ASEAN ในยุคที่ต้อง Aggressive

เกือบ 55 ปี จากจุดเริ่มต้นASEAN ของผู้นำ 5 ชาติ ก่อนรวมเป็น 10 ชาติเมื่อไม่นาน หลังเห็นถึงโอกาสของการรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถแข่งขันทัดเทียมแหล่งการค้าอื่น ๆ ในโลก

 

นี่คือช่วงเวลาสำคัญของประตูการค้าอีกแห่งของโลก โดยคำถามสำคัญของประเทศสมาชิกของอาเซียน คือ อาเซียนควรจะร่วมมือกับภูมิภาคอื่นอย่างไร เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในสนามการค้าโลก และเพิ่ม Competitiveness ให้กับอาเซียนเอง

 

กลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีกำลังซื้อ เป็นได้ทั้งแรงงานและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน ยังคงเป็นแรงจูงใจที่ดีต่อการประชาสัมพันธ์ให้อาเซียนเป็นเกตเวย์ของการลงทุนขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก

 

จีดีพีของอาเซียนที่มีมากกว่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์กันว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จีดีพีจะเติบโตสูงถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะกำลังซื้อของคนหนุ่มสาวมากกว่า 600 ล้านคน และเป็นฐานการผลิตที่เชื่อมต่อถึงจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก

 

“ตลาดกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก คำถามที่ตามก็คือ เราจะเพิ่ม Competitiveness ให้กับอาเซียนเองได้อย่างไร” คำกล่าวของ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

 

ในงานสัมมนา AEC 2025 : Shaping the Future of the ASEAN Economic Community ชาติศิริขึ้นกล่าวปาฐกถา พร้อมระบุว่า อาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นประเด็นที่มีนัยอย่างยิ่ง ทั้งสำหรับภาครัฐในการกำหนดอนาคตและทิศทางการพัฒนาของประเทศ และสำหรับภาคธุรกิจต่อการวางกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจในทศวรรษหน้า

 

“ช่วงนี้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรปและสหรัฐยังคงฟื้นตัวได้ช้า ทำให้ศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกย้ายมาสู่เอเชียที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง โดยในยุคนี้ที่หลายคนเรียกกันว่า Asia Rising ขณะที่อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้บทบาทของอาเซียนทวีความสำคัญมากขึ้น ช่วยยกระดับให้เราก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในสนามการค้าที่ทรงพลังมากที่สุดในโลก”

 

สิ่งที่นักลงทุนสนใจที่สุดก็คือ อาเซียนในปัจจุบันประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศ 2 กลุ่มที่เสริมกันอย่างดียิ่ง คือ กลุ่มอาเซียนเดิม อันได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และไทย ที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจดีถึงระดับหนึ่ง มีกำลังซื้อ มีสาธารณูปโภคและเทคโนโลยีการผลิตที่ดี ขณะที่ กลุ่มอาเซียนใหม่ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV กำลังเป็นที่จับตามองของทุกคน มีอัตราการเติบโตอยู่ระหว่าง 6.5-8.5% ในช่วงที่ผ่านมา เพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีแรงงานในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปีเป็นจำนวนมาก

 

ทั้งหมดนี้ ทำให้ศักยภาพของอาเซียนมีความโดดเด่นกว่าที่ผ่านมา นำมาซึ่งโอกาสที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับทุกคนที่กำลังศึกษาหาลู่ทางในการทำธุรกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาค อย่างน้อยใน 3 ด้าน

 

ด้านที่ 1 คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ทั้งด้านการคมนาคม พลังงาน น้ำ และเครือข่ายโทรคมนาคม ดังที่ท่านได้เห็นในวิดีทัศน์เปิดการสัมมนาและที่บูธหน้างานซึ่งแยกออกเป็นโครงการสำคัญ ๆ ของทั้ง 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งทางบริษัท McKinsey คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 15 ปีข้างหน้า

 

ด้านที่ 2 คือ การสร้าง Supply Chain ในระดับภูมิภาค โดยอาศัยทรัพยากรและแรงงานจากประเทศในกลุ่ม CLMV มาประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตและการขนส่งจากกลุ่มประเทศอาเซียนเดิม ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาเสริมกันเพื่อสร้างฐานการผลิตในภูมิภาคที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ทำให้เกิดบริษัทข้ามชาติในระดับอาเซียน หรือ ASEAN Multinational ASEAN Brand และสินค้า Made in AEC มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ด้านที่ 3 ได้แก่ การคว้าโอกาสในการทำธุรกิจจากการขยายตัวของสังคมเมือง หรือ Urbanization ที่ทำให้มีกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 ล้านครัวเรือนทั่วอาเซียนในปัจจุบัน และจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายใน 15 ปี ทำให้พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการเปลี่ยนไปตามรายได้ที่สูงขึ้น ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การใช้สมาร์ตโฟนในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการใช้ช่องทาง E-Commerce ในการสั่งซื้อสินค้า

