชียของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า ‘Pivot to Asia’ ส่วนมิติอื่น ๆ โครงการนี้ยังถูกมองว่าจะเป็นวิธีการที่จีนจะพัฒนาโอกาสทางการลงทุนใหม่ ๆ พัฒนาตลาดส่งออก และสนับสนุนรายได้ รวมไปถึงการบริโภคภายในประเทศ

ในเวลาเดียวกัน จีนก็มีแรงบันดาลใจที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจโลกเพื่อเชื่อมโยงกับภูมิภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งในประวัติศาสตร์มักถูกละเลย โดยมีฐานสำคัญที่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (เป็นเขตปกครองตนเองของจีนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นเขตปกครองใหญ่ที่สุดของจีน) ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นเส้นทางส่งพลังจากเอเชียกลางและตะวันออกลางมาจีน โดยไม่มีกองทัพสหรัฐเข้ามายุ่งเกี่ยว

ขณะที่ในมุมเศรษฐกิจแบบกว้าง ๆ มันคือการบอกว่า ผู้นำของจีนได้ตัดสินใจกำหนดแนวทางเพื่อหลีกเลี่ยงกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และนั่นจะทำให้ค่าแรงสูงขึ้น คุณภาพชีวิตได้รับการพัฒนา ขณะที่จะมีการเพิ่มขึ้นของการผลิตที่ต้องใช้ทักษะขั้นต่ำ ขณะที่หลายประเทศต้องดิ้นรนที่จะผลักดันตัวเองไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง

LINK ตอนที่ 2

.

The Belt and Road Initiative เส้นทางสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของ ASIA และ THAILAND (ตอนที่ 2)