The Belt and Road Initiative เส้นทางสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของ ASIA และ THAILAND (ตอนที่ 2)

สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ

ถึงแม้จะเป็นโครงการที่ใหญ่ และหลายฝ่ายจะได้รับประโยชน์ แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้านในหลากหลายมุม เพราะเนื่องจากจีนเป็นผู้บุกเบิกโครงการ ทำให้หลายฝ่ายก็มองว่าโครงการนี้พวกเขาได้รับประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น และจริง ๆ จีนนั้นแหละที่จะโกยเม็ดเงินจากโครงการนี้มากกว่าใคร โดยปัญหานั้นมีตั้งแต่ปริมาณหนี้สินที่จะเพิ่มขึ้น (และเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ มากกว่าการให้เปล่า) เพื่อใช้ในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เงินของโครงการนี้ถูกมองว่าเป็นยาพิษในแก้วเหล้าองุ่น ที่ในระยะยาวแล้วประเทศที่ลงทุนไปอาจจะปัญหาได้

เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละประเทศมีศักยภาพในการรองรับหนี้สินได้ไม่เท่ากัน เช่น ประเทศลาวและศรีลังกา ซึ่งมีหนี้สาธารณะคิดเป็นสัดส่วน 63% และ 84% ของ GDP ซึ่งหากสุดท้ายไม่อาจรับมือกับภาระตรงนี้ได้ ก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องยอมยกโครงการที่ลงทุนนี้ให้จีนเช่าในระยะยาวไปเลย เท่ากับประเทศนั้น ๆ ต้องเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาติให้กับจีนไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีการประมูลที่มีกระบวกการที่ค่อนข้างคลุมเครือ รวมไปถึงการเรียกร้องให้ใช้บริษัทจากจีนเท่านั้นในสัญญาการประมูล (ตรงนี้รวมไปถึงแรงงานในทุก ๆ มิติจากจีนด้วย) ผลลัพธ์ทำให้ผู้ทำสัญญามีต้นทุนเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การยกเลิกโครงการ และแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงทางการเมือง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศมาเลเซียนายกรัฐมนตรีมาฮาดีร์ บิน โมฮามัด เดินหน้าคัดค้านโครงการเส้นทางสายไหมของจีน โดยมองว่ามีต้นทุนที่แพงเกินจริง และทันทีที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2018 เขาก็ยกเลิกโครงการนี้ที่มีมูลค่าสูงถึง 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐทันที ถึงแม้ภายหลังตัวเขาจะออกมาประกาศว่ายังคงสนับสนุนโครงการนี้อยู่ก็ตาม ในคาซัคสถานมีการต่อต้านการสร้างโรงงานของจีนทั่วประเทศภายใต้ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุน รวมไปถึงการปฏิบัติของรัฐบาลจีนต่อชาวอุยกูร์ ในมลฑลซินเจียง และนี้ก็ทำให้การลงทุนในโครงการนี้ลดลงตั้งแต่ปลายปี 2018 จนถึงจบปี 2019 แม้แต่รัฐบาลเคนยาและแซมเบียก็มีการศึกษาโครงการนี้อย่างระมัดระวังก่อนการเซ็นสัญญา

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกของ BRI

ด้าน World Bank ได้มีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกของ BRI ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ให้ความสำคัญ โดยผลลัพธ์ของโครงการนี้จะช่วย เพิ่ม GDP โลกขึ้น 1.3% ในปี 2030 และสนับสนุนการค้าโลกให้เพิ่มขึ้น 5% ขณะเดียวกันจะลดการขนส่งบนถนนส่วนเกินลงถึง 25% และทางทะเล 5% พร้อมช่วยประหยัดเวลาการนำเข้าระหว่างประเทศที่อยู่ในโครงการ BRI ด้วยกัน ขณะที่มีการประเมินกันว่าจะมีอัตราการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้น 0.1 – 0.7% พร้อมกับมูลค่าการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศในโครงการที่น่าจะอยู่ราว ๆ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึง 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยในเรื่องของการลดต้นทุนทางการค้า

ปัจจุบันประเทศในกลุ่ม BRI มีต้นทุนด้านการขนส่งทางอากาศคิดเป็นเกือบ ๆ 12% จากต้นทุนการขนส่งด้านนี้รวมทั่วโลก ขณะที่ทางบกอยู่ที่ราว ๆ 31% และสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดคือทางทะเลที่สูงถึง 58% และจากการวิเคราะห์ก็พบว่าประเทศที่อยู่ในกลุ่ม BRI นั้นจะลดต้นทุนการค้าได้อย่างมหาศาล โดยประเทศอย่างคีร์กีซสถานจะลดได้มากถึง 10.2% ประเทศไทยเกือบ ๆ 7% ด้านเวลาคาดว่าจะสามารถลดการใช้เวลาในการขนส่งทั่วโลกได้ 0.7% – 1.1% ขณะที่หากคำนวณเฉพาะประเทศในกลุ่ม BRI จะพบว่าลดเวลาขนส่งได้มากถึง 1.2% – 2%

ขณะที่การมาของโครงการนี้จะช่วยผลักดันรายได้แท้จริงให้เพิ่มขึ้นประมาณ 0.7 ในปี 2030 หรือคิดเป็นตัวเลขกว่า 930,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศที่อยู่ในพื้นที่ของ BRI ได้รับประโยชน์ประมาณ 70% ของผลประโยชน์รวมทั่วโลก และเฉพาะจีนจะได้อยู่ที่ 20% ขณะที่ประเทศอย่างปากีสถานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10.5% จากรายได้รวมแท้จริงทั้งหมด คีร์กีซสถาน 10.4% ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะนำโดยประเทศไทยอยู่ที่ 8.2% มาเลเซีย 7.7% กัมพูชา 5%

