คนไทยหวาดวิตกค่าครองชีพสูง!! World Bank หั่นตัวเลขเศรษฐกิจไทยเหลือโต 1% แรงงานต้องเอาตัวรอดเอง หันทำอาชีพเสริมแทน

ดูเหมือนขณะนี้คนไทยกำลังเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ค่าทางด่วนที่เพิ่มขึ้น ราคาอาหาร เช่น หมู ไก่ และไข่ แพงขึ้น ซึ่งสวนทางกับรายได้ของประชาชนในประเทศที่ยังได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และบางส่วนอาจหยุดชะงักจากผลกระทบของโอมิครอนอีกครั้ง

มีข้อมูลจาก ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ว่า ในเดือน ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ภาคครัวเรือนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของราคาอาหารและเครื่องดื่ม

และช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายพิเศษที่เพิ่มขึ้น กดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

โดยล่าสุดดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนมาอยู่ที่ระดับ 33.9 จาก 34.7 ในเดือน พ.ย. (ผลสำรวจจัดทำปลายเดือน ธ.ค.64 ยังไม่รวมผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว)

ซึ่งผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนกังวลด้านราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารและเครื่องดื่ม โดยดัชนีราคาสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงติดต่อกัน 3 เดือนต่อเนื่อง และในเดือน ธ.ค. ลดลงถึง 17.4% สร้างความวิตกกังวลให้กับภาคครัวเรือนอย่างมาก แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะยังมีมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้

ซ้ำร้ายสถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นยังไม่มีแนวโน้มบรรเทาลงในระยะเวลาอันใกล้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูงจากปัญหาด้านภาวะอุปทานน้ำมันยังคงมีอยู่ เช่น ประเทศในสมาชิกกลุ่มโอเปกบางส่วนไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตามโควตาจากปัญหาภายในประเทศ

อีกทั้งมีปัญหาเฉพาะตัวของสินค้า เช่น ราคาสุกร ที่ปรับสูงขึ้นในรอบ 10 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังสินค้าทดแทนอื่น ๆ อย่างเนื้อไก่ให้ปรับขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยังได้มีมติทยอยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) โดยรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 65 จะเพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปกติ สถานการณ์ดังกล่าวจะเข้ามากดดันค่าครองชีพของครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กำลังซื้อยังมีแนวโน้มเปราะบาง

ด้านตลาดแรงงานยังเผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน ที่ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีมาตรการเข้มงวดในการคุมเข้มการระบาด แต่สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่

ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังคงมีความเปราะบาง มาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาค่าใช้จ่าย เช่น การตรึงราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างมาก

ขณะที่ผลสำรวจเกี่ยวกับผลกระทบจาก COVID-19 ต่อการทำงานในปี 64 ที่ผ่านมา พบว่าครัวเรือนได้มีการทำอาชีพเสริม หรือมีอาชีพที่ 2 เพิ่มขึ้นถึง 28% ส่วนใหญ่เป็นการขายสินค้าออนไลน์ ขณะที่ครัวเรือนมากกว่าครึ่งหนึ่ง มีความสนใจที่จะทำอาชีพเสริม

จะเห็นได้ว่า COVID-19 ยังคงกระทบตลาดแรงงานในปัจจุบัน และอนาคตอาจเห็นแนวโน้มการทำอาชีพเสริมมากขึ้น ทั้งจากความต้องการด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้น และป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแต่ละอาชีพ

World Bank หั่นตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือโต 1%

ประเด็นค่าครองชีพถือเป็นตัวกดดันการบริโภคของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจ ล่าสุด วันที่ 12 ม.ค. ธนาคารโลก (World Bank) ประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 และ 2565

โดยปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของไทยในปีนี้สู่ระดับ 3.9% (ลดลง 1.2% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน มิ.ย. 2564) และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปี 2564 สู่ระดับ 1.0% (ลดลง 1.2% จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้า)

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังระบุว่า การที่ไทยมีการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมาก ทำให้เศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 จนกว่าจะถึงปี 2566

การหั่นการคาดการณ์ครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจโลก ซึ่ง ธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้สู่ระดับ 4.1% (ลดลง 0.2% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน มิ.ย. 2564) และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 สู่ระดับ 5.5% (ลดลง 0.2% จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้า)

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ,World Bank

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
#Businessplus #ตลาดหุ้น #GDP #ภาคครัวเรือน #World Bank