The Next Chapter SVOA ปรับทิศสู่การเป็น Digital Age Enabler

กว่า 38 ปี ที่บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVOA พิสูจน์ความแข็งแกร่งของผู้นำธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศตามมาตรฐานสากล

และนับตั้งแต่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1982 (พ.ศ. 2525) SVOA เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้งหลายหน ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตดอทคอม ไปจนถึงวิกฤตการเงินในปี 2008 ซึ่งถือว่ามีการล้มลุกคลุกคลานและปรับตัวไปตามสถานการณ์ของประเทศและโลกตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันตามกระแสทิศทางและเทรนด์ของโลกดิจิทัล (Digital Disruption) ในปัจจุบัน SVOA กำลังจะก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ของโลก และก็ต้องถือว่าเป็นบริบทใหม่ของบริษัทด้วยเช่นกัน ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ผ่านเทรนด์ New S-Curve


ในวันนี้ที่บริบทโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก โดยการมาของ Digital เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ทำให้ SVOA ต้องปรับตัวอีกครั้ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยได้มีการประกาศทีมผู้บริหารใหม่ เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนบริษัทเข้าสู่ New Normal และ Digital Age

โดยภาพรวม การแข่งขันทางการค้าในโลกของธุรกิจไอทีภายหลังสถานการณ์วิกฤต COVID-19 จบลง เชื่อว่าหลายองค์กรคงต้องประเมินความพร้อมด้านธุรกิจและด้านนโยบายต่าง ๆ ทั้งเงื่อนไขขีดความสามารถในการแข่งขัน การรองรับตลาดในยุคดิจิทัล กฎระเบียบด้านดิจิทัลของประเทศ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังจากนี้ เพื่อการขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่ New Normal และ Digital Age เต็มตัว

ปัจจุบัน SVOA แบ่งโครงสร้างธุรกิจออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจช่องทางการจำหน่าย (IT Distribution Strategic Business Unit) (ITDSBU)
  2. กลุ่มธุรกิจโครงการไอที (IT Project Strategic Business Unit) (ITPSBU)
  3. กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์ (Computer System Integration and Total IT Solution Provider) (Data One)
  4. กลุ่มธุรกิจ New Digital Application เพื่อสถาบันการเงินและหน่วยงานราชการ (Digitech One)
  5. กลุ่มธุรกิจช่องทางบริการหลังการขาย (After-Sales Service) (Asys)
  6. กลุ่มธุรกิจไอที ซูเปอร์สโตร์ (IT Superstores) (IT CITY)
  7. กลุ่มธุรกิจสินเชื่อ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Financial Product Group) (Lease IT)
  8. ธุรกิจด้านการพิมพ์แบบครบวงจร (Printing Solution Provider & Printing Service) (Touch Printing)
คุณกุลภา อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน)

จุดเริ่มต้นของอาณาจักร SVOA

คุณกุลภา อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า ตลอด 38 ปีที่ SVOA ดำเนินธุรกิจมา ก่อนที่จะมีภาพความสำเร็จล้วนแล้วแต่ต้องผ่านอุปสรรคและความลำบากที่ทาง SVOA ต้องฝ่าฟัน แต่บริษัทฯ ก็ผ่านอุปสรรคมาได้ทุกครั้ง เรียกได้ว่า ธุรกิจของ SVOA เติบโตอยู่คู่สังคมไทยมาตลอด

อาทิ เมื่อ 31 ปีที่แล้วยุคที่ไมโครคอมพิวเตอร์ ยังไม่แพร่หลายประเทศไทย มีแต่เมนเฟรม และมินิ คอมพิวเตอร์ และดาต้าเซ็นเตอร์ ขนาดใหญ่ หรือช่วงปี 1982 กับจังหวะที่ Apple ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Apple2 ขึ้นมา SVOA ก็นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย รวมไปถึง IBM ที่เข้าตลาดมาในช่วงนั้นเหมือนกัน

แต่ผลงานที่ทำให้ SVOA โดดเด่นมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการยุคนั้นคือ การทำให้คอมพิวเตอร์พูดภาษาไทยได้ นั่นเพราะ SVOA ต้องการแก้โจทย์สำคัญ คือการทำให้ฮาร์ดแวร์มีราคาถูกลง และส่งผลให้คอมพิวเตอร์เป็นสินค้ามหาชนได้

“ตอนนั้นเราคิดว่าจะทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์ราคาถูกลง เราเป็นผู้ให้บริการรายแรกของประเทศที่มีความสามารถในการทำภาษาไทยในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์และพรินเตอร์ โดยเราส่งคนไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำ Fonts ตัวหนังสือภาษาไทย เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้”

