5 อันดับชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดปี 2566 เม็ดเงินลงทุนรวม 1.27 แสนลบ. จ้างงานคนไทยเพิ่ม 30%

ในทุก ๆ ปี มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว หรือเข้ามาเพื่อทำธุรกิจก็ตาม ต่างก็ล้วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยทั้งสิ้น โดยในส่วนของการเข้ามาทำธุรกิจของชาวต่างชาตินั้น ไม่เพียงเป็นส่วนขับเคลื่อนภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจ้างงานคนไทยที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากจำนวนธุรกิจที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังเช่นในปี 2566 ที่แม้จะมีเม็ดเงินลงทุนจากชาวต่างชาติลดลงจากปี 2565 แต่ในส่วนของการจ้างงานคนไทยนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2565

โดย ‘คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม’ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่าในปี 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมทั้งสิ้น 667 ราย เพิ่มขึ้น 84 ราย หรือคิดเป็น 14% จากปี 2565 ที่อนุญาต 583 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 228 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 439 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 127,532 ล้านบาท ลดลง 1,242 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% จากปี 2565 ที่มีเงินลงทุนรวม 128,774 ล้านบาท ขณะที่การจ้างงานคนไทยรวม 6,845 คน เพิ่มขึ้น 1,592 ราย หรือคิดเป็น 30% จากปี 2565 ที่มีการจ้างงานคนไทยรวม 5,253 คน

สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่

1. ญี่ปุ่น จำนวน 137 ราย คิดเป็น 20.5% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 32,148 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการที่เป็นคู่สัญญากับภาคเอกชน (บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย / บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบระบบ ซ่อมแซมและบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซสำหรับโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ)

– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการใช้ก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจ เป็นต้น

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนยานพาหนะ / ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์)

– ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อการค้าส่งในประเทศ

2. สิงคโปร์ จำนวน 102 ราย คิดเป็น 15.3% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 25,405 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต / ประกันวินาศภัย

– ธุรกิจโรงแรม

– ธุรกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์

– ธุรกิจบริการพัฒนาแพลตฟอร์ม

3. สหรัฐอเมริกา จำนวน 101 ราย คิดเป็น 15.1% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในปี 2566 มีเงินลงทุน 4,291 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม

– ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม / ยารักษาโรค / อุปกรณ์กีฬา)

– ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนา ติดตั้ง วางระบบเกี่ยวกับโปรแกรมซอฟต์แวร์ (Software) และแอปพลิเคชัน (Application)

– ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการงานด้านต่างๆ เช่น ด้านการวางแผนทางธุรกิจ ด้านการประสานงานทางธุรกิจ ด้านการจัดการองค์กร เป็นต้น

4. จีน จำนวน 59 ราย คิดเป็น 8.9% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 16,059 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ

– ธุรกิจบริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม / ชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก / ชุดแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า)

– ธุรกิจกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อ-ขายสินค้า

5. ฮ่องกง จำนวน 34 ราย คิดเป็น 5.1% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยในปี 2566 มีเงินลงทุน 17,325 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ

– ธุรกิจบริการบำรุงรักษา และซ่อมแซมรถยนต์ไฟฟ้า

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์/ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ / เม็ดพลาสติกรีไซเคิล)

– ธุรกิจบริการสินเชื่อแก่ผู้จัดจำหน่ายสินค้าที่เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย

– ธุรกิจบริการจองบัตรโดยสารสายการบินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ทั้งนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการขุดเจาะและการบำรุงรักษาหลุมปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการบำรุงรักษาและดูแลชิ้นส่วน เครื่องมือ อุปกรณ์ สำหรับงานซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยและการจัดการข้อมูลส่วนตัว เป็นต้น

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ปี 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 134 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 13% มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 38,613 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 44 ราย ลงทุน 7,053 ล้านบาท, จีน 30 ราย ลงทุน 4,128 ล้านบาท, ฮ่องกง 10 ราย ลงทุน 14,573 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 50 ราย ลงทุน 12,859 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ

– ธุรกิจบริการจัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่างๆ ที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า

– ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจ

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์/ ชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก/ ชิ้นส่วนยานพาหนะ)

– ธุรกิจบริการปรับปรุง ซ่อมแซม REFRIGERATION AIR DRYER AIR FILTER

ส่วนธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในเดือนธันวาคม 2566 ได้แก่

– ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยประเภทการจัดการให้มีการประกันภัยโดยตรง

– ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แผ่นยิปซั่ม / อุปกรณ์สำหรับสร้างการเคลื่อนที่ด้วยไฟฟ้า / ชิ้นส่วนของรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร)

– ธุรกิจบริการคลาวด์ (Cloud Services) โดยเป็นการให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ (SOFTWARE-AS-A-SERVICE) เพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

– ธุรกิจบริการตรวจสอบคุณภาพสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #5อันดับชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยปี2566 #นักลงทุนชาวต่างชาติ #นักลงทุน #การลงทุน #การจ้างงาน #เศรษฐกิจ #การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