#DIGITAL TAX #SUIT YOUR LIFE กรมสรรพากรยุคดิจิทัล ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม

ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนของโลกในปัจจุบัน รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ในบทบาทของหน่วยงานของรัฐ จึงมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือประชาชนและผู้เสียภาษีให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ แต่ด้วยข้อจำกัดของราชการทำให้หลายอย่างไม่อาจดำเนินไปได้ด้วยความรวดเร็ว หากไม่ได้มีการเตรียมพร้อมก่อนหน้านี้

กรมสรรพากรได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อขับเคลื่อนหน่วยงานสู่องค์กรดิจิทัลมากว่า 2 ปี ภายใต้การขับเคลื่อนของผู้นำองค์กรอย่าง ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ทำให้วันนี้สามารถเปลี่ยนผ่านและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เห็นผลชัดเจน และไม่หยุดที่จะปรับตัวให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต


ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโคโรน่าไวรัส หรือ Covid-19 ระบาด ทางกรมสรรพากรโดย ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร คนปัจจุบัน ได้มองเห็นถึงปัญหา Covid-19 ว่าการให้เงินอยู่ในมือประชาชนและผู้ประกอบการยาวนานขึ้น จะทำให้พวกเขามีสายป่านยาวนานขึ้นในการดำรงชีวิต

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า “ในช่วง Covid-19 ระบาดนั้น คือช่วงเวลาที่ดีที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จึงเร่งผลักดันให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการหันมายื่นภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น พร้อมกันนั้น กรมสรรพากรยังออกนโยบาย 4 เรื่องใหญ่ในการช่วยประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนมากขึ้น

เลื่อน กรมสรรพากรเลื่อนการชำระภาษี ซึ่งปกติบุคคลธรรมดาจะต้องนำส่งภาษีในเดือนมีนาคม ให้เลื่อนไปเป็นเดือนมิถุนายน แต่พอทางกรมสรรพากรเห็นสัญญาณว่าวิกฤต Covid-19 จะลากยาวขึ้น ก็ได้มีการขยายระยะเวลาต่อไปเป็นเดือนสิงหาคม ในฝั่งผู้ประกอบการและธุรกิจส่วนใหญ่ที่ต้องยื่นภาษีในเดือนพฤษภาคม ก็เลื่อนไปเป็นเดือนสิงหาคมแทน ในฝั่งผู้ประกอบการและธุรกิจส่วนใหญ่ที่ต้องยื่นภาษีในเดือนพฤษภาคม ก็เลื่อนไปเป็นเดือนสิงหาคมแทน อันนี้สำหรับบริษัทนอกตลาด ด้านบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้นปิดบัญชีไปแล้ว เพราะมีการเตรียมการนำส่งภาษีแล้ว ในอีกมุม ทางกรมสรรพากรก็ต้องรักษาสมดุลและต้องรักษาสถานะทางการคลัง ไม่ใช่เลื่อนจนเป็นปัญหา ไม่เช่นนั้นประเทศอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการคลังได้

นอกจากนี้ ทางกรมสรรพากรเลือกใช้วิธีการขยายวิธีการยื่นแบบฯ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้เสียภาษีลดความเสี่ยงจาก Covid-19 แล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการใช้กระดาษให้ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในระยะยาว และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

ลด กรมสรรพากรได้ผลักดันมาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตราร้อยละ 3 ให้เหลือในอัตราร้อยละ 1.5 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เพื่อช่วยสนับสนุนการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e–Payment) กรมสรรพากรได้ผลักดันนโยบายลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่มีอัตราร้อยละ 3 ให้เหลือในอัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 ที่จ่ายผ่านระบบ e–Withholding Tax

เร่ง กรมสรรพากรเร่งการคืนเงินที่ค้างคืนอยู่ที่กรมสรรพากรให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ตอนนี้กรมสรรพากรเร่งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้วกว่าร้อยละ 95 จากผู้ขอคืนทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน คิดเป็นเงิน 33,000 ล้านบาท และคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้วกว่า 30,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 40% จากปีก่อน

