ITEL แตกต่างด้วยเทคโนโลยี + Value Added Service

การจะเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในตลาด Fiber Optic จำเป็นต้องสร้างจุดแข็งด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือเสถียรภาพ และการให้บริการที่รวดเร็ว ‘อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม’ ถือเป็น Player ที่สร้าง Differentiation กับเจ้าอื่นในตลาดได้ด้วยการวางโครงข่ายในเส้นทางที่แตกต่าง จึงทำให้มีโอกาสในธุรกิจ และสัญญานที่มีเสถียรภาพมากกว่า

ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL กล่าวถึงจุดเริ่มต้น Innovation ที่แตกต่างของบริษัทฯ เกิดจากการมองเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมเชื่อมต่อข้อมูล ซึ่งในขณะนั้นผู้เล่นในตลาดจะมีทั้งการเชื่อมต่อโครงข่ายด้วยสายทองแดง และสาย Fiber Optic

ซึ่งทาง อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม เลือกสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ด้วยการเพิ่ม Innovation ให้ 100% เป็น Fiber Optic เพราะมองว่าการมีสายทั้ง 2 แบบจะทำให้เกิดเป็นคอขวด ซึ่งในเวลานั้นก็กลายเป็น Innovation ใหม่ แต่ต่อมาเทคโนโลยีก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีผู้เล่นที่ทำ Fiber Optic ตามมา

ส่วน Innovation ถัดมาคือการตั้งเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์เสถียรภาพด้านสัญญาน โดย อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม ในขณะนั้นได้เริ่มวางโครงข่ายทั้งเส้นทางรถไฟ และถนน ถือเป็น Innovation ที่เกิดขึ้นเวลานั้น และยืนหยัดมาถึงทุกวันนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ ยังคงเป็นเจ้าเดียวที่มีโครงข่ายผสมผสานระหว่างรถไฟและถนน เป็นจุดที่สร้างความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น และทำให้ลูกค้าหลายรายเลือกใช้บริการของ อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม มากขึ้น

“ในการวางโครงข่ายในต่างจังหวัดจะมีทั้งทางรถไฟและถนน แต่เราเลือกทั้ง 2 อย่างเพื่อสร้างความแตกต่าง ในขณะที่ทุกคนไปทางถนน แต่เราเลือกที่จะลากสายไปทั้ง 2 ทาง จึงสร้างเสถียรภาพที่ดีกว่า นอกจากนี้การมีในสิ่งที่คนอื่นไม่มี ก็ยังทำให้แม้แต่คู่แข่งก็กลายมาเป็นคู่ค้าเราได้” ดร.ณัฐนัย กล่าว

นอกจากการมี Innovation ที่แตกต่างจะดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีต่อประเด็นของเงินลงทุนที่ต่ำกว่า โดยการเดินสายผ่านเส้นทางรถไฟจะเป็นการตัดตรงจากจังหวัดสู่จังหวัด แต่ถนนจะเป็นการเชื่อมต่อจังหวัดไปสู่อำเภอ เพราะฉะนั้นการใช้โครงข่ายหลักตามเส้นทางรถไฟจะย่นระยะทางได้มากกว่าเส้นทางถนน 10-20% และมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง ซึ่งนำมาสู่การมีต้นทุนต่ำกว่า และส่งผลไปสู่ราคาสุดท้ายที่ถึงลูกค้าลดต่ำลงได้ในขณะที่เรามีกำไรสุทธิเท่าเดิม

“Innovation มีหลากหลายรูปแบบ แต่ก็มีตัวที่มาวันนี้และตายไปเพราะมีคนเข้ามาแข่ง แต่ก็มีส่วนที่ยังคงอยู่ได้ ซึ่งเรามีทั้ง 2 แบบ”

ดร.ณัฐนัย มองว่า อุตสาหกรรมการให้บริการเชื่อมต่อข้อมูลยังคงเป็นตลาดที่มีโอกาสในการเติบโตจากความต้องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของทุกองค์กร ซึ่งอินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของ เสถียรภาพ และความรวดเร็ว โดยที่ในด้านของเสถียรภาพ ทางบริษัทฯ ทำ Service level Agreement กับลูกค้าเอาไว้ 99.99% ซึ่งวัดจากการเชื่อมต่อแบบมีเสถียรภาพของสัญญาน และความรวดเร็วในการซ่อมแซม โดยที่ข้อตกลงของบริษัทฯ กับลูกค้าคือ หากได้รับแจ้งระบบขัดข้องจะเข้าถึงและซ่อมเสร็จสิ้นภายใน 4 ชั่วโมง แต่ค่าเฉลี่ยที่บริษัทฯ สามารถทำได้จริงคือ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งการให้บริการที่รวดเร็วนี้จะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งลูกค้ารายเล็กและรายใหญ่ ดังนั้น อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จึงมี Service level Agreement สูงถึง 99.999% ซึ่งมากกว่าที่สัญญากับลูกค้า และยังมากกว่าค่ามาตรฐานของทั้งอุตสาหกรรม

“ลูกค้าของบริษัทฯ มีทั้งองค์กรขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่ต้องการเชื่อมต่อออนไลน์ตลอดเวลา ดังนั้นความรวดเร็ว และเสถียรภาพ จึงเป็นสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญมากที่สุด ซึ่งความต้องการของตลาดมันมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่สุดท้ายตอนจบของมันอยู่ที่ลูกค้าเลือกไว้ใจใคร”

Value Added Service ต่อยอดธุรกิจสู่เป้าหมาย

สำหรับการต่อยอดธุรกิจในอนาคตนั้น ดร.ณัฐนัย กล่าวว่า การมี Digital Infrastructure ทำให้สามารถที่จะ Value Added Service ต่อยอดไปยังการให้บริการอื่น ๆ ได้ โดย 2 ส่วนที่บริษัทฯ จะมุ่งเน้นคือ Cyber security เพื่อเป็นตัวช่วยในการรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลให้กับลูกค้า และ Security Access Service อย่างเช่น CCTV ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้จะถูก On top เข้าไปในการขายแพลตฟอร์มต่าง ๆ

“ลูกค้าของเรา 90% ต้องการในส่วนของ Cyber security และ CCTV ซึ่งการที่เราเข้าไปช่วยมอนิเตอร์ก็จะทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความปลอดภัยมากขึ้น นอกจาก 2 ส่วนนี้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ Value Added ได้ ซึ่งเราพยายามศึกษาและมองหาความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง ซึ่งแผนการทั้งหมดนี้จะทำให้มาร์เก็ตแชร์ของเราขยับขึ้นจาก 12% ไปสู่ 17% ได้” ดร.ณัฐนัย กล่าวในตอนท้าย