ประกันสังคม

เปิดพอร์ต ‘ประกันสังคม’ ตั้งแต่ต้นปี ‘กำไร-ขาดทุน’ ไปเท่าไหร่?

ความมั่นคงของเงินลงทุน ‘กองทุนประกันสังคม’ ถูกนำกลับมาพูดถึงกันอีกครั้ง หลังจาก สส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายรายงานผลการดำเนินการกองทุนประกันสังคม โดยเนื้อหามีการพูดถึงปัญหาคุ้มครองไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ และยังมองว่าการบริหารประกันสังคมในขณะนี้ยังไม่ดีพอจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการบริหารให้สอดคล้องกับสังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยประเด็นนี้ ‘Business+’ มองว่าเป็นอีกเรื่องที่พรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญ เพราะการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในภาวะสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย (Aged Society) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีเงินสงเคราะห์กรณีชราภาพให้กับประชาชนในประเทศ

ซึ่งจากข้อมูลที่เราได้ทำการสำรวจล่าสุดจะเห็นว่าจริงๆ แล้วประเด็นของประกันสังคมนั้น เป็นเรื่องที่ถูกนำมาพูดกันมาอย่างยาวนาน สาเหตุเป็นเพราะว่าพอร์ตการลงทุนของประกันสังคมไทยในตราสารทุน โดยเฉพาะหุ้นนั้น ผลตอบแทนค่อนข้างผันผวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงทำให้หลายคนมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทำให้เกิดการขาดทุนจาก Capital Gain

นอกจากนี้ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศแผนการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมใหม่ๆ เช่น การเรียกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนที่สูงขึ้น หรือ แม้แต่การปรับเงื่อนไขเงินสงเคราะห์ชราภาพ ยกตัวอย่างเมื่อปลายปี 2564 สำนักงานประกันสังคมได้ประกาศว่าจะขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากเดิม 55 ปี เป็น 60 ปี และล่าสุดเมื่อต้นปี 2566 ก็ได้เปิดแผนปฏิรูปกองทุนประกันสังคมอีกครั้ง ด้วยแนวความคิดที่จะเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นสูงสุดจากเดือนละ 750 บาท เป็น 1,000 บาท เพียงแค่ 2 กรณีนี้ก็ยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้คนคิดว่า ประกันสังคมกำลังถังแตกหรือไม่?

ทั้งนี้เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว ‘Business+’ จะพามาเจาะข้อมูลสัดส่วนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า สำนักงานประกันสังคม ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกัน และความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิตภายใต้หลักการสำคัญ โดยที่ฝั่งลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลจะต้องร่วมกันจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน

หรือจะพูดง่ายๆว่า กองทุนประกันสังคมถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ให้กับผู้เอาประกัน

ซึ่งสัดส่วนล่าสุดนั้น ประกันสังคมได้แบ่งวัตถุประสงค์เป็น 3 กองหลัก ๆ คือ

1. กรณีเจ็บป่วย พิการ เสียชีวิต คลอดบุตร (ลูกจ้าง 1.5% , นายจ้าง 1.5% , รัฐบาล 1.5%)

2. กรณีสงเคราะห์บุตร ชราภาพ (ลูกจ้าง 3% , นายจ้าง 3% , รัฐบาล 1%)

3. กรณีว่างงาน (ลูกจ้าง 0.5% , นายจ้าง 0.5% , รัฐบาล 0.25%)

จะเห็นได้ว่านโยบายการลงทุนของกองทุนประกันสังคมหลักๆ คือ การนำเงินของผู้เอาประกันไปถือครองหลักทรัพย์ในระยะยาว ด้วยการมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่กองทุน

ที่นี้เรามาเจาะข้อมูลเข้าไปเพื่อตอบคำถามว่า กองทุนประกันสังคมกำลังขาดสภาพคล่องจริงหรือไม่? โดยเราพบว่า เดือนพฤษภาคม 2566 ประกันสังคม มีเงินลงทุนสะสมทั้งสิ้น 2,316,171 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นราว  3.24% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน (ข้อมูลจาก ประกันสังคม) และเมื่อดูการแบ่งลงทุน พบว่า กองทุนประกันสังคมได้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง จำนวน 1,742,169 ล้านบาท คิดเป็น 75.22% และมีเงินลงทุนหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 574,002 ล้านบาท คิดเป็น 24.78%

ซึ่งถึงแม้ว่า ประกันสังคมจะมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงราว 24.78% แต่เมื่อดูพอร์ตการลงทุนในตราสารทุน โดยเฉพาะหุ้นซึ่ง ‘Business+’ พบว่า 10 อันดับแรกที่ประกันสังคมถือนั้น มีอยู่หลายบริษัทที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนัก ซึ่งการปรับตัวขึ้นหรือลงของกองทุน และหุ้นที่ประกันสังคมไปลงทุนนั้น หากทำการ Mark to Market หรือปรับมูลค่าของหลักทรัพย์ตามราคาตลาดล่าสุด (ซึ่งกองทุนรวมจะการคำนวณในทุกๆ สิ้นวันทำการ) ก็จะทำให้มูลค่าเงินลงทุนของประกันสังคมนั้นลดลง

