New Step of Evolution มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สู่เส้นทาง Leading University in Trade & Services in ASEAN

ที่ผ่านมา ทุกความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นที่จับตามาโดยตลอด ทั้งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบ UTCC Hybrid Learning System เพื่อพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในรูปแบบใหม่ ให้เกิดประสิทธิผลแก่นักศึกษาสูงสุด กับการก้าวสู่โลกดิจิทัล หรือ Digital Transformation

แต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสังคมเริ่มก้าวสู่ Aging Society ส่งผลถึงสถาบันอุดมศึกษา กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากปริมาณนักศึกษาลดลง จึงเป็นคำถามถึงความอยู่รอดของทุกมหาวิทยาลัย

และบนหลักไมล์ที่ 57 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงวางเป้าหมายขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย’ สู่เส้นทาง Leading University in Trade & Services in ASEAN

คำประกาศนี้จึงเป็นก้าวรุกสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Vision 2020’ หลังอธิการบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และด้วยบุคลิก Proactive ของผู้นำคนใหม่ ก็ได้ตั้งเป้าหมายพามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มีจุดเด่นในด้าน ‘Trade & Service’ ให้สำเร็จภายใน 8 ปี

แน่นอนว่าจากโจทย์นี้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ ยังวัดความสำเร็จไม่ได้ แต่หากมองย้อนอดีตไปจะพบว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสามารถปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลา อีกทั้งการที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คือ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวที่ติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกปี 2020 พอทำให้เราเห็นภาพชัดว่าเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้พอสมควร

และหากถอดสมการความคิดที่ผู้นำคนใหม่ ที่กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ‘Never Say NO’ บางทีเป้าหมายนี้อาจเร็วกว่ากำหนดก็เป็นได้


เมื่อกล่าวถึงพัฒนาการสำคัญ ๆ ของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะพบว่าเดินหน้าปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนใหม่ โดยเน้นการเรียนแบบ Hand on หรือการลงมือปฏิบัติในแบบ Problem Based มากขึ้น โดยมุ่งสอนวิชาการแก่นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ปี 1 ในทุกคณะและทุกสาขา เป็นการสอนในแบบเวิร์กชอป ซึ่งจะเรียนรู้ 24 ขั้นตอนของการเป็นผู้ประกอบการตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย MIT ซึ่งอาจารย์ผู้สอนได้รับการฝึกอบรมจาก MIT โดยตรงมาทำหน้าที่เป็นโค้ช ตามหลักสูตรผู้ประกอบการธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Entrepreneur หรือ IDE)

รวมถึงดำเนินการสอนความรู้สมัยใหม่ โดยร่วมมือกับ Alibaba ตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่เป็นทางการของ Alibaba เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย อีกทั้งยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด สร้างหลักสูตร Design Your Life ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับ Design Thinking เพื่อนำมาสร้างการกำหนดทิศทางชีวิตตัวเอง หรือการกำหนดทิศทางขององค์กร ผ่านหลักสูตร Design Your Organization Life

โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะถูกหล่อหลอมแนวคิดทางธุรกิจด้วย IDE และ Design Your Life และยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการเป็นมหาวิทยาลัยของไทยแห่งแรกที่เปิดสอน MBA ในเมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งร่วมกับหอการค้าในสองเมืองใหญ่

หรือก่อนหน้านี้ก็ได้มีความร่วมมือทางด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัยชิคาโก กระทั่งกำลังมีความร่วมมือด้านหลักสูตรกับ UON (University of Newcastle) คือหลักสูตร Double Degree จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่แจ็ค หม่า จบมา เท่ากับว่าเรียนจบได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและได้ปริญญาจาก UON ด้วย

แม้แต่มหาวิทยาลัยหมิงฉวน มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของไต้หวัน โดยที่ลูกสาวเจ้าของมหาวิทยาลัยหมิงฉวน มาร่วมบริหารกับทางหอการค้าไทย และเตรียมเปิด Duo Degree ภาษาอังกฤษ และ Duo Degree ภาษาจีน

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง Beijing Language and Culture University (BLCU) ซึ่งจะเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษร่วมกัน ในเดือนมกราคม 2021 เป็นต้น

