เงินเฟ้อ

6 กลุ่มสินค้าในไทยที่ราคาปรับขึ้นจากปี 65 มีอะไรบ้าง?

เงินเฟ้อของประเทศไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่าน โดยมีสาเหตุหลักมาจาก ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลง รวมไปถึงนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล และการปรับตัวลดลงของอาหารสดบางประเภท แต่หากเรามองการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าประเภทอื่นโดยเฉพาะสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับธุรกิจอาหารจะเห็นว่ายังมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ และข้าว ที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2565 และในปี 2566 ยังมีแนวโน้มพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง

‘Business+’ ได้ทำการสำรวจกลุ่มสินค้าทุกรายการที่ถูกนำมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยเราพบว่ามี 6 กลุ่มที่ราคาปรับขึ้น ประกอบไปด้วย ไข่และผลิตภัณฑ์นม , ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ,เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล อาหารในบ้าน ,ผลไม้สด และอาหารนอกบ้าน โดยการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าเป็นดังนี้

เงินเฟ้อ

จะเห็นได้ว่ากลุ่มสินค้าที่ราคาพุ่งสูงที่สุด คือ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ที่พุ่งขึ้นไปสูงถึง 6.79% สำหรับราคาไข่ทั่วโลกในปี 2566 ปรับตัวขึ้นสูงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงต้นปี ซึ่ง Rabobank (ธนาคารเพื่อการเกษตรของเนเธอร์แลนด์) ได้เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ราคาไข่ไก่ในท้องตลาดหลายประเทศได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 จนทำให้เกิดเป็น Eggflation หรืออัตราเงินเฟ้อของไข่ไก่

โดยสาเหตุที่ทำให้ไข่สูงขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยนั้น มีสาเหตุหลักๆ คือ การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก และต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบทำอาหารสัตว์ที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก โดยต้นทุนอาหารสัตว์นั้นเป็น 60-70% ของต้นทุนในการเลี้ยงไก่ไข่เลยทีเดียว ดังนั้น หากราคาอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้ไข่ไก่ราคาพุ่งขึ้นตาม ส่วนผลิตภัณฑ์นมนั้น ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน

กลุ่มสินค้าที่ราคาพุ่งเป็นอันดับ 2 คือ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปรับตัวขึ้น 4.20% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน หลังจากที่สต็อกข้าวทั่วโลกมีปริมาณลดลง หลังจากอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก สั่งจำกัดการส่งออกข้าวออกสู่ตลาดโลกตั้งแต่เดือนส.ค.2566 ซึ่งทำให้อุปทานข้าวในตลาดโลกน้อยลงและราคาพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้เกษตรกรไทยยังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแห้งแล้งที่กระทบต่อผลผลิตข้าวไทยอีกด้วย

ถึงแม้ว่าราคาสินค้าทั้ง 2 กลุ่มที่พุ่งขึ้นจะทำให้คนในประเทศต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่หากเรามองประเด็นนี้ในมุมของเศรษฐกิจของประเทศ หรือภาคธุรกิจ จะเห็นได้ว่า ภาวะขาดแคลนไข่ไก่ และขาดแคลนข้าวของตลาดโลกจะเปิดโอกาสให้กับผู้ส่งออกไทย

ซึ่งในปี 2566 มีแนวโน้มที่ไทยจะส่งออกไข่ไก่ได้สูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ และหากมองไปถึงการส่งออกไก่ไทยสามารถส่งออกมากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกสูงถึง 148,913 ล้านบาท ส่วนข้าวนั้นไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย ดังนั้น ราคาที่ปรับขึ้น หรือปริมาณสินค้าทั้ง 2 กลุ่มที่ขาดแคลนจึงเป็นโอกาสดีของผู้ผลิตและส่งออกในไทยตามไปด้วย

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/inflation-7/

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#thebusinessplus #BusinessPlus #เงินเฟ้อ #เงินเฟ้อไทย #เงินเฟ้อทั่วไป #เงินเฟ้อพื้นฐาน #CPI