บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือเป็นผู้นำด้านพลังงานฟอสซิลอันดับ 1 ของไทยมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ทั้งการเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่สร้างผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นวงกว้าง รวมถึงสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องภาวะโลกร้อนกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเร่งชูพลังงานสะอาดให้มาทดแทนพลังงานฟอสซิลกันอย่างคึกคัก ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในวันนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่อีกครั้ง
ปตท. บริษัทพลังงานแห่งชาติที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ได้ก้าวสู่การเป็นบริษัทข้ามชาติเป็ นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกำลังเติบโตอย่าง ทรงพลัง ปัจจุบันโครงสร้างรายได้หลักของบริษัทมาจาก 5 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจก๊าซ ธรรมชาติ และธุรกิจสำรวจและผลิต โดยรายได้ที่มาจากธุรกิจการค้า ระหว่างประเทศหรือ PTT Trading นั้น มากถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว
คุณดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้า ระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เล่าว่า แม้ว่าสัดส่วน รายได้ของบริษัทจะมาจาก PTT Trading เป็นหลัก แต่ในปีนี้ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ท้าทายความสามารถของทุกบริษัทบนโลกใบนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านพลังงาน จากการรายงานของสำนักงานพลังงานหลักของโลกทั้ง 3 แห่งอย่าง International Energy Agency (IEA) และ U.S. Energy Information Administration (EIA) รวมทั้ง OPEC เปิดเผยให้เห็นว่า ภายใต้มาตรการ Lockdown ในปี 2020 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเสียหายอย่างหนัก การเดินทางและการขนส่งต่างหยุดชะงัก เป็นผลให้ความต้องการใช้น้ำมันถดถอยไปเกือบ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน
“การทำการค้าระหว่างประเทศท่ามกลางวิกฤตนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ทั้งราคาที่มีความผันผวนรุนแรงและความเสี่ยงด้านคู่ค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคู่ค้ามีโอกาสผิดนัดชำระหนี้จากการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ จึงต้องเน้นย้ำการทำงานให้ปรับสู่โหมดการทำการค้าอย่างระมัดระวัง”
ด้วยเหตุนี้ยิ่งทำให้เทรดเดอร์ต้องติดตามสถานการณ์ตลาดพลังงานทุกฝีก้าว เพื่อจับจังหวะและปรับกลยุทธ์ในการทำการค้าตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปให้ทัน ควบคู่ไปกับการมีวินัยในการบริหารความเสี่ยงด้านราคา เพื่อให้ยังคงความสามารถในการควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในกรอบที่องค์กรรับได้ แม้ความเสี่ยงของคู่ค้าจะถือเป็นความเสี่ยงปกติที่จะต้องพบเจออยู่แล้ว สำหรับธุรกิจ Trading แต่ทางบริษัทก็เพิ่มความระมัดระวังขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ และควบคุมความเสี่ยงเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น การใช้เครื่องมือ Credit Default Swap (CDS) ในการติดตามความเสี่ยงคู่ค้า เรามีการเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยให้ ปตท. ก้าวไปสู่อนาคตให้เร็วที่สุด แม้แนวโน้มพลังงานสะอาดจะมาแรง แต่ไม่ได้แปลความว่าพลังงานหลักอย่างน้ำมันจะหายไปในทันทีทันใด รวมไปถึงติดตามข้อมูลข่าวสารในตลาดจากช่องทางอื่น ๆ เช่น กลุ่มธนาคารอย่างใกล้ชิด
“เราพยายามหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมกับคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูง หรือเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระเงินจาก Open Credit เป็นเรียกหลักประกันทันทีที่ได้รับข้อมูลเชิงลบต่อสถานะความน่าเชื่อถือของบริษัทคู่ค้า การตรวจสอบ Exposure อย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามการชำระหนี้ล่วงหน้าสำหรับคู่ค้าที่มีความเสี่ยงสูง และคู่ค้าที่อยู่ใน Watch List”
คุณดิษทัตเพิ่มเติมว่า แต่โลกพลังงานนั้น ปกติมีความไม่สมดุลระหว่าง Supply และ Demand ในแต่ละภูมิภาคอยู่แล้ว ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้ความไม่สมดุลดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่หากจับตามองตลาดให้ดีและคว้าโอกาสที่จะทำการค้าข้ามภูมิภาคในช่วงที่ตลาดเอื้ออำนวย (Arbitrage Opportunity) จะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในปี 2020 เราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า PTT Trading สามารถเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤต เมื่อเทียบกับเป้าหมาย
