Protein

จริงหรือ? 4 ทศวรรษข้างหน้า ‘โปรตีนทางเลือก’ จะมาแทนที่เนื้อสัตว์

ในช่วงวิกฤตโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้หลายประเทศมีความตระหนักรู้ถึงการรักษาระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลาสติก แม้แต่สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิติยากที่จะเลี่ยงอย่างอุตสาหกรรมปศุสัตว์หรือวัตถุดิบที่มาจากสัตว์ ในภูมิภาคอื่น ๆ ก็เริ่มเคลื่อนไหวให้ไปในทิศทางเดียวกัน ก็คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้หันมาสนใจ โปรตีนทางเลือก (Plant Based) มากขึ้นเพื่อทดแทนโปรตีนหลักอย่างเนื้อสัตว์

ทั้งนี้หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่าทำไมอุตสาหกรรมปศุสัตว์ถึงทำให้โลกร้อน ‘Business+’ จึงได้การมีสำรวจและหาคำตอบมาให้ ดังนี้

ที่ดิน การเลี้ยงสัตว์ต้องใช้พื้นที่โล่ง และกว้างขวาง ก็หมายถึงพื้นที่ของป่าก็จะมีน้อยลง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นเพราะป่าเป็นแหล่งดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ได้มีเท่าเดิมแล้ว

ขนส่ง สาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและดีเซล เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ รถบรรทุก เครื่องบิน และรถไฟ เป็นต้น

น้ำ เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์ต้องมีการใช้น้ำตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบได้ อีกทั้งต้องใช้ในขั้นตอนการชำระล้างในโรงฆ่าสัตว์ด้วย เรียกได้ว่าไม่สามารถขาดน้ำได้เลยในทุกกระบวนการ

ซึ่งทั้งหมดนี้จึงทำให้เทรนด์อาหารโปรตีนทางเลือกเกิดความน่าสนใจและเป็นกระแสร้อนแรงในวงการอาหาร โดยเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่มีแบบแผนจริงจังในการลดโลกร้อนอย่างมาก อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยเอเชีย รีเสิร์ช แอนด์ เอนเกจเมนต์ (Asia Research and Engagement) หรือ ARE ของสิงคโปร์ ที่ระบุว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม อาจเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในเอเชีย แต่หากต้องการลดโลกร้อน ทั้งภูมิภาคจะต้องลดการผลิตโปรตีนจากสัตว์ลง และเปลี่ยนไปบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืช หรือโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ แทน ภายในปี 2573

ทั้งนี้ทั่วภูมิภาคเอเชียและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องมีสัดส่วนการผลิตโปรตีนทางเลือกมากกว่าครึ่งหนึ่งของสัดส่วนการผลิตโปรตีนทั้งหมด ภายในปี 2603 เพื่อลดโลกร้อน

แต่การรณรงค์ลดโลกร้อน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เนื่องจากเอเชียถือเป็นแหล่งอุปทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก รวมทั้งปศุสัตว์บก และอาหารทะเล นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียยังเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตของประชากรรวดเร็วที่สุด ซึ่งยิ่งเพิ่มการบริโภคเนื้อสัตว์

โดยในปี 2563 มาเลเซียและเวียดนามบริโภคโปรตีนทั้งจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลอยู่ที่ระหว่าง 8.9-12.3 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งสูงกว่าที่คณะกรรมการอีเอที-แลนเซท (EAT-Lancet Commission) แนะนำที่ระดับ 5.1 กิโลกรัมต่อคน

จะเห็นได้ว่าการปรับเปลี่ยนแต่ละอย่าง หรือแม้แต่พฤติกรรมการบริโภคนั้นไม่สามารถหักดิบได้ในเวลาอันสั้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ต้องมีการใช้เวลานานเป็นสิบ ๆ ปี เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ ความเข้าใจถึงแก่นแท้ของการกระทำ

สำหรับก่อนหน้านี้ทาง ‘Business+’ ได้มีการนำเสนอบทความที่เกี่ยวกับโปรตีนทางเลือก ‘Plant Based เทรนด์อาหารอนาคตจากไทย สู่การขยายตลาดในญี่ปุ่น-อังกฤษ’ ซึ่งจากการเจาะลึกข้อมูลนั้นทำให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดโปรตีนทางเลือก โดยมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชของไทยปี 2566 คาดจะมีมูลค่าถึง 1,560 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนที่ระดับ 9.7% เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพ รวมถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของสัตว์

ขณะเดียวกันก็มีบทความ ‘เทรนด์ธุรกิจใหม่แพคเกจจิ้งกินได้ กับมูลค่าตลาดมากกว่าพันล้านเหรียญ’ และ ‘ฟิล์มกินได้ จากพืชเศรษฐกิจ ช่องทางเพิ่มรายได้เกษตรกรไทย’ เป็นการใช้นวัตกรรมดัดแปลงบรรจุภัณฑ์อาหารจนเกิดเป็นธุรกิจใหม่และสามารถช่วยลดโลกร้อนได้แม้จะมีการบริโภคเช่นเดิม ซึ่งจากผลสำรวจการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์กินได้นั้น คาดมูลค่าจะพุ่งสูงถึง 4 เท่าตัวในอีก 10 ปีข้างหน้า จากคาดแตะ 1.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เป็น 4.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2576 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ระหว่างปี 2566-2576 อยู่ที่ 14.31% สำหรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นคาดเป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีบทความ ‘มันฝรั่งคือไข่วีแกนในอนาคต ?’ ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยี Molecular Farming มาทดลองพัฒนามันฝรั่งเพื่อผลิตโปรตีนคุณภาพสูงแม้จะไม่ใช่โปรตีนจากสัตว์ แต่โปรตีนที่ได้จะให้คุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าโปรตีนที่มาจากสัตว์ เริ่มต้นด้วยการพัฒนามันฝรั่งให้สามารถผลิต Ovalbumin ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับไข่ขาวในไข่ไก่ เพื่อตอบสนองโปรตีนของประชากรโลกที่กำลังขยายตัว โดยเป็นการเจาะตลาดโปรตีนจากไข่ (Egg Protein Market) ที่มีมูลค่า 26,600 ล้านเหรียญ ถือเป็นอาหารทางเลือกที่คาดจะสำคัญในอนาคต

.

ที่มา : IQ, IRDP, Greenpeace

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #โปรตีนทางเลือก #PlantBased #ลดโลกร้อน #เอเชีย