Edible Packaging

เทรนด์ธุรกิจใหม่ ‘แพคเกจจิ้งกินได้’ กับมูลค่าตลาดมากกว่าพันล้านเหรียญ

ปัจจุบันผู้คนมีความตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น จึงทำให้เกิด ‘ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก’ (Green Product) เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดขยะ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือคืนสภาพได้จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย อีกทั้งยังย่อยสลายง่ายไม่ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาของการเกิดโลกร้อน

โดยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกนั้น ทำมาจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่าง อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เยื่ออีโค่ไฟเบอร์ เยื่อจากต้นไม้ หรือ วัสดุสังเคราะห์ทางชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้เราจะพบในรูปแบบกล่องอาหารบรรจุภัณฑ์ จาน ชาม แก้วน้ำ และหลอด รวมถึงถุงจากมันสำปะหลังที่ใช้แทนถุงพลาสติกได้เป็นอย่างดี

ล่าสุดมีการคิดค้นนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้จนเกิดเป็น ‘บรรจุภัณฑ์กินได้’ (Edible Packaging) ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ทำมาจากวัสดุที่บริโภคได้อย่างโพลิเมอร์ธรรมชาติซึ่งได้จากพอลิแซ็กคาไรด์ โปรตีน (สัตว์หรือผัก) ไขมัน หรือส่วนประกอบเหล่านี้รวมกัน โดยบรรจุภัณฑ์กินได้ประกอบขึ้นจากโปรตีนจากพืช เช่น โปรตีนข้าวโพด (corn zein) กลูเตนข้าวสาลี โปรตีนถั่วเหลือง โปรตีนถั่วลิสง โปรตีนควินัว โปรตีนงา ในทางตรงกันข้าม โปรตีนไข่ขาว โปรตีนไมโอไฟบริลลาร์ คอลลาเจน เจลาติน เคซีนและเวย์โปรตีนจากนมเป็นสารก่อฟิล์มที่มาจากสัตว์

ทั้งนี้หากพูดถึงการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์กินได้นั้น มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์กินได้จะพุ่งสูงถึง 4 เท่าตัวในอีก 10 ปีข้างหน้า จากคาดแตะ 1.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เป็น 4.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2576 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ระหว่างปี 2566-2576 อยู่ที่ 14.31% สำหรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นคาดเป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายได้มากขึ้น

โดยบรรจุภัณฑ์กินได้ที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน มีดังนี้

  1. หลอดดูดน้ำกินได้ ทำมาจากการหมักน้ำมะพร้าว ข้าว/มันสำปะหลัง อ้อย และหญ้า
  2. ขวดน้ำผลไม้ทำจากมันฝรั่ง เมื่อดื่มน้ำผลไม้หมดสามารถนำขวดมาละลายน้ำทิ้งหรือรับประทานได้
  3. ถุงใส่เครื่องดื่ม ผลิตจากเจลจากสาหร่าย
  4. แก้วกาแฟกินได้ ผลิตจากโปรตีนนม (Casein)
  5. ถุงกินได้ ผลิตจากสตาร์ชมันฝรั่ง เมื่อละลายจะเป็นซอสปรุงรสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  6. ฟิล์มแครอต มีเบต้าแคโรทีนสูง ประยุกต์ใช้เป็นฟิล์มห่อผลิตภัณฑ์ เช่น ลูกอม และผลไม้กวน

ขณะที่ในแง่ของคุณสมบัติทางโภชนาการของบรรจุภัณฑ์กินได้ก็ได้รับการปรับปรุงด้วยเช่นกัน โดยการใช้นาโนเทคโนโลยี เช่น นาโนแคปซูลเทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับนาโน (Nano-encapsulation) ที่สามารถกินได้ จะช่วยปกป้องอาหารจากความร้อน ความชื้น และสารปนเปื้อนอื่น ๆ ไม่ให้เข้าไปในอาหาร อันเนื่องมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีเหล่านี้

นอกจากนี้ยังถือเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาด หากความต้องการโซลูชั่นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ทั่วโลกมีมากขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ว่า ฟิล์มที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพในบรรจุภัณฑ์อาหารมีโอกาสที่จะเติบโตไปพร้อมกับตลาด หรืออาจจะมากกว่าตลาด เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องใช้ห่อหุ้มอาหาร ถนอมอาหาร และยังสามารถกินได้

อย่างไรก็ตามในแง่ของต้นทุนนั้น ทางผู้ประกอบการอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับต้นทุน เนื่องจากต้องมีการคิดค้นสารสกัดที่กินได้ และปลอดภัย รวมถึงยังต้องคงรักษารสชาติไว้ดังเดิม ซึ่งบรรจุภัณฑ์กินได้ยังไม่ได้เข้าถึงผู้บริโภคในจำนวนมากเหมือนอย่างบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป อาจจะเป็นด้วยเรื่องของราคาที่สูงกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไป และการสร้างความเข้าใจในตัวบรรจุภัณฑ์ยังไม่มากพอ แต่ในอนาคตหากได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่าย อาทิ ภาครัฐ ต้นทุนในการผลิตอาจจะลดลงและผู้บริโภคอาจมีความเข้าใจในตัวบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นพฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไปตามกระแสสังคม

.

ที่มา : futuremarketinsights, packingdd, ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #บรรจุภัณฑ์กินได้ #แพคเกจจิ้งกินได้ #รักษ์โลก #ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก