Common Prosperity

อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่ ‘ไทย’ ควรถอดแบบ!! อาหารผู้สูงอายุ New S-Curve รองรับสังคมสูงวัย

เทรนด์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเป็นเทรนด์ที่มาแรงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุเป็นเพราะว่าแนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุในภาพรวมทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ข้อมูลของ ‘สำนักกิจการเศรษฐกิจและสังคมประจำสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ’ คาดการณ์ว่าในอีก 30 ปี ข้างหน้าประชากรสูงวัยทั่วโลกจะเพิ่มกว่าเดิมเท่าตัว หรือประมาณ 1.5 พันล้านคน (ภายในปี 2594)

ขณะที่ข้อมูลจากสถิติโครงสร้างประชากรสำรวจโดย UN เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยพบว่าสัดส่วนประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในเอเชียประเทศญี่ปุ่น มีผู้สูงอายุมากที่สุด สำหรับไทยในปี 2563 มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (65 ปี) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 13% ต่อประชากรทั้งหมด และในปี 2593 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30% ต่อประชากรทั้งหมด

เมื่อเห็นแนวโน้มการเติบโตที่น่ากลัวนี้แล้ว หันมาดูนโยบายของประเทศต่าง ๆ กันสักหน่อย ว่ามีการเตรียมตัวรองรับสังคมสูงวัยกันมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลจาก ‘กระทรวงแรงงาน’ พบว่า ประเทศที่มีแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นได้ออกนโยบายเพื่อรองรับกันมาบ้างแล้ว

เช่น เกาหลีใต้ กำหนดนโยบายเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานด้วยระบบเงินบำนาญ และปรับปรุงสภาพ การทำงานให้เหมาะสมเพื่อรักษาแรงงานให้อยู่ในระบบ

ญี่ปุ่น มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนในการจัดตั้ง ศูนย์จัดหางาน และส่งเสริมอาชีพให้กับผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นที่มีทุกจังหวัด

สหรัฐฯ กฏหมายเพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุให้สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดด้านอายุ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงศักยภาพของผู้สูงอายุเป็นหลัก

และในประเทศไทย ได้กำหนดนโบบายการจ้างงานผู้สูงอายุ พ.ศ.2560 ให้บริษัทหรือนิติบุคคลสามารถจ้างงานผู้สูงอายุโดยสามารถนำเงินค่าจ้างมายกเว้นภาษีเงินได้

โอกาสสำหรับผู้ประกอบการ
หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เพราะสัดส่วนจำนวนประชากรในประเทศที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 13% ซึ่งไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมดเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน (อันดับ 1 เป็นสิงคโปร์)

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจผู้สูงอายุมีศักยภาพเติบโตสูง และเป็นโอกาสสำหรับการขยายตลาดเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจึงเป็นเป้าหมายสำหรับหลาย ๆ องค์กรที่กำลังมองหา New S-Curve และที่ผ่านมาเราได้เห็นบริษัทต่าง ๆ ได้เข้าสู่ธุรกิจนี้กันมากขึ้น และส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุ

ยกตัวอย่าง บริษัทในตลาดหุ้นไทย เช่น บมจ.เทคโนเมดิคัล (TM) ซึ่งปกติทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ก็ได้แตกไลน์มาจับธุรกิจเกี่ยวกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ,บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงพยาบาล ก็ได้จัดทำหมู่บ้านผู้สูงอายุ ,บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำเกี่ยวกับชุมชนน่าอยู่สำหรับผู้สูงวัย

นอกจากนี้ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) (MK) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (BH) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงพยาบาล ก็ได้จับมือกันเพื่อร่วมทำเวชศาสตร์ชะลอวัย ฟื้นฟูสุขภาพ อีกทั้งบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) (NUSA) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็ได้จัดทำหมู่บ้านสุขภาพ

โดยบริษัทเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แตกไลน์ธุรกิจสู่ตลาดผู้สูงอายุทั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามเมกะเทรนต์ เพราะมีโอกาสเติบโตสูงและมีกำไรสูง