สร้างแรงจูงใจ กรมสรรพากรผลักดันมาตรการภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ จูงใจให้ผู้ประกอบการคงการจ้างงานในช่วงสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยสามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2563 จูงใจให้เจ้าหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากผลกระทบของ Covid-19 โดยการยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ และจูงใจให้มีการนำเข้า ยา เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา Covid-19 มาเพื่อบริจาคให้แก่สถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐ ฯลฯ รวมทั้งจูงใจให้ประชาชนดูแลสุขภาพ โดยการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท

ในสภาวการณ์เช่นนี้ก่อให้เกิดวิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New Normal ทั้งชีวิตประจำวันและการประกอบธุรกิจ ทางกรมสรรพากรได้ใช้โอกาสที่จะออกมาตรการเลื่อน ลด เร่ง และแรงจูงใจทางภาษีมาใช้แก้ปัญหาระยะสั้นแล้ว สำหรับในระยะยาวก็จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำ Digital มาใช้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการทางภาษีด้วย

เป้าหมายกลยุทธ์และการขับเคลื่อน

กรมสรรพากรมีเป้าหมายหลัก 3 ด้าน คือ ตรงเป้า ตรงกลุ่ม ตรงใจ

  1. จัดเก็บภาษีตรงเป้า : กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 80% ของรายได้ของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายการจัดเก็บภาษีให้ตรงกับเป้าประมาณการ เพื่อให้คงเสถียรภาพทางการคลังของประเทศไว้ได้
  2. นโยบายตรงกลุ่ม : กรมสรรพากรมีลูกค้าเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ การออกนโยบายต่าง ๆ จึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ ทั่วถึง และตอบสนองความต้องการของผู้เสียภาษีแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน
  3. บริการตรงใจ : กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่ต้องพบและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เสียภาษีในชีวิตประจำวัน การให้บริการจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ กรมเน้นการบริการตรงใจด้วยบริการที่เป็น e-Service เพิ่มมากยิ่งขึ้น

เพื่อให้สามารถดำเนินการตามเป้าหมายหลัก 3 ด้าน ดร.เอกนิติ ได้กำหนดกลยุทธ์ D2RIVE เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร

1.D – Digital Transformation: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงและปรับใช้กับกระบวนงาน โดยยึดประชาชนและผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric) และนำหลักประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience Design) มาใช้เพื่อออกแบบกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานทั้งระดับบุคคลธรรมดา นิติบุคคล รวมทั้งผู้ให้บริการ (Service Providers) ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเป็น TAX Journey ได้แก่ การลงทะเบียน – ให้ผู้เสียภาษีรู้สึกเหมือนภาครัฐเป็นหนึ่งเดียว เช่น สามารถมาลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผ่านทางกรมพัฒนาธุรกิจได้,

การยื่นแบบ – มีการเปิดระบบ e-Filing และการกรอกแบบการลดหย่อนภาษีเบื้องต้นให้กับผู้เสียภาษี (ปัจจุบันเริ่มต้นทดลองกับข้าราชการกรมสรรพากรก่อน) รวมถึงยังเปิด Open API เพื่อให้ Service Provider สามารถช่วยให้บริการผู้เสียภาษี ลดกระบวนการที่ต้องมากรอกรายละเอียดในเว็บไซต์ของกรมด้วยเช่นกัน

การจ่ายเงิน – กรมสรรพากรเปิดให้สามารถชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หลายรูปแบบ ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต และ QR Code นอกจากนี้ยังเปิดกว้างให้ธนาคารหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้แข่งขันกันเพื่อเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อลดการใช้เงิดสดหรือเช็คของผู้เสียภาษีได้

การคืนเงิน – กรมสรรพากรผลักดันให้มีการคืนภาษีผ่านทาง PromptPay อย่างเต็มรูปแบบ และ

การทำธุรกรรมอื่น ๆ – กรมสรรพากรคำนึงถึงกระบวนการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้เสียภาษีมีการดำเนินธุรกิจ เช่น การออกใบกำกับภาษี การหักภาษี ณ ที่จ่าย และการทำธุรกรรมที่เป็นตราสารอิเล็คทรอนิกส์ ให้เป็นรูปแบบ e-Service ด้วย

