เคล็ดลับพา TikTok สู่อันดับ 1 ขวัญใจคนทั่วโลก : Product Innovation Awards 2020 : รางวัลสินค้าไลฟ์สไตล์ ประเภทบริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน

TikTok ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ จนทำให้แอปฯ​ นี้ มียอดดาวน์โหลด 2,000 ล้านครั้ง ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ข้อมูลจาก Sensor Tower)


ยังมาแรงต่อเนื่องสำหรับ TikTok แพลตฟอร์ม Social Media ที่กุมหัวใจของคนทั่วโลกและคนไทย และอย่างที่ทราบว่า ความง่ายต่อการใช้งาน อีกทั้งลูกเล่นและเอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน ส่งผลให้ TikTok ได้รับการโหวตสูงสุดจากการจัดอันดับรางวัล Product Innovation Awards 2020 สินค้าไลฟ์สไตล์ประเภทบริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน

คุณปกรณ์ วัฒนเฉลิมวุฒิกร หัวหน้าฝ่ายการตลาด TikTok ประจำประเทศไทย เล่าให้เราฟังว่า TikTok คือแพลตฟอร์มสร้างสรรค์วิดีโอสั้น เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2559 ภายใต้วิสัยทัศน์ Inspire Creativity and Bring Joy ที่มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นพื้นที่ในการแสดงความครีเอท และมอบความสนุกให้กับทุกคน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้สร้างสรรค์แพลตฟอร์มขึ้นโดยมีหัวใจของความสำเร็จคือ

  1. การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มด้วยเทคโนโลยีการสร้างสรรค์วิดีโอ ให้ผู้ใช้งานสามารถเพลินเพลินกับการสร้างสรรค์วิดีโอบนแพลตฟอร์มได้อย่างสะดวกและง่ายดาย
  2. การใช้กลยุทธ์ด้าน Influencer ที่เข้ามามีบทบาทและสร้างวัฒนธรรมใหม่บนแพลตฟอร์ม
  3. พลังของ Gen Y และ Z ที่เป็นกลุ่มผู้ใช้หลักของ TikTok ซึ่งคนกลุ่มนี้เต็มเปี่ยมด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์
  4. Machine Learning ที่เข้ามามีบทบาทกับการเลือกสรรคอนเทนท์ให้โดนใจผู้คน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่ให้ได้แจ้งเกิดบน TikTok

“TikTok เป็นแหล่งรวมคอนเทนต์ที่หลากหลาย พร้อมทั้งช่วยให้ครีเอเตอร์และแฟน ๆ ได้เชื่อมต่อกันได้โดยตรง ซึ่งสถานะในภาพรวมแล้ว เราอยู่ในแพลตฟอร์ม Social Media และไม่ได้มองใครเป็นคู่แข่งเลย เพราะแต่ละแพลตฟอร์มมีความโดดเด่นต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าจะเลือกใช้แพลตฟอร์มรูปแบบใด ตามความชอบและความเหมาะสม แต่เราสามารถสรุปสิ่งที่ทำให้ TikTok ต่างจากแพลตฟอร์มได้ดังนี้

  1. Freshness : TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มาแรงและกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก
  2. Short Video Trend : TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์กระแสของคอนเทนต์รูปแบบ Short Form Video
  3. Video Technology : บน TikTok ผู้ใช้งานสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ Short Form Video ได้อย่างง่ายดาย ตั้งแต่การถ่ายวิดีโอ, การตัดต่อ, การใส่ Effect ลูกเล่น, การใส่เพลงหรือเสียงประกอบที่ถูกลิขสิทธิ์, การแชร์คอนเทนต์ในแพลตฟอร์ม TikTok และการเชื่อมไปสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
  4. Challenge Marketing : TikTok เป็นแพลตฟอร์มสำหรับสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมกับ Challenge ดังมากมาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดหรือกิจกรรมทางออนไลน์ที่กำลังมาแรงมากในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นบน TikTok
  5. Machine Learning : TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่โดดเด่นในเรื่องการใช้ Machine Learning มาจับและวิเคราะห์คอนเทนต์ เพื่อให้ผู้ใช้ได้ชมคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความสนใจ (Interest) ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งความโดดเด่นนี้นอกจากจะทำให้ผู้ชมคอนเทนต์รู้สึกเพลิดเพลินในการใช้เวลาใน TikTok แล้ว สำหรับผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ หรือ Creator เอง TikTok ถือเป็นแพลตฟอร์มที่จะเปิดโอกาสให้คอนเทนต์ของเขาเข้าถึงกลุ่มผู้ที่สนใจได้อย่างไม่มีข้อจำกัดอยู่แค่เพียงจำนวนผู้ติดตามเช่นในแพลตฟอร์มอื่น ๆ”

สำหรับทิศทางในอนาคต คุณปกรณ์ บอกว่า แนวทางขับเคลื่อนองค์กรอย่าง TikTok ซึ่งเป็น Tech Company ย่อมจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการทำงานในทุกด้าน ทั้งในส่วนของแพลตฟอร์มทั้งหมด กระทั่งการบริการจัดการทำงานภายใน โดยบริษัทแม่ คือ Bytedance เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี จึงมีการออกแบบแพลตฟอร์มสำหรับการทำงานร่วมกันของทีมงาน TikTok ทั่วโลก เพื่อให้การขับเคลื่อนองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ไลฟสไตล์การทำงานยุคใหม่

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มที่ชาว TikTok ใช้ในการทำงานและสื่อสารกันในทีมทั้งหมด คือ Lark เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น โดย Bytedance โดยข้อเด่นของ Lark คือมีครบหมดทั้งการจัดการตารางงานของทีม, การจัดการเอกสารและไดรฟ์ต่าง ๆ, การจัดการ Conference Call, Messaging, หรือแม้กระทั่งการารอนุมัติงาน เบิกจ่าย ขอลางาน และบันทึกการเข้างานให้เป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งในปัจจุบันได้เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้โปรแกรม Lark ได้

ส่วนแผนงานในอนาคต ทีมงาน TikTok ประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประสบการณ์ให้แก่ผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับกลยุทธ์ต่อจากนี้ของเราก็จะเน้นหนักใน 3 ด้าน ประกอบด้วย

  1. Content Diversification การสร้างความหลากหลายของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะคอนเทนต์ตลกหรือบันเทิงเท่านั้น โดยล่าสุดเราได้เปิดตัวแคมเปญใหญ่คือ #TikTokUni ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีความรู้ ทักษะเฉพาะทาง หรือแม้กระทั่งสถาบันการศึกษามาสร้างสรรค์คอนเทนต์แนวการให้ความรู้บน TikTok
  2. Monetization คือการส่งเสริมให้เกิดการใช้แพลตฟอร์มเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการตลาดดิจิทัลรูปแบบใหม่ โดยมีผลิตภัณฑ์การตลาดของเราคือ TikTok for Business ที่จะสร้างมุมมองใหม่ ๆ ของการทำการตลาดบน TikTok ผ่านกลยุทธ์ Storytelling ที่จะตอบโจทย์นักการตลาดได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  3. Safe Platform การให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้แพลตฟอร์ม TikTok เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยกับผู้ใช้งานและแบรนด์ต่าง ๆ ผ่านฟีเจอร์ Digital Wellbeing ที่มีอยู่ในแพลตฟอร์ม อาทิ การควบคุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม, การจำกัดอายุผู้ใช้งาน หรือ Family Safety Mode ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ปกครองได้ควบคุมการใช้งานของบุตรหลานได้