ด้านปริมาณของการส่งออกทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 1.7% ในปี 2030 หรือคิดเป็น 565,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นของการส่งออกเกิดขึ้นในพื้นที่ของ BRI คิดเป็นมูลค่า 438,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ ประเทศไทย 14.9% มาเลเซีย 12.4% และปากีสถาน 9.8% ขณะที่ด้านการนำเข้าคาดว่าจะสูงกว่า โดยประเทศไทยจะอยู่ที่ 21.4% มาเลเซีย 18.5% และคีร์กีซสถาน 17.5%

ขณะที่การส่งออกด้านเกษตรกรรมในกลุ่มประเทศ BRI จะเพิ่มขึ้น 2% ส่วนจีนจะมีการส่งออกในด้านถ่านหินลดลง -9.4% แต่จะไปเพิ่มขึ้นในเรื่องก๊าซแทนที่ 3.5% ด้านคีร์กีซสถานจะได้ประโยชน์จากการส่งออกเครื่องหนังมากกว่า 150% ซึ่งผลลัพธ์ของแต่ละประเทศในโครงการ BRI จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการควบคุมมูลค่าของเวลาในการค้าขายเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ

ด้านการนำเข้าในปี 2030 คาดว่าจะแซงหน้าการส่งออก โดยเป็นการเติบโตในทุก ๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ระบบอิเล็กทรอนิกส์, การก่อสร้าง, เกษตรกรรม และปิโตรเลียม ซึ่งประเทศที่จะเป็นผู้นำด้านการนำเข้าสูงสุดสองอันดับแรกที่ถูกคาดการณ์คือ ไทย และจีน

ในพื้นที่ของ BRI จะเห็นการเติบโตในสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) มากกว่า 73,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้จะเพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ ตามมาด้วยสินค้าเกษตร และชิ้นส่วนระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดย 2 ประเทศที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ ไทย และมาเลเซีย ขณะที่กลุ่มประเทศนอกพื้นที่ BRI จะเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร ยกเว้นเอธิโอเปีย และสหรัฐอเมริกา ขณะที่กลุ่มที่จะมีปัญหามากคือ ธุรกิจเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์

ต้นทุนและผลประโยชน์ทางสังคมจากโครงการ

โครงการ BRI ถือเป็นโครงการที่ถูกคาดว่าจะสามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นในผลตอบแทนให้กับคนทำงานมากกว่าเจ้าของเงินทุนหรือเจ้าของที่ดิน โดยตัวเลขผลตอบแทนของแรงงานจะอยู่ที่ 1.37% ขณะที่ผลตอบแทนของเงินทุนจะอยู่ที่ 0.87% ซึ่งแรงงานที่มีทักษะต่ำจะได้ผลตอบแทนคิดเป็น 1.36% ขณะที่แรงงานที่มีทักษะที่ดีกว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่า 1.38% และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคในกลุ่มประเทศ BRI ไทยและลาวถือเป็น 2 ประเทศที่จะมีการเพิ่มขึ้นมากพอสมควรสำหรับผลตอบแทนซึ่งสัมพันธ์กับแรงงานทักษะต่ำ แต่ปากีสถานและคีร์กีซสถานจะเห็นภาพตรงกันข้าม ขณะที่ผลตอบแทนในที่ดินจะเพิ่มขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคของ BRI  โดยเฉพาะในปากีสถานและบังกลาเทศ

จะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศ BRI มากกว่า 12 ล้านคน หรือประมาณ 0.48% ซึ่งกลุ่มประเทศที่อยู่แถวเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะสูญเสียแรงงานประมาณ 800,000 คนซึ่งหลัก ๆ จะอยู่ในประเทศจีน และบางส่วนในไทยและมาเลเซีย ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีแรงงานหลั่งไหลเข้าสู่ภาคเกษตรมากกว่า 4 ล้านตำแหน่ง เช่นเดียวกับปากีสถาน บังกลาเทศ และอินเดีย ที่ตัวเลขการจ้างงานในภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างในโครงการนี้จะนำไปสู่การยกระดับชีวิตผู้คนหลายล้านคนให้พ้นจากเส้นค่าเฉลี่ยด้านความยากจน ในระยะสั้นของโครงการนี้จะมีผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์ แต่ถ้าหากโครงการนี้สามารถกลายเป็นจริง ผู้สูญเสียในประเทศทั้งในกลุ่ม BRI และนอก BRI จะยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนทั่วโลกมากถึง 7.6 ล้านคนจากคนที่ยากจนสุดขีด และ 32 ล้านคน จะได้รับการบรรเทาให้เบาบางลง และหากเจาะลงไปในส่วนของประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในโครงการ BRI คนยากจนสุดขีดจะได้รับประโยชน์สูงถึง 4.3 ล้านคน 26.7 ล้านคนจะได้รับการบรรเทาให้เบาบางลง หากดูจากตัวเลขก็พอบอกได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผลดีกับประเทศที่แข็งแกร่งอยู่แล้วมากกว่า ประเทศที่ไม่แข็งแกร่งและยังตามหลังในหลาย ๆ ปัจจัย

ในประเทศอย่าง เคนยา และแทนซาเนีย คาดว่าจะมีคนจนจำนวน 700,000 คนหลุดพ้นจากความยากจนสุดขีด ซึ่งมีกำลังซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ด้านเอเชียใต้และปากีสถานจะมีคน 1.1 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนสุดขีด ขณะที่บังกลาเทศ อินเดีย และเนปาล ตัวเลขอยู่ที่ 200,000 คน 300,000 คน และ 600,000 คนตามลำดับ