เส้นทางสู่ “POWERING LIFE with FUTURE ENERGY and BEYOND”
ขณะนี้ทั่วโลกล้วนตระหนักถึงภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนล้วนออกนโยบายเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้กันทั้งสิ้น และพร้อมกับการผลักดัน Net-Zero Emissions ของแต่ละประเทศ รวมถึงนโยบายระดับบริษัทที่มีการเปลี่ยนแหล่งพลังงานจากฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มกำลังการผลิตรถ EV ของบริษัทยานยนต์ชั้นนำต่าง ๆ ทำให้ ปตท. ในวันนี้ จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับโลกที่กำลังจะเดินไป “วันนี้เหล่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานกลายเป็นทั้งผู้ถูกผลักดันและผู้ขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานสะอาดในเวลาเดียวกัน ทำให้ลดต้นทุนได้มากขึ้น ประสิทธิภาพสูงขึ้น จากที่สมัยก่อนเมื่อเราพูดเรื่อง Go Green อาจจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายๆ คน แต่ตอนนี้การเข้าถึงพลังงานสะอาดกำลังจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย เพียงอาศัยเทคโนโลยีและเปลี่ยนวิถีชีวิต”
คุณดิษทัต ให้มุมมองเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ วิถีชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลกกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไป จากเดิม ซึ่งไม่ใช่แค่มุมมองที่มีต่อเรื่องพลังงาน แต่มันรวมไปถึงทุก ๆ สิ่งรอบตัวที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน
“จากนี้เราจะได้เห็นการทำงานที่อาศัยสมองกลช่วยคิดเพื่อแบ่งเบาภาระของมนุษย์หรือคนทำงานมากขึ้น ระบบขนส่งสินค้าที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกว่าในอดีต นอกจากนี้ ยังจะมีสถานีชาร์จ EV ที่จะกระจายตัวไปทุกหนทุกแห่ง พร้อมระบบการแพทย์ที่ทันสมัยกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก และภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ระบาดแบบนี้ เรายิ่งจะเห็นทุกอย่างเติบโตแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว”
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวันนี้ทำให้ ปตท. ไม่อาจดำเนินธุรกิจแค่น้ำมันและก๊าซได้แล้ว และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของ บริษัทไปสู่ “POWERING LIFE with FUTURE ENERGY and BEYOND” หรือ “ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” นั่นทำให้นับจากนี้ ปตท. จะมุ่งหน้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด และธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไกลกว่าพลังงานมากขึ้น และเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตในอนาคตของผู้บริโภค เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ อย่างยา เครื่องมือแพทย์ อาหารเสริม หรือธุรกิจ ที่เกี่ยวกับ Mobility และ Lifestyle
แผนงานที่ครอบคลุมสู่ความสำเร็จในระยะยาว
ในฐานะหนึ่งในหน่วยธุรกิจของ ปตท. คุณดิษทัต เผยว่า PTT Trading มีการเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยให้ ปตท. ก้าวไปสู่อนาคตตามที่หวังเอาไว้ให้เร็วที่สุด แม้แนวโน้มพลังงานสะอาดจะมาแรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พลังงานหลักอย่างน้ำมันจะหายไปในทันทีทันใด โดยในระยะสั้นยังเชื่อมั่นว่าน้ำมันยังคงเป็นพลังงานหลักอยู่เช่นเดิม เพราะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงต้องใช้เวลาพอสมควร แต่แน่นอนว่าในอนาคต คนจะเริ่มใช้น้ำมันน้อยลงไปต่อเนื่อง ตามความต้องการที่ลดลงจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานทางเลือก ที่จะเข้ามาตอบสนองต่อนโยบายสภาวะโลกร้อนของรัฐบาลทั่วโลก
“ในช่วงแรกน้ำมันจะไม่ได้หายไปทันทีอย่างที่หลายคนกังวล และน้ำมันจะยังคงเป็นพลังงานหลัก แม้อัตราการเติบโตของน้ำมันจะลดลงตามความต้องการใช้ที่น้อยลง และอาจมีสัดส่วนของพลังงานทางเลือกที่เพิ่มขึ้น สำหรับแผนระยะสั้น เราสามารถทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่ม ปตท. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Group Optimization & Value Creation)”