แนวทางของการวางแผนที่จะสร้าง Networks ในรูปแบบนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนเริ่มต้นบางส่วนในการยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ต้องบอกว่าที่นี่มีผลงานที่โดดเด่นไม่แพ้มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยแม้แต่น้อย และล่าสุดได้รับการจัดอันดับจาก Round University Ranking 2020 (RUR) ให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวที่ติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ประจำปี 2020 โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ การสอน งานวิจัย ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และความยั่งยืนทางการเงิน

และเมื่อพิจารณาเฉพาะด้าน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังโดดเด่นด้าน International Co-authored Papers หรือผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติที่มีผู้เขียนร่วม ได้อันดับ 100 ของโลก จาก 930 มหาวิทยาลัยทั่วโลก

จุดยืนของเราไม่ได้ต้องการเป็นเพียงมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองไทย

แต่เป้าหมายหลักคือต้องการสร้าง Networks ใหญ่ที่สุดในอาเซียน”

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยความตั้งใจ พร้อมทั้งให้เหตุผลของการ ‘เร่ง’ ขยายเครือข่ายว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการวาง Roadmap ระยะยาวของมหาวิทยาลัยที่ต้องการทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยอินเตอร์ภายใน 8 ปี

“เรามีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มานาน ถือได้ว่าเป็น ‘หนุ่มใหญ่’ ที่มากด้วยความสามารถ แม้ที่ผ่านมาเราไม่ได้อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบและนักศึกษาจะนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ แต่การที่เราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเดียวและเป็นแห่งแรกที่ได้รับการจัดอันดับ สิ่งนี้มันพิสูจน์ได้ว่าเรามีความโดดเด่นเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ

เพราะเรามีความหลากหลายของนักศึกษานานาชาติ แม้จะมีจำนวนนักศึกษาเพียง 300 คน แต่เราก็คาดหมายว่าจะมียอดนักศึกษาโตเท่าตัว (400 – 600 คนใน 2 ปี) ซึ่งหากถามว่า การเติบโตเท่าตัวของจำนวนนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียน คณะผู้บริหารต้องวางกลยุทธ์อะไร หรือประเด็นที่เราตั้งเป้าหมายว่า เราจะทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยอินเตอร์ ผมมองได้ในหลายมิติ แต่คำถามคือ เชื่อไหมว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ? และคำถามที่สำคัญมากกว่านั้น คือ นานาชาติยอมรับเราไหม?

แน่นอนโจทย์ที่ยากสำหรับผมคือ การทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เดินไปอย่างมั่นคง และตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการที่จะดำเนินแผนให้สำเร็จต้องเป็นการวางแผนระยาว และวิสัยทัศน์นี้ถูกวางไว้แล้วเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งเมื่อผมมารับตำแหน่งก็เหลือเวลาอีก 2 ปี ผมจึงมองว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ 8 ปี

ดังนั้น แนวคิดการทำงานเพื่อสร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์ตามเป้าหมายที่วางไว้ เรากำลังเข้าสู่โปรแกรม Mentoring Program และเข้าสู่โหมดการเป็น Coaching คือการสอนในรูปแบบใหม่

โดยแนวทางนี้ถูกใช้ในองค์กรระดับนานาชาติ เปรียบเสมือนพี่น้องคุยกัน เป็นการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เป็นระบบพี่คุยกับน้อง คุยกันเปิดใจกัน แลกเปลี่ยนแนวคิดกัน และสำคัญที่สุดคือ บรรยากาศการเรียนการสอนแบบ International จริง ๆ

จะเห็นได้ว่า บรรยากาศรอบ ๆ ภายในมหาวิทยาลัยหรือบรรยากาศการเรียน การสอน อย่างที่เกริ่นมาในตอนแรกคือ ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง เราดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากเราไม่มีความพร้อม เราไม่มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ก็จะไม่เกิดความร่วมมือ และแม้ว่ามหาวิทยาลัยที่เรามีความร่วมมือจะไม่ใช่มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศนั้น ๆ แต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียง ผมมองว่าความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยขึ้นอยู่กับจำนวนเด็กนักศึกษา ความหลากหลาย และคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งเราก็ต้องทำให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสามารถที่จะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก นี่คือตัววัดของการเป็นนานาชาติ”

คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นภาพว่า ไม่บ่อยครั้งนักที่คนวงในภาคการศึกษาจะอธิบายโครงสร้างอย่างละเอียดให้ใครได้ฟังง่าย ๆ แต่ครั้งนี้อธิการบดีป้ายแดงฉายภาพเป็นฉาก ๆ ว่า

“เหตุผลของทุกมหาวิทยาลัยต่างมองภาพใกล้ ๆ กัน คือ จำนวนนักศึกษาลดลง ขณะที่ภาพการแข่งขันรุนแรงเพื่อชิงตัวนักศึกษาเพิ่มทุกปี ดังนั้นทุกมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องออกแบบการเรียนการสอนให้ตรงเป้าหมายที่เด็กเข้ามาเรียนมากที่สุด นั่นคือ การเติบโตจากภายใน (Organic Growth)

และถ้าเรามีความเข้มแข็ง ก็จะเป็นการง่ายในการมีพาร์เนอร์มาเสริมแบรนด์ ซึ่งการโตแบบ Organic Growth จะทำให้เราเป็นแบรนด์ที่นักศึกษานึกถึงเป็นอันดับแรกในอนาคต”

Modernize ‘หอการค้าไทย’ ปรับลุค รุก ‘นิวเจน’

องค์กรที่มีอายุยาวนานอย่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมามากพอ จนต้อง ‘ยกนิ้ว’ ให้ ทว่าในมุมของภาพลักษณ์ การเป็นสถาบันการศึกษาตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในสายตานักศึกษานั้น ยังมี ‘เสน่ห์’ ไม่มากพอ

โดยการครองใจนักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ในยุคไฮเทคนี้ ยากกว่ายุคก่อนหลายเท่า และท่านอธิการบดีก็ตระหนักถึงความจริงข้อนี้มาระยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะเปลี่ยนแนวการสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของมหาวิทยาลัย

“ที่ผ่านมา เราไม่เคยสำรวจความเห็นของนักศึกษาว่า เรายังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในใจของเด็กรุ่นใหม่หรือไม่ อย่างไร ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า การที่เราจะรับนักศึกษาใหม่ ขั้นตอนแรกคือ เด็กจะเข้าสู่กระบวนการเอ็นทรานส์

ดังนั้นเด็กที่มีความสามารถระดับเกรด A หรือเกรด B ก็จะไปอยู่มหาวิทยาลัยของรัฐเป็นส่วนใหญ่ และมหาวิทยาลัยของรัฐก็เปิดหลักสูตรพิเศษ หมายความว่า เราต้องทำงานมากขึ้น ทำให้เราต้องมีการรีแบรนด์อย่างเข้มข้น

แต่ในอีกมุมหนึ่งต้องมองว่า แบรนด์ของการศึกษาไม่เหมือนกับแบรนด์ของธุรกิจ ซึ่งโอกาสที่ดีในจุดแรกคือ มหาวิทยาลัยของรัฐบาลซึ่งมีหลายปัจจัยสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเอกชนต่อสู้แบบไม่เป็นธรรม ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนต้องลงทุนเองในแง่งบสนับสนุน ภาพการแข่งขันนี้จึงเป็นแบบไม่เท่าเทียม สำหรับในมุมของเรามองว่า ถ้าเราเสนอระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์มากกว่า ก็คิดว่าสามารถแข่งขันได้

แต่อยากฝากข้อคิดว่า ระบบการศึกษาไทยสำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐบาลมีมานานกว่าการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเอกชน ดังนั้นค่านิยมเก่า ๆ ทั้งจากผู้ปกครองหรือเด็กนักเรียนยังคงมีผลในปัจจุบันอยู่

สิ่งเหล่านี้เกิดจากแบรนด์ทั้งสิ้น แต่เรามองว่าแนวโน้มจากเด็กนักศึกษารุ่นใหม่ ๆ ซึ่งสอบเอ็นทรานส์ติดมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่สุดท้ายมาเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะเขาเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเอกชนตอบสนองได้มากกว่า ตรงประเด็นมากกว่า

เราพยายามมองไปยังในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ที่มีชื่อเสียงหรือมหาวิทยาลัยของโลกที่มีความเข้มแข็งก็คือมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งถูกพัฒนามาจากเนื้อหาสาระของระบบการเรียน การสอน อีกทั้งการที่มีศิษย์เก่าร่วมบริจาคในแต่ละปีด้วยเงินจำนวนมาก ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนเข้มแข็งกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐบาล ซึ่งเราสู้ในเส้นทางนี้มาตลอด

และก็ต้องยอมรับว่า การที่เรามี Goal และ Milestone แบรนด์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต้องสร้างอย่างเข้มแข็ง ให้เป็นเสมือนแบรนด์ประเทศ ดังนั้นสิ่งที่เรามุ่งหวังเติบใหญ่ในอาเซียน ไม่ใช่เรื่องเฟ้อฝัน

โดยที่ผ่านมา เรามีนักศึกษานานาชาติมาเรียนจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มากพอ โดยแผนของเราคือการขยับออกจากไทยไปยังเมียนมาร์ และให้ครอบคลุมอาเซียน โดยสเตปที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยต้องทำคือ การสร้างระบบการเรียนการสอน งานวิจัย และหลักสูตรที่ตอบสนองภาคธุรกิจมากขึ้น เกี่ยวพันกับคนเจนวาย (Gen Y) เน้นเรื่อง E-Commerce ซึ่งจุดนี้ เรามีโปรแกรมที่วิ่งเข้าสู่กลุ่มเจนวาย คือมีหลักสูตร IDE Program เพราะสตาร์ทอัพเจนวายต้องการเป็นนักธุรกิจ สตาร์ทอัพที่ต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพ

และจากผลสำเร็จของนักศึกษาแต่ละรุ่น ผมมองว่าเรามาถูกทางสำหรับการเพิ่มทักษะในมิติต่าง ๆ โดยจะเห็นว่า เด็กของเรา 95% ตลาดแรงงานให้การยอมรับ นั่นหมายความว่า หลักสูตรที่เราสอนให้เด็กคิดแบบผู้นำ สอนจากประสบการณ์จริง ปฏิบัติให้ได้จริง ได้หล่อหลอมให้เด็กของเราได้รับการยอมรับมากขึ้นทุกปี

และการที่ผมตั้งเป้าหมายแล้ว องค์กรอย่างเรา ‘มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย’ จะเคลื่อนไปตามแนวคิดนั้น และไม่มีทางที่จะตอบว่าไม่ได้ : Never Say NO กล่าวคือ ตั้งเป้าหมายแล้วต้องทำให้ได้

คำกล่าวของอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ย้ำให้เห็นชัดเจนว่า สถาบันแห่งนี้มุ่งเน้นผลิตเด็กนักศึกษาที่มีคุณภาพ จากการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่มหาวิทยาลัยมีคณะอาจารย์ผู้สอนเลือดใหม่ไฟแรง มาช่วยกันขับเคลื่อนให้รับกับ ‘วิสัยทัศน์’ แบรนด์ระดับ Region เราจึงได้เห็นลุคใหม่ของมหาวิทยาลัยมาระยะหนึ่งแล้ว

“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราต้องปรับและทำอยู่เป็นประจำ เพราะสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เราไม่อาจจะอยู่เฉยได้อีกต่อไป

โดยการศึกษานับเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ต้องเร่งปรับเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดประโยชน์และให้คุณค่าต่อสถาบันศึกษาในทุกภาคส่วน

สถาบันศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการทรานฟอร์มตัวเอง จะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจได้รวดเร็ว และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเรียนการสอน โดยจะเป็นจุดดึงดูดสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยขจัดปัญหาด้านการขาดแคลนนักศึกษาออกไปได้

แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องอาศัยทุกภาคส่วนเป็นแกนหลักต่อการแปลี่ยนแปลงทั้งหมด โดยทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญหากจะพัฒนาและพลิกแพลงเพื่อให้เกิดนวัตกรรมการเรียน การสอน เพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ผมย้ำว่าคือ เส้นทางของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นับจากนี้”