2.D – Data Analytics: การจัดการและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในงานที่รับผิดชอบ กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลค่อนข้างมาก และถูกจัดเก็บอยู่ในหลายรูปแบบ จึงมีการนำข้อมูลที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกเข้ามาใช้เพื่อวิเคราะห์ตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์ของกรมสรรพากร เช่น การทำ Policy Simulation การประมาณการทางภาษีจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ การวิเคราะห์หา TAX Gap และการหา Taxpayer Influencer แยกกลุ่มคนดีและไม่ดีเพื่อทำให้คืนภาษีได้เร็วขึ้น

3.R – Revenue Collection: กลยุทธ์ในการจัดเก็บและส่งเสริมการจัดเก็บให้เป็นไปตามเป้าหมาย เน้นนโยบายการติดตามผู้ประกอบการให้มีการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงในทุกพื้นที่ นโยบายการให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีชุดเดียว การเร่งรัดหนี้ และการทำ Compliance strategy เพื่อจัดกลุ่มให้ความรู้ ให้นโยบาย เพื่อการจัดเก็บให้ได้ตามเป้าหมาย

4.I – Innovation: การสร้างและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรในการสร้างนวัตกรรม มีการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร สำหรับภายในมีการประกวด IDEA และ IDO โดยสร้างรูปแบบการประกวดให้มีการ Pitching Idea เพื่อเข้ารับการ Incubation ต่อไป ส่วนสำหรับภายนอกองค์กรนั้น กรมสรรพากรมีการจัด Hackathon ให้บุคคลภายนอกสตาร์ทอัพต่าง ๆ เข้ามาร่วมเสนอนวัตกรรมที่ตอบปัญหาของประชาชน นอกจากนี้กรมก็ได้เปิด TAX Sandbox ให้นวัตกรรมที่น่าสนใจเข้ามาลองทดสอบกับสภาพแวดล้อมจริงด้วย

5.V – Values: ขับเคลื่อนสรรพากรด้วยคุณธรรมอัตลักษณ์ ประกอบด้วย ซื่อสัตย์ (Honesty) รับผิดชอบ (Accountability) และมอบใจบริการ (Service Mind) ซึ่งเรียกรวมกันว่า HAS ดร. เอกนิติ ขยายความว่า กรมสรรพากรต้องการขับเคลื่อนด้วยความดี ซึ่งมีโอกาสได้เรียนรู้จากท่านองคมนตรี นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย และได้เห็นตัวอย่างจากที่ท่านได้ทำการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนบางมูลนาก ภูมิวิทยาคม ที่จังหวัดพิจิตร ที่สามารถแปลงความดีจากนามธรรมเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนมาก จึงเป็นที่มาของ โครงการสรรพากรคุณธรรมของกรมสรรพากร

6.E – Efficiency: การเพิ่มประสิทธิภาพคน (Smart People) และเพิ่มประสิทธิภาพงาน (Smart Office) โดยมุ่งเป้าการสร้างคนเก่ง คนดี และมีความสุข และตั้งเป้าให้องค์กรเป็นองค์กรที่มีความฉลาด/ทันสมัย ซึ่งกรมฯได้มีการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงาน มีความทันสมัย นำเทคโนโลยีด้าน Internet of Things (IOT) มาใช้ รวมถึงมีเอกลักษณ์ของแบรนด์กรมสรรพากรที่เป็นมาตรฐาน การออกแบบระบบการทำงานภายในที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้บุคลากรสามารถเข้ามาทำงานในระบบเดียว มี Dashboard มีข้อมูลครบถ้วน มีการแจ้งเตือนการทำงาน และสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องใช้กระดาษ เป็นต้น