ขณะที่ในแผนระยะกลาง PTT Trading จะมุ่งขยายการค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจาก LNG เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่จะมาปิดต่อการเปลี่ยนแปลงจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน พร้อมพัฒนาเครื่องมือทั้ง Digital Platform และ Data Analytics Tools เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น
ส่วนของแผนระยะยาว PTT Trading จะใช้ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการซื้อ-ขายระหว่างประเทศ การบริหารความเสี่ยงราคา และการจัดหาเรือขนส่ง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ปตท. ในการปรับตัวไปสู่พลังงานสะอาด รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ ตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ต่อไป
2021 ปีแห่งการเชื่อมโยงการค้าทั่วโลก
การสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ รวมถึงการเป็นหัวหอกในการสร้างการเติบโตในธุรกิจการค้าสากล และเป็น Ambassador ที่สร้างชื่อเสียงในเวทีโลกให้กับ ปตท. ถือเป็นภารกิจหลักของ PTT Trading เลยก็ว่าได้ “
เป้าหมายของเราคือการขยายฐานการค้าให้กระจายตัวครอบคลุมไปทั่วโลก รวมไปถึงการจัดตั้งสำนักงานในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการกำหนดราคา หรือที่เรียกว่า Trading Hub ในภูมิภาคนั้น ๆ”
คุณดิษทัต เผยว่า ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ PTT Trading จะมีสำนักงานใน Trading Hub ครบทุกหัวเมืองสำคัญของโลก ได้แก่ สำนักงานในประเทศสิงคโปร์ ที่รับผิดชอบภูมิภาคตะวันออกไกล สำนักงานที่นครเซี่ยงไฮ้ที่ดูแลตลาดจีน สำนักงานในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่ดูแลภูมิภาคยุโรปและแอฟริกา รวมทั้งสำนักงานน้องใหม่ปีนี้ ได้แก่ สำนักงานที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ที่รับผิดชอบการค้าในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงดูแลตลาดซื้อขายอนุพันธ์ล่วงหน้าของอาบูดาบี (ICE Futures Abu Dhabi: IFAD) ในฐานะที่ PTT Trading เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง IFAD และสำนักงานที่เมืองฮิวสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งรับผิดชอบการค้าในภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ รวมถึงเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยให้ PTT Trading สามารถเชื่อมโยงการค้าได้ครอบคลุมทั่วโลกในทุก Time Zone ภายใต้มาตรการ International Maritime Organization (IMO 2020) ที่จำกัด ปริมาณกำมะถันในน้ำมันเดินเรือจาก 3.5% เป็น 0.5% ทำให้ปัจจุบันโรงกลั่นในกลุ่ม ปตท. ได้พยายามลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ซึ่งมีค่ากำมะถันสูง และเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบที่มีค่ากำมะถันต่ำกว่า เช่น น้ำมันดิบจากแอฟริกาและสหรัฐอเมริกา ซึ่งการมีสำนักงานตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าของแต่ละภูมิภาค จะช่วยให้ PTT Trading สามารถวางแผนและบริหารจัดการปริมาณการนำเข้าจากแต่ละภูมิภาคให้มีความเหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามสถานการณ์และความผันผวนของตลาดโลกได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการทำการค้าข้ามภูมิภาคในช่วงที่ตลาดเกิดความไม่สมดุลระหว่าง Demand และ Supply ในแต่ละภูมิภาค (Arbitrage Opportunity) และที่สำคัญจะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้กลุ่ม ปตท. เป็นที่รู้จักในระดับสากล และ ก้าวไปเป็น Global Trading Company ได้อย่างสง่างาม
คุณดิษทัต ปิดท้ายว่า ถ้าเมื่อไรที่สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เริ่มดีขึ้น การฉีดวัคซีนเริ่มกระจายตัวไปทั่วถึงทุกมุมโลก เชื่อว่าสถานการณ์ เศรษฐกิจโลกก็จะเริ่มฟื้นตัวกลับมา ซึ่งนั่นจะเป็นแรงหนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น ตลาดพลังงานจะเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้น หรือที่เทรดเดอร์เรียกว่า “Bullish Market” ซึ่งสภาวะตลาดเช่นนี้เอื้อให้การบริหารจัดการการค้าของ PTT Trading ง่ายขึ้นไปด้วย เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งกับการก้าวเดินของบริษัทพลังงานของไทย ที่มี วิสัยทัศน์ก้าวไกล ไม่ย่ำอยู่กับพลังงานฟอสซิล แต่เปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้กับพลังงานในรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงมองหาธุรกิจที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคต่อไปในอนาคต