บอร์ดประกันสังคม

เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมสำคัญอย่างไร?

ประเด็นที่มีการพูดถึง และถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างยาวนาน คือเรื่องการบริหารกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นกองทุนใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยการวิจารณ์นี้เกิดขึ้นจากปัญหาด้านนโยบาย และความคุ้มครองไม่ครอบคลุมแรงงานทุกประเภท และยังถูกมองว่าการบริหารประกันสังคมในขณะนี้ยังไม่สร้างผลตอบแทนที่ดีมากพอในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย (Aged Society)

โดยพอร์ตปัจจุบันของกองทุนประกันสังคมมีเงินจำนวนกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยหลักการของกองทุนประเภทนี้ คือ การนำเงินสมทบจากผู้ประกันตนหรือง่ายๆ คือ นำเงินพนักงานบริษัท มนุษย์เงินเดือนที่รับค่าจ้างจากนายจ้างและเข้าระบบประกันสังคม โดยพนักงานจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมในทุกๆ เดือน 5% ของค่าจ้าง (สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน) ร่วมกับฝั่งนายจ้าง ในอัตรา 5% ของค่าจ้าง (สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน) และประกันสังคมจะนำเงินเหล่านี้มาสร้างหลักในการดำรงชีวิต คุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดลูก เสียชีวิต ชราภาพ และว่างงาน ดังนั้น บอร์ดประกันสังคมจึงมีหน้าที่สำคัญคือ การบริหารระบบเงินเงินเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ และงอกเงยมากที่สุด

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบประกันสังคมกำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 เพราะปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีการเปิดให้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ซึ่งช่วงก่อนปี 2557 เคยมีการเปิดเลือกตั้ง แต่เงื่อนไขของการเลือกตั้งนั้น 1 สหภาพ เท่ากับ 1 เสียง (สมาชิกกี่คนก็ตาม) และแต่ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาคณะกรรมการได้ถูกแต่งตั้งโดยคสช. และในปี 2566 นี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเลือกตั้งสำหรับผู้ประกันตน 1 คน ก็เท่ากับ 1 เสียง

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จึงจะมีการเปลี่ยนแปลง และมีผลต่อการบริหารกองทุนประกันสังคมเป็นอย่างมาก เพราะบทบาทของบอร์ดประกันสังคมจะมีหน้าที่ให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม วางระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน

โดยที่ผ่านมาการบริหารของบอร์ดประกันสังคมถูกวิจารณ์อย่างมากมาย ซึ่ง Business+’ พบว่าสาเหตุเป็นเพราะว่าพอร์ตการลงทุนของประกันสังคมไทยในตราสารทุน โดยเฉพาะหุ้นนั้น ผลตอบแทนค่อนข้างผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงทำให้หลายคนมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทำให้เกิดการขาดทุนจาก Capital Gain นอกจากนี้ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศแผนการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมใหม่ๆ เช่น การเรียกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนที่สูงขึ้น หรือ แม้แต่การปรับเงื่อนไขเงินสงเคราะห์ชราภาพ เพียงแค่ 2 กรณีนี้ก็ยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้คนคิดว่า ประกันสังคมกำลังถังแตก อ่านเนื้อหาฉบับเต็ม Business+ ได้เคยเขียนไว้ในคอนเทนต์ https://www.thebusinessplus.com/socialsecurity/ อย่างไรก็ตามหากมีคณะกรรมการชุดใหม่ที่ถูกเลือกโดยประชาชนเข้าไปทำงานก็อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น

โดยไทม์ไลน์การเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม มีดังนี้

  • 12-31 ต.ค.66 ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th (ขยายเวลาถึง 10 พ.ย.2566)
  • 25-31 ต.ค.66 รับสมัครผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้าง
  • 10 พ.ย.66 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
  • 21 พ.ย.66 ประกาศรายชื่อและหมายเลขผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้าง
  • 24 ธ.ค.66 ลงคะแนนเลือกตั้ง

ซึ่งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 เดือนธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 และนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนได้ฝ่ายละ 7 คน

โดยปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั้งหมด 24 ล้านคน และจำนวนผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 12 ล้านคน โดยสำนักงานประกันสังคมตั้งเป้าหมายการลงทะเบียนเลือกตั้งไว้ที่ 1 ล้านคน อย่างไรก็ตามจากรายงานล่าสุดมีจำนวนผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งเพียง 120,000 คนเท่านั้น

ที่มา : ประกันสังคม , SET

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #การลงทุน #การลงทุนกองทุนรวม #ประกันสังคม