 

ส่วนในระดับนโยบายการพัฒนาประเทศ คำถามสำคัญที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากคือ ประเทศสมาชิกของอาเซียนจะร่วมมือกันอย่างไร เพื่อให้ AEC พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

“ถ้าทุกคนยังจำกันได้ ในช่วงเริ่มก่อตั้ง AEC มีการกำหนดวิสัยทัศน์ AEC 2015 ซึ่งมีจุดประสงค์ให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก นับเป็นก้าวแรกของการเพิ่มอำนาจในการแข่งขันทางการค้า และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก”

 

ล่าสุด เมื่อเรารวมกันเป็น AEC สำเร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมา อาเซียนได้กำหนดวิสัยทัศน์สำหรับ 10 ปีข้างหน้า หรือ AEC Blueprint 2025 โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจของอาเซียนมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความสามารถในการแข่งขันสูงโดยอาศัยนวัตกรรม

มีการเชื่อมโยงอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ สามารถพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในอนาคต รวมถึงมีการพัฒนาที่กระจายสู่ทุกภาคส่วน เช่น ผู้ประกอบการ SME กับวิสาหกิจขนาดย่อย และท้ายที่สุด อาเซียนจะมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก

ทั้งนี้ การที่อาเซียนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ รัฐบาลของประเทศสมาชิกกำลังพิจารณาประเด็นเชิงนโยบายใน 3 เรื่อง 3 ระดับ คือ ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระหว่างภูมิภาค

 

เรื่องที่ 1 ในระดับประเทศ คำถามสำคัญคือ แต่ละประเทศควรวางบทบาท หรือ Position ตัวเองอย่างไร จะผลักดันตนเองไปในทิศทางไหน เพื่อจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเป็นส่วนหนึ่งของ AEC เช่น ทำอย่างไรให้ตนเองเป็น Gateway to AEC รวมถึงเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนั้น จะทำอย่างไรให้มี ASEAN Multinationals หรือ ASEAN Brand มากขึ้น และมีวิธีไหนที่บริษัทซึ่งจะก้าวออกไปสู่ภูมิภาคจะไม่จำกัดอยู่แค่บริษัทใหญ่ แต่ให้ SME ได้รับประโยชน์จาก AEC ด้วย

 

เรื่องที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นในระดับภูมิภาค คำถามคือ ประเทศสมาชิกอาเซียนควรจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมสูงสุด เช่น อาเซียนควรขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน เพื่อเป็นตลาดและฐานการผลิตที่มีเอกภาพมากขึ้นเหมือนในภูมิภาคอื่น เช่น NAFTA และสหภาพยุโรป

“ประเด็นนี้เรายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก เพราะแม้อาเซียนจะมีความคืบหน้าในการลดกำแพงด้านภาษี (Tariff Barriers) แต่ก็ยังมีอีกหลายด้านที่ต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นด้านกำแพงทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ด้านความร่วมมือด้านศุลกากร ความร่วมมือเรื่องการท่องเที่ยว การให้ ASEAN Visa การเคลื่อนย้ายกำลังแรงงานและเงินทุนอย่างเสรี ตลอดจนความร่วมมือเรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น”

 

เรื่องที่ 3 เป็นประเด็นระหว่างภูมิภาค คำถามสำคัญคือ อาเซียนควรจะร่วมมือกับภูมิภาคอื่นอย่างไรเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในสนามการค้าโลก และเพิ่ม Competitiveness ให้กับอาเซียนเองได้สูงสุดอย่างไร

 

“ท่าทีของอาเซียนต่อข้อตกลงที่สำคัญ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก หรือ TPP และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน หรือ RCEP ตลอดจนพันธมิตรใหม่ของอาเซียน โดยช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทำให้เกิดสินค้าและบริการหลายอย่าง หากย้อนกลับไปเพียง 10 ปีก่อน ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้ไม่น่าเป็นไปได้ เช่นเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงและโอกาสต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาค จะทำให้อาเซียนก้าวไปได้ไกลกว่าที่หลายคนเคยคาด อย่างไรก็ดี ความสำเร็จในอีก 10 ปีข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของพวกเราทุกคน ณ วันนี้ ที่จะช่วยผลักดันหลาย ๆ อย่างใน AEC ให้เกิดขึ้นได้ ผมเชื่ออย่างนั้น”