แผ่นฟิล์มกินได้

‘ฟิล์มกินได้’ จากพืชเศรษฐกิจ ช่องทางเพิ่มรายได้เกษตรกรไทย

‘ฟิล์มบริโภคได้’ (Edible Film) ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมรักษ์โลกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติก สามารถย่อยสลายได้ มีคุณสมบัติในการเคลือบหรือห่อหุ้มอาหารได้โดยตรง ซึ่งหากพูดถึงการเติบโตของตลาดบรรจุภัณฑ์กินได้นั้น มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์กินได้จะพุ่งสูงถึง 4 เท่าตัวในอีก 10 ปีข้างหน้า จากคาดแตะ 1.10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 เป็น 4.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2576 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ระหว่างปี 2566-2576 อยู่ที่ 14.31% ทั้งนี้สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความ https://www.thebusinessplus.com/edible-packaging/

ปัจจุบันฟิล์มบริโภคได้ยังไม่มีการใช้ที่แพร่หลายเหมือนฟิล์มยืดพลาสติกธรรมดา เนื่องจากการโปรโมทผ่านสื่อออนไลน์ยังน้อย ส่งผลให้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หากเทียบกับฟิล์มยืดพลาสติกที่มีวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และมีการโปรโมทอย่างต่อเนื่อง อาจถือได้ว่าฟิล์มบริโภคได้ที่มีการซื้อขายอยู่ตอนนี้เป็นการซื้อของลูกค้ากลุ่มเฉพาะเท่านั้น

แน่นอนว่าฟิล์มบริโภคได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบการผลิตที่สกัดมาจากสิ่งที่กินได้ อาจจะมาจากพืช หรือสัตว์ที่เราบริโภคในทุกวัน แตกต่างจากฟิล์มยืดพลาสติกที่ทำมาจาก PP, PVC และ LDPE เป็นต้น นอกจากนี้ผลลัพธ์การย่อยสลายก็จะต่างกันมากเหมือนกัน เนื่องจากฟิล์มบริโภคได้สามารถย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วและหากกินเข้าไปก็ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ขณะที่ฟิล์มยืดพลาสติกต้องใช้เวลากว่าหลายร้อยปีถึงจะย่อยสลายได้ อีกทั้งยังสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมด้วย

หากดูวัตถุดิบจากธรรมชาติที่นำมาทำเป็นฟิล์มบริโภคได้ พบว่า เป็นผลผลิตจากการเกษตรที่เราบริโภคอยู่ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ แคร์รอต, แป้งข้าวเจ้าและมันสำปะหลัง, สาหร่าย, สัตว์ทะเล, โปรตีนจากนม, แอปเปิ้ล และกากถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดนี้ได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับการห่อหุ้มผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่าง ๆ รวมทั้งมอบคุณประโยชน์ให้กับร่างกายด้วย ดังนี้

ฟิล์มจากแคร์รอต : มีคุณค่าทางโภชนาการและช่วยต้านการเสื่อมคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) หรือก็คือต้านการเกิดกลิ่นเหม็นหืน การเปลี่ยนแปลงของสี กลิ่น รสอาหาร และสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากฟิล์มแคร์รอต 1 แผ่นมีปริมาณสารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 3,465 ไมโครกรัม จึงมีอายุการใช้งานนานถึง 2 เดือน ทั้งนี้สามารถนำไปห่ออาการประเภทผลไม้กวน ลูกอมได้

ฟิล์มจากแป้งข้าวเจ้าและมันสำปะหลัง : โดยแป้งสองอย่างนี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่ให้พลังงานสูง อย่างเช่น การอิ่มตัวอย่างรวดเร็วของร่างกาย และปราศจากกลูเตนที่ปัจจุบันเริ่มมีคนส่วนมากมีอาการแพ้กลูเตน โดยสามารถนำไปห่อผัก ผลไม้ และรักษาคุณภาพอาการได้เหมือนฟิล์มพลาสติก

ฟิล์มจากสาหร่าย : พืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ มีทั้ง แคลเซียม โปรตีน แมกนีเซียม อีกทั้งยังมีใยอาหารสูง ซึ่งการที่จะผลิตแผ่นฟิล์มจากสาหร่ายได้นั้น มาจากการนำ ‘สารคาราจีแนน’ มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตแผ่นฟิล์ม ซึ่งจากการวิจัยฟิล์มที่มีส่วนผสมของคาราจีแนนสามารถคงความสดของอาหารได้ดี รวมถึงยังรักษาความชื้นให้กับผักและผลไม้ให้คงสภาพเดินนานอีกด้วย

ฟิล์มจากสัตว์ทะเล : มีการสกัดมาจากเปลือกกุ้ง ปู และกานกลางลำตัวของปลาหมึก โดยแยกเอาโปรตีนและเกลือแร่ออก จะได้สารไคติน (Chitin) และนำไปผ่านกระบวนการทางเคมีจนกลายเป็นสารไคโตซาน ซึ่งไคโตซานเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฟิล์มยืดที่สามารถบริโภคได้ โดยไคโตซานมีเส้นใยอาหารสูงที่ดีต่อร่างกาย

ฟิล์มจากนม : มีการนำน้ำนมไปผ่านกระบวนการทางเคมีและสกัดออกมาเป็นโปรตีนสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในนม นั่นก็คือ Casein ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของโปรตีนในร่างกาย อีกทั้งมีแคลเซียม และวิตามิน

ทั้งนี้หากสินค้าอย่างแผ่นฟิล์มบริโภคได้มีการทำการตลาดที่มากกว่าในปัจจุบัน และผู้บริโภคมีการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น อาจถือเป็นโอกาสที่ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรไทย อย่างเช่น เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจากการที่มันสำปะหลังมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการที่มากขึ้น โดยจากข้อมูลของวิจัยกรุงศรี ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามันสำปะหลังมักมีราคาถูกกว่าพืชอาหารที่ให้แป้งประเภทอื่น ในปี 2562 เกษตรกรไทยสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ 10.2% ของผลผลิตทั่วโลก ซึ่งไทยเน้นการส่งออกเป็นหลักและกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสำคัญในตลาดโลก

โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาไทยได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังตามความต้องการในตลาดส่งออก สำหรับแป้งมันสำปะหลังนั้น ถือเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้น สามารถที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง

อย่างไรก็ดีหากเทรนด์ ‘บรรจุภัณฑ์กินได้’ มีการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม ก็จะส่งผลดีไปทุกภาคส่วน ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร การรักษาระบบนิเวศ และการเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้จะเติบโตล้อไปกับคุณภาพชีวิตของทุกคน

.

ที่มา : tonghengplastic, krungsri

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ฟิล์มบริโภคได้ #ฟิล์มกินได้ #EdibleFilm #บรรจุภัณฑ์กินได้