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ได้มีการจัดให้มีการทำแผนยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ผู้บริหารของสรรพากรช่วยกันคิดวิเคราะห์นำกลยุทธ์ D2RIVE ดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของกรม 6 ด้าน ได้แก่ TAX Policy&Collection, TAX Compliance, TAX Audit, Customer Service, Smart Office และ Smart People รวมถึงกำหนดค่าเป้าหมายที่สามารถวัดผลความสำเร็จของแผนอย่างชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน

 

ยกระดับกรมสรรพากรสู่เวทีโลก และการรับตำแหน่ง Governing Board คนแรกของเอเชีย

ดร. เอกนิติ เป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง Governing Board ของ Tax Inspectors Without Borders (TIWB ) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือขององค์กร เพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Development Programme: UNDP) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้มีผู้ตรวจสอบภาษีระหว่างประเทศ Tax Inspectors Without Borders

ดร. เอกนิติ กล่าวว่า “กรมสรรพากรมุ่งเน้นการพัฒนากฎหมายและกระบวนการจัดเก็บภาษีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อทำให้ระบบภาษีมีความชัดเจน แน่นอน และสะดวกแก่ผู้เสียภาษี ที่สำคัญจะช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และยกระดับกรมสรรพากรสู่เวทีโลก โลกยุคใหม่ทำให้สรรพากรทั่วโลกต้องปวดหัวว่าจะไปตามเก็บภาษีจากพวกบริษัทข้ามชาตินี้อย่างไร เรื่องนี้ต่างคนต่างทำไม่ได้ ต้องร่วมมือกัน เพราะบริษัทพวกนี้ไปตั้งบริษัทอยู่ในประเทศที่ภาษีถูก แล้วใช้ช่องว่างภาษีนั้นหากิน จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้นำเรื่องนี้คือ OECD

ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกกับอีก 160 ประเทศ การเข้าร่วมก็เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน TIWB นั้นจะทำให้ผู้ตรวจสอบภาษีข้ามชาติเกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน ในยุโรปและลาตินอเมริกามีการทำแล้ว แต่ในเอเชียยังไม่มี และด้วยความที่เรามีความสนใจและเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะ ทาง OECD เลยแต่งตั้งผมเป็นกรรมการบริหาร เพราะเขายังไม่มีกรรมการเป็นชาติเอเชียเลย ซึ่งผมก็จะใช้โอกาสนี้ในฐานะที่ได้เป็นกรรมการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยต่อไป”

ดร.เอกนิติ มองว่าบริการในยุคใหม่ส่วนใหญ่มักไม่ได้ทำภายใต้ขอบเขตในประเทศไทย เรียกว่าบริการข้ามชาติ ปัญหาที่ตามมาคือมันเกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศกับผู้ประกอบการต่างประเทศ เช่น การดาวน์โหลดเพลงจากผู้ประกอบการไทย ถ้ามีรายได้เกิดขึ้นเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อมีคนมาโหลดเพลง ผู้ประกอบการก็ต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่งกรมฯ ต่อไป

แต่พอเป็นผู้ประกอบการต่างประเทศไม่ต้องหักตรงส่วนนี้ ทำให้ไม่ต้องนำส่ง จึงเป็นที่มาของ กฎหมาย e-Service ซึ่งจุดประสงค์ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทย

“กรมสรรพากรจะสร้างระบบที่ทำให้บริษัทต่างประเทศเหล่านี้มาจดทะเบียนได้ง่ายขึ้น ทุกวันนี้ธุรกรรมเหล่านี้มันเติบโตขึ้นมาก อย่างเช่น ค่านายหน้าจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม ค่า GP พวกนี้ก็อยู่ในเรื่องบริการข้ามชาติเหมือนกัน”

จากวิสัยทัศน์ในการนำกรมสรรพากรสู่ Digital RD ตั้งแต่ครั้งเข้ามารับตำแหน่ง ในวันนี้สิ่งที่ได้คือรากฐานและขับเคลื่อนการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรมสรรพากรไม่ได้เป็นเช่นเดิมอีกต่อไป หากแต่จะพร้อมรับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นกรมสรรพากรยุคดิจิทัลในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม และไม่มีวันที่เหมือนเดิมอีกต่อไป