เงินเฟ้อ

เงินเฟ้อไทยปีนี้อาจติดลบ แต่ทำไมยังรู้สึกว่าข้าวของแพง?

เงินเฟ้อของประเทศไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2566 ลดลง 0.83% นั่นทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นเพียง 1.23% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่เงินเฟ้อทั่วไปสูงถึง 6.08% นอกจากนี้เงินเฟ้อในปี 2567 ยังถูกคาดการณ์ว่ามีโอกาสติดลบ 0.3 – 1.7% อีกด้วย

ซึ่งจริงๆ แล้วหากอัตราเงินเฟ้อติดลบ หรือลดลงอย่างต่อเนื่องขนาดนี้ต้องทำให้คนในประเทศรู้สึกถึงค่าครองชีพต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่เราเผชิญกับเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) แต่ทำไมพ่อค้าแม่ค้า หรือแม้กระทั่งเจ้าของธุรกิจยังรู้สึกว่า ค่าครองชีพ และต้นทุนในปี 2566 มาจนถึงต้นปี 2567 ยังคงสูง เพื่อตอบคำถามนี้ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เงินเฟ้อนั้น ถูกคำนวณได้ 2 แบบ คือ

  1. เงินเฟ้อทั่วไป
  2. เงินเฟ้อพื้นฐาน

โดยเงินเฟ้อทั่วไปจะคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าทุกประเภท ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะคำนวณเหมือนกันเพียงแต่ตัดสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานออก เพราะถือเป็นหมวดที่มีความเคลื่อนไหวขึ้นลงตามฤดูกาล และอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน

ซึ่งเงินเฟ้อที่ติดลบติดต่อกัน 3 เดือนที่ผ่านมาตามที่เราเห็นในข่าวนั้นคือ เงินเฟ้อทั่วไป แต่หากเรามองในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานจะเห็นว่าในเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมายังคงเพิ่มขึ้น 0.58% นั่นเท่ากับว่า ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคายังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดหมู่สินค้าที่เป็นวัตถุดิบในหลายธุรกิจ

ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบนั้น ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 เกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ นั่นคือ ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลง รวมไปถึงนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล ซึ่งมีทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย แต่สินค้าประเภทอื่นยังคงอยู่ในระดับเดิม หรือบางส่วนก็ปรับตัวขึ้น

ซึ่งหากเจาะลงไปในรายละเอียด และเปรียบเทียบราคาสินค้าช่วงปลายปี 2566 พบว่า มีทั้งกลุ่มที่ราคาสูงขึ้น และลดลงจากการคำนวนรายการสินค้าและบริการ ทั้งหมด 430 รายการ พบว่ามีสินค้าที่ราคาลดลง 92 รายการเท่านั้น เทียบกับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น 291 รายการ และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 47 รายการ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า จริงๆ แล้วอัตราเงินเฟ้อติดลบยังไม่กระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมคนทั่วไปถึงไม่ได้รู้สึกว่า ราคาสินค้าต่ำลง 

ขณะที่หากมองถึงแนวโน้มในปี 2567 สินค้าประเภท เครื่องปรุง ประกอบอาหาร และเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ (11 ม.ค.67) เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ 4 แห่ง ได้ออกประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรขึ้นฟองละ 30 สตางค์ ปรับจากจากฟองละ 3.50 บาท เป็น ฟองละ 3.80 บาท หรือ ปรับเพิ่มขึ้นอีกแผงละ 9 บาท และมีผลทันทีในวันนี้

ซึ่ง ‘Business+’ มองว่า ในปี 2567 นี้นอกจากราคาไข่ไก่ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจจะทำให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้น และยังมีอีก 6 ปัจจัยความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ (ทั้งเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐาน) นั่นคือ

  1. การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าและบริการในธุรกิจท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น
  2. สถานการณ์ความขัดแย้งอย่าง การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง (ตั้งอยู่ระหว่างทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย) ที่อาจจะทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือจะพุ่งสูงขึ้นตาม
  3. สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ปาเลซไตน์ ที่อาจส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรและพลังงานในตลาดโลก
  4. ภัยแล้งในไทยที่หากยืดเยื้อ หรือรุนแรงจะทำให้สินค้าเกษตรลดลง และดันราคาสูงขึ้น
  5. หมดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ (พลังงาน , ไฟฟ้า)
  6. โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายของคนในประเทศ

ทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงไม่ออกมาประกาศหรือให้แนวคิดที่จะลดดอกเบี้ยลงเร็วๆ นี้ แม้เงินเฟ้อเราอาจจะติดลบ เพราะจริงๆ แล้วยังมีอีกหลายปัจจัยที่เงินเฟ้อจะกลับมาพุ่งสูงได้อีกครั้ง ทั้ง 6 ปัจจัยข้างต้น และยังรวมไปถึงภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวได้ดี ดังนั้นหากไทยเราลดอัตราดอกเบี้ยก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะลดดอกเบี้ยลง ก็อาจจะส่งผลต่อเม็ดเงินไหลออกจากประเทศไทยนั่นเอง (ไปหาประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า)

ที่มา : BOT ,กระทรวงพาณิชย์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#thebusinessplus #BusinessPlus #เงินเฟ้อ #เงินเฟ้อไทย #เงินเฟ้อทั่วไป #เงินเฟ้อพื้นฐาน #CPI