โดยใน 10 อันดับแรกที่ประกันสังคมถือหุ้นมากที่สุด กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตส์ (MJLF) เป็นกองทุนที่ราคามีการปรับตัวลดลงไปสูงถึง 29.23% จากราคา 5.68 บาท เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2565 เหลือ 4.02 บาท

อย่างไรก็ตามใน 10 อันดับแรกยังมีกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดีจากผลต่างของราคาหุ้น (Capital Gain) คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 19.84% มาอยู่ที่ 37.75 บาท จากราคาเมื่อปลายปี 2565 อยู่ที่ 31.50 บาท

ประกันสังคม

นอกจาก 10 อันดับแรกที่ประกันสังคมเข้าถือจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างผันผวนแล้ว เมื่อดูหุ้นอีก 4 บริษัทที่ ประกันสังคมถือหุ้นเกิน 4% เมื่อเทียบตั้งแต่ต้นปีก็มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลายบริษัทด้วยกัน อย่างเช่น

  • บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ราคาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2566 อยู่ที่ 35.25 บาท ปรับตัวลดลง 21.28% จากวันที่ 30 ธ.ค.2565 ราคาอยู่ที่ 42.75 บาท
  • บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN ราคาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2566 อยู่ที่ 4.18 บาท ปรับตัวลดลง 2.87% จากวันที่ 30 ธ.ค.2565 ราคาอยู่ที่ 4.30 บาท
  • บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC ราคาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2566 อยู่ที่ 320 บาท ปรับตัวลดลง 6.88% จากวันที่ 30 ธ.ค.2565 ราคาอยู่ที่ 342 บาท
  • บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ราคาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2566 อยู่ที่ 128 บาท ปรับตัวลดลง 2.34% จากวันที่ 30 ธ.ค.2565 ราคาอยู่ที่ 131 บาท

จะเห็นได้ว่า การลงทุนในหุ้นทั้งหมด 4 ตัว ซึ่งมีสัดส่วนการถือเกิน 4% ที่เราได้คัดเลือกมานั้น หากประกันสังคมทำการ Mark to Market ในขณะนี้ก็จะให้ผลตอบแทนที่ลดลงเมื่อเทียบกับปลายปี 2565 ถึงแม้ว่าจะมีหุ้นอีกหลายบริษัทที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ราคาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2566 อยู่ที่ 35 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.26% จากวันที่ 30 ธ.ค.2565 ราคาอยู่ที่ 33.25บาท ก็ยังเป็นหุ้นอีกหนึ่งตัวที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับประกันสังคม นอกจากนี้จำนวนแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จะมีจำนวน 11,667,744 คน เพิ่มขึ้น 4.27% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,190,109 คน) และเมื่อเทียบกับ เดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,618,874 คน)

แต่เมื่อเรามองไปยังโครงสร้างสังคมทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper Aged Society) ก็จะทำให้มีคนสูงอายุเยอะขึ้น คนทำงานน้อยลง นั่นเท่ากับว่าเราจะมีเงินไหลเข้าประกันสังคมน้อยลง เพราะทั่วโลกจะมีคนจ่ายเงินให้กับประกันสังคมน้อยลง แต่มีคนที่จะเบิกเงิน หรือได้รับเงินสงเคราะห์มากขึ้น (คนแก่เยอะขึ้น คนทำงานน้อยลง)

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า ประกันสังคมจะเพิ่มความแข็งแกร่ง และความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุนอย่างไร ซึ่งในมุมมองของนักวิเคราะห์หลายๆ แห่งต่างมองว่า ประกันสังคมจึงจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในเชิงรุกมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่า กองทุนประกันสังคมจะคาดการณ์ว่าในอนาคตสถานะกองทุนประกันสังคมในปี 2570 จะมีเงินลงทุนสะสมคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ในภาวะที่ตลาดทุนยังคงผันผวน และสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรอาจไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่เพียงพอ นอกจากนี้สังคมผู้สูงอายุในไทยจะทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า การแบ่งสัดส่วนการลงทุนแบบเดิมๆ อาจจะไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่ดีตลอดไป

หากใครอยากอ่านเนื้อหาด้านผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ และประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับสงคมผู้สูงอายุอื่นๆ ‘Business+’ จะมานำเสนอในคอนเทนต์ไปกับแคมเปญพิเศษ “The Coming of a Hyper-aged Society” เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ซึ่งสามารถรอติดตามอ่านกันได้ที่แฟนเพจ และเว็บไซต์ของ Business+ https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1

ที่มา : ประกันสังคม , SET

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #การลงทุน #การลงทุนกองทุนรวม #ประกันสังคม