DigitalWallet

คนที่ได้รับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ส่วนใหญ่จะใช้เงินไปกับอะไร?

วันที่ 24 เม.ย.256 ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติเห็นชอบกรอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ‘ดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแล้ว’ โดยจะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

ซึ่งเงื่อนไขของคนที่จะได้รับเงินดิจิทัลจะต้องมีเงื่อนไข 5 ข้อคือ

  1. เป็นประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
  2. มีสัญชาติไทย
  3. อายุเกิน 16 ปี ในเดือนที่มีการลงทะเบียน
  4. มีเงินไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
  5. มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาท

โดยคนที่ได้รับเงินดิจิทัลจะสามารถใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ และจะใช้ได้ด้วยการพบหน้ากันเท่านั้น (ไม่สามารถส่งต่อ QR Code ให้สแกนได้) นอกจากนี้จะสามารถใช้จ่ายได้แค่กับร้านค้าขนาดเล็ก (ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น)

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องสำหรับภาคธุรกิจ คือ กลุ่มคนที่ได้รับเงินจำนวนนี้จะนำไปใช้จ่ายกับอะไรมากที่สุด?

ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก ศูนย์วิจัย SCB (SCB EIC) ที่ได้ทำการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับสิทธิในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะมีประชาชนได้รับสิทธิราว 50 ล้านคน) มีผลการสำรวจที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจค้าปลีกอย่างมาก

โดยในแง่ของตลาดการเงิน และตลาดทุนนั้น ผลสำรวจบอกว่า คนมากกว่า 80% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวของตัวเองลง โดยบางส่วนนำเงินส่วนที่ลดลงมาใช้ลงทุนธุรกิจต่อ นำไปเก็บออม/ชำระคืนเงินกู้ ซึ่งช่วยลดภาระหนี้ของผู้มีสิทธิฯ หรือทำให้ผู้มีสิทธิฯ มีเงินออมเพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็นมากขึ้น

ส่วนในแง่ของการบริโภคนั้น พบว่า สินค้าของชำ (Grocery) จะเป็นสินค้าหลักที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกใช้จ่ายเงินโครงการในสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปมากเกือบ 40% ของสินค้าทุกประเภท ขณะที่สินค้าหมวดสุขภาพ และร้านอาหาร เป็นสินค้ารองลงมาที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้

แต่ผลสำรวจมีข้อยกเว้นในกลุ่มผู้มีสิทธิที่เป็น Gen Z เพราะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ มีแนวโน้มนำเงินบางส่วนจากโครงการไปซื้อสินค้าเพื่อตกแต่ง/ซ่อมบ้านเพิ่มเติม

ส่วนกลุ่มสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ของแต่งบ้าน และโทรศัพท์มือถือ คาดว่าได้รับอานิสงส์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเล็กน้อย จากกลุ่มผู้มีสิทธิฯ ราว 10-17% ที่เลือกใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน ซึ่งค่อนข้างกระจุกอยู่ในผู้มีสิทธิฯ กลุ่ม Gen Y และ Z รวมถึงผู้มีรายได้มากกว่า 1.5 หมื่นบาท

ทั้งนี้หากเจาะเข้าไปถึงร้านค้าที่จะได้รับประโยชน์นั้น ผลสำรวจบอกว่าร้านค้าท้องถิ่นและร้านสะดวกซื้อจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

โดยผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกใช้จ่ายเงินโครงการในร้านค้าท้องถิ่นราว 40% และร้านสะดวกซื้อ เช่น CJ และ 7-11 ราว 26% ของประเภทร้านค้าที่เลือกใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่กลุ่มร้านอาหารและร้านขายยา เป็นกลุ่มรองที่ได้รับประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร้านค้าส่ง/ค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ไม่สามารถรับเงินโดยตรงจากการใช้จ่ายของผู้มีสิทธิในโครงการฯ ก็ยังถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็กที่ต้องนำเงินรายได้จากการขายสินค้าให้ผู้มีสิทธิฯ มาใช้จ่ายต่อไปยังร้านค้าอื่น ๆ เช่น การซื้อสินค้าเพื่อสต็อกสินค้าในร้านค้า

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : IQ , ครม.
ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #ดิจิทัลวอลเล็ต #digitalwallet