แต่นอกจากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุแล้ว ยังมีอีกธุรกิจที่มีความน่าสนใจ ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า และปัจจุบันยังไม่ค่อยได้เห็นการทำธุรกิจนี้ในไทยมากนัก นั่นคือ การทำธุรกิจเกี่ยวกับ ‘อาหารของผู้สูงอายุ’

ข้อมูลจาก ‘สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน’ ระบุว่า ตลาดค้าปลีกของสหราชอาณาจักร (UK) โดยเฉพาะอย่างยิ่งซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำให้ความสำคัญต่อการนำเสนอ และพัฒนาอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงวัย ที่เป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญ

โดยการนำเสนอรูปแบบสินค้าการให้บริการที่มีความหลากหลาย เพราะสหราชอาณาจักรมีประชากรสูงวัยที่อายุตั้งแต่ 65 ขึ้นไปเกือบ 12 ล้านคน คิดเป็น 18.6% ประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน (ข้อมูลจาก ageuk.org.uk)

สอดคล้องกับสำนักข่าว Independent ที่ได้กล่าวถึงการพัฒนาสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ให้มีรายการอาหารเหมาะสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งทำอาหารทานเองน้อยลง รายการอาหารเรียบง่ายเป็นที่คุ้นเคย และตอบสนองต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

โดยระบุว่าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมีมูลค่าตลาดสูงถึง 23,000 ล้านปอนด์ต่อปี (1,053,444.09 ล้านบาท) ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่สำคัญ โดยห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่าง Tesco (อันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักร) ไปจนถึง ห้าง Mark & Spencers ต่างก็ทำการตลาดสินค้าสำเร็จรูปพร้อมทานสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ

และที่น่าสนใจมากกว่า คือ รูปแบบการทำตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุในสหราชอาณาจักรที่เป็นที่นิยมคือการสั่งอาหารสำเร็จรูปส่งถึงบ้านที่เรียกว่าอาหารติดล้อ (Meals on Wheel) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นบริการสำหรับผู้สูงวัยซึ่งไม่มีญาติพี่น้องอยู่ด้วย

โดยลูกค้าจะสั่งอาหารล่วงหน้าเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน และอาหารจะส่งถึงบ้านตามวันและเวลาที่นัดหมาย โดยผู้ประกอบการรายที่เป็นที่รู้จักในสหราชอาณาจักร ได้แก่ Wiltshire Farm ซึ่งได้ใช้ภาพถ่ายผู้สูงอายุในการนำเสนอเมนูอาหารมากกว่า 80 รายการผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และแคตตาล็อคส่งทางไปรษณีย์

นอกจากนี้แล้ว หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหราชจักรได้ให้ความสำคัญกับอาหารสำหรับผู้สูงอายุ โดยกำหนดระดับความยากง่ายในการเคี้ยวอาหารออกเป็นระดับ 0 ถึง 7 โดยระดับ 0-3 จะเป็นของเหลวประเภทซุปหรือเครื่องดื่มที่ไม่ต้องเคี้ยว 4 จะเป็นประเภท อาหารบด (Pureed) 5 อาหารสับละเอียด (Minced) 6 อาหารนุ่มชิ้นพอดีคำ (Soft and Bite sized) และ 7 อาหารทั่วไป (ข้อมูลจาก stgeorges.nhs.uk)

อย่างที่เรารู้ดีว่า กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุ มักเป็นกลุ่มที่มีรายได้มั่นคง หรือพูดง่าย ๆ คือ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นกลุ่มที่มีความภักดีต่อแบรนด์สูง ดังนั้น หากสามารถเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีผลประกอบการที่ดี และมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต

หากใครต้องการอ่านเนื้อหาที่เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุที่น่าสนใจในแง่มุมอื่น ๆ สามารถติดตามได้ที่ Section พิเศษ The Coming of a Hyper-aged Society’ เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ที่ ‘Business+’ ได้จัดทำขึ้นมาในช่วงครบรอบ 34 ปี และรวบรวมเนื้อเอาไว้ภายในเว็บไซต์ : https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ,wiltshirefarmfoods

ภาพจาก wiltshirefarmfoods

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อาหารผู้สูงอายุ