จากผลงานครั้งนั้น SVOA ขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม คุณกุลภาเล่าต่อว่า ในอดีตนั้น คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ทุกคนรู้ว่าคอมพิวเตอร์มีประโยชน์ แต่คนซื้อต้องใช้เงินไม่น้อยในการครอบครอง

กลยุทธ์สำคัญในยุคนั้นคือ การขยายกลุ่มผู้ใช้จากคอมพิวเตอร์ราคาแพงที่ผู้ใช้ต้องรู้ภาษาอังกฤษ เพราะการใช้งานเป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ มาสู่การเป็นคอมพิวเตอร์มหาชน ที่ใคร ๆ ก็ใช้ได้ ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องยากมาก

SVOA จึงได้พัฒนาระบบภาษาไทยให้ใช้งานอย่างสมบูรณ์แบบทั้งระบบให้กับคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เพื่อคนไทยสามารถใช้งานได้ และเพิ่มประสิทธิภาพของ Office Productivity รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ Process เป็นภาษาไทย อาทิ เช่น ระบบ Word Processor, ระบบบัญชี: GL, AR, AP, Inventory, Payroll และอื่น ๆ ทำให้ SVOA ได้มีโอกาสเปิดตัวเข้าสู่ตลาดได้อย่างแท้จริงในรูปแบบของความคุ้มค่าการลงทุน

นอกจากนี้ SVOA ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทำ Dot Matrix Printer ให้สามารถพิมพ์บิลเป็นภาษาไทยได้ตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานราชการ รวมถึง Laser Printer ออก Fonts ภาษาไทย ทำให้เป็น Desktop Publishing ออกสู่ตลาดได้ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่พลิกโฉมให้ SVOA แตกต่าง และเหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่นจนเป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมและครองตลาดเกือบทั้งหมด

และกล่าวได้ว่า SVOA ยืนหยัดบนเส้นทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว และเพียงข้ามคืนจากการลอยตัวค่าเงินบาทในวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 (พ.ศ. 2540) ทำให้ SVOA ต้องปรับบทบาทจากบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงมากที่สุด เปลี่ยนเป็นการให้แต่ละแบรนด์เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเอง

“วิกฤตต้มยำกุ้งทำให้เราเปลี่ยนวิธีการมองโลก เราจะไม่ Put all the eggs in one basket โดยบทเรียนสอนเราว่า การขายเยอะไม่ได้หมายความว่าเราได้เยอะ เพราะการเป็นต้นไม้ใหญ่ ต้องรับแรงลมอย่างแรง

เราได้รับบทเรียนที่มีค่า ทำให้เรามีประสบการณ์และรอบคอบในการวางแผนมากขึ้น โดยมองว่าไม่จำเป็นต้องทำยอดให้ได้หมื่นล้านในแต่ละกลุ่มธุรกิจ แต่เราต้องรวมยอดขายทั้งหมดในเครือให้ได้หมื่นล้านบาท”

หลังจากวิกฤตนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดย SVOA ยังคงเป็นพันธมิตรด้านการตลาดและการขายกับแต่ละแบรนด์อยู่อย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยเน้นการทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่าย (Dealer) ทั่วประเทศ และโมเดิร์นเทรด ซึ่งเป็นตลาดที่เกิดขึ้นมาภายหลังและแพร่หลายตามห้างร้านต่าง ๆ ภายใต้กลุ่มธุรกิจบริหารช่องทางการจำหน่าย (ITD) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจกลุ่มที่หนึ่ง ที่จำหน่ายและให้บริการอย่างครบวงจร

คุณอนันต์พล นนทพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มธุรกิจช่องทางการจำหน่าย บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน)

ซึ่งปัจจุบัน คุณอนันต์พล นนทพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มธุรกิจช่องทางการจำหน่าย บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) รับหน้าที่ดูแลในส่วนนี้ รวมไปถึงงานบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ตัดสินอนาคตของบริษัทว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน

คุณอนันต์พล เปิดเผยกับ Business+ ว่า “ด้วยศูนย์บริการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เราจึงมั่นใจในประสิทธิภาพการบริการ และกระจายสินค้าว่า ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย

ตั้งแต่กลุ่มสินค้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนประกอบ การจำหน่ายหุ่นยนต์สำหรับภาคการศึกษา หุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ พร้อมกับการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีแบรนด์ชั้นนำ โดย SVOA มีการวางกลยุทธ์แบบผสมผสานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างร้านค้าตัวแทนจำหน่าย เพื่อเป็นการสร้างการซื้อซ้ำและต่อเนื่อง และกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับทิศทางของบริษัทฯ จากนี้ จะมุ่งเดินหน้าเน้นการพัฒนาธุรกิจอยู่บนแพลตฟอร์ม ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีก้าวสู่นวัตกรรมใหม่ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัล สานต่อเรื่องของปัญญาประดิษฐ์สู่อนาคต ‘Step of Evolution’ ตอบสนองการบริการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตร ผ่านตัวแทนร้านค้าปลีก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเน้นตลาดโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก

อีกทั้ง SVOA ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการเรียนการสอนหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สนับสนุนให้เด็กไทยต้องได้เรียน Coding พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับครูและนักเรียน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเรียนรู้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจที่สอง ได้แก่ Systems Integration กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์ (SI) คุณกุลภา กล่าวเสริมว่า บริษัทฯ ได้รับความเชื่อถือจากกลุ่มธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินในฐานะผู้นำระบบ ATM Switching ผู้ให้บริการด้านระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งเสริมการบริการของสถาบันการเงินครบวงจร เช่น Core Banking, Fraud Prevention, Internet Banking, Mobile Banking และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนั้นยังขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมประกันภัย โดยการจัดหาระบบ Core Insurance Software ให้แก่บริษัทประกัน

นอกจากนี้บริษัทยังให้บริการพัฒนาโซลูชันให้แก่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยประยุกต์เทคโนโลยี Robotic, AI, Big Data เพื่อเสริมสร้างให้ลูกค้ามีเครื่องมือในการทำงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อบริการประชาชน

“ธุรกิจที่ 2 คือ SI เราดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท Data One Asia ดำเนินกิจการด้าน Payment สำหรับกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินในทุก ๆ มิติ อาทิเช่น บริการ Digital Payment โดยหลายปีที่ผ่านมา มีหลายธนาคารที่ให้ความไว้วางใจเลือกใช้บริการเราในเรื่องการทำธุรกรรมพร้อมเพย์ และเราก็ขยายฐานไปยังกลุ่ม Insurance เช่นระบบ Core insurance หรือ Middle Office ที่จะช่วยบริษัทนายหน้าประกันสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับบริษัทประกันภัยเพื่อออกผลิตภัณฑ์และตอบสนองลูกค้าได้เร็วยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็พร้อมปรับตัวเองเสมอ (Enabler) ให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล จะยังคงก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยการตั้งบริษัทที่จะรองรับ Digital Age ที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ คือ บริษัท ดิจิเทค วัน ที่เน้นธุรกิจเชิงนวัตกรรมดิจิทัล รวมไปถึงการทำแอปพลิเคชันต่าง ๆ อาทิเช่น การลงทะเบียนข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล หรือ Biometrics (เทคโนโลยีสำหรับยืนยันตัวบุคคล เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา เป็นต้น)

Digital ID – ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพื่อใช้ในเรื่องของการพิสูจน์ตัวตนก่อนการทำธุรกรรมใด ๆ เพื่อลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสารส่วนบุคคลและเอกสารทางราชการ โดยยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยสำหรับประชาชนอีกด้วย

e-KYC – ระบบลงทะเบียนและยืนยันตัวตนขั้นสูง ทำให้ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีธนาคารหรือทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จากโทรศัพท์มือถือของตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา

e-Tax / e-Invoice – ระบบบริการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าตั้งแต่ SMEs ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมีการจัดทำใบกำกับและใบรับเป็นแสนใบต่อเดือนจัดให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถส่งให้ผู้ซื้อทันที และในเวลาเดียวกันเป็นตัวแทนนำส่งข้อมูลภาษีขายให้สรรพรการในฐานะ service provider เป็นโซลูชั่นที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจต่อไป สอดคล้องตามแผนยุทธศาตร์โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ที่สนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ครบวงจร ไร้กระดาษ และเชื่อมต่อสู้โลกการค้าสากลได้อย่างสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น

Document Signing – การลงนามเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ พวกเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องมีการลงนามโดยผู้มีอำนาจหรือผู้มีสิทธิ์ตามนโยบายบริษัท เช่น เอกสารสัญญา หรือเอกสารที่ใช้อนุมัติภายในองค์กร ซึ่งจะเข้ามาตอบโจทย์กับภาวะวิกฤต COVID-19 และการรักษา Social Distancing ซึ่งได้ถูกพัฒนาขึ้นตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงเพื่อรักษาความถูกต้องของข้อมูล และสอดคล้องกับพ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการลงนามด้วย Certificate องค์กรสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้

และยังมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ NDID (National Digital ID : การระบุตัวตนของผู้ใช้บริการบนโลกดิจิทัลให้สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ การสมัครขอสินเชื่อออนไลน์ เป็นต้น โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาหรือสำนักงาน เพื่อทำการแสดงตนสำหรับสมัครบริการ)

ซึ่งก็ต้องบอกว่า เบื้องหลังการทำงานนี้คือ การทำงานที่มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาร่วมด้วย อาทิ บริการ e-Tax หรือรูปแบบของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ครบวงจร สอดคล้องตามโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนธุรศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ซึ่งนี่คือบทบาทของ บริษัท ดิจิเทค วัน (Digitech One) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือที่เรามองว่า จะรองรับการเติบโตของเทรนด์ของโลกที่จะเข้าสู่ยุค Digital Age อย่างแท้จริง

ในขณะเดียวกัน สินค้าและบริการของ Data One Asia นอกเหนือการบริการด้าน SI และ Public Service ก็ต้องบอกว่า “การที่เราฟังเสียงลูกค้า และปัญหาของลูกค้า และนำมาพัฒนาเป็นบริการใหม่ อาทิ การให้บริการเกี่ยวกับภาครัฐตามนโยบาย Digital Thailand คือ การให้บริการประชาชนต้องยกระดับเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ทำให้เราเกิดกลุ่มธุรกิจที่ 3 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโครงการไอที (ITP) โดยเรามีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับภาครัฐมายาวนานเกือบ 40 ปี

รวมถึงยังมีกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจ, สถาบันการเงิน ที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการขยายงาน โดย
โซลูชั่นต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ SVOA ร่วมกับลูกค้าในการหาสิ่งดี ๆ เพื่อบริการสังคม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐเข้าสู่ยุค Thailand 4.0

อย่างช่วงเกิดวิกฤต COVID-19 เมื่อเร็ว ๆ นี้ เรามองว่าเป็นรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งของ SVOA ซึ่งภายในวิกฤตก็ยังมีโอกาสอีกมากมายรออยู่ โดยเฉพาะรูปแบบการทำงานและใช้ชีวิตที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทั้งชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัว”

คุณกุลภา ระบุ พร้อมยังเสริมว่า “กลยุทธ์การเติบโตจากนี้ของ SVOA เราจะไม่ยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิม ๆ แต่เราจะปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลเสมอ โดยบทบาทของ SVOA จะสอดรับบน 6 ด้านเด่น ๆ ได้แก่

การเป็น Digital Age Enabler นำเอาประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนโลกธุรกิจเช่น Big Data, Cloud Computing, AI, Robotics มานำเสนอให้ลูกค้ามองเห็นประโยชน์ในการนำไปใช้จริง

การเปลี่ยน Mindset ของลูกค้า ให้เห็นโอกาสในอนาคตร่วมกัน เช่น เทคโนโลยี Robotic ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่กำลังเข้าสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ ที่ต้องการหุ่นยนต์มาช่วยทำงานในหลาย ๆ ประเภท เราจึงจำเป็นต้องสร้างรากฐานการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานให้กับระบบการศึกษาไทย

การขยายตัวของตลาด Gaming ไม่ว่าจะเป็น โน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนประกอบ รวมทั้งอุปกรณ์ด้าน Gaming ก็เป็นโอกาสใหม่เช่นเดียวกัน เพราะมีอัตราการเติบโตสูง และได้รับการส่งเสริมให้นักเล่นเกมเติบโตไปสู่การเป็นนักแข่งเกมมืออาชีพ

การบุกเบิกตลาดใหม่ จำเป็นต้องมีช่องทางในการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมเพียงพอ อย่างการลงทุนของ SVOA ในบริษัทที่อยู่ในเครือ เช่น IT City

การเติบโตของ SVOA ยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากบริษัท Lease IT ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจด้านสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ส่งเสริม SMEs เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการขยายธุรกิจ และกำลังเตรียมตัวเพื่อขยายธุรกิจเข้าสู่ Micro Lending หวังให้บริการประชาชนในระดับส่วนบุคคล

นอกเหนือจากนั้น ยังมีโครงการอีกเป็นจำนวนมากที่รอการพิจารณานโยบายและกฎหมายบังคับใช้จากหน่วยงานภาครัฐจึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่จะเป็นโอกาสในการทำรายได้ของ SVOA ได้เช่นกัน

“กลยุทธ์ทางธุรกิจต่อจากนี้ เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค Digital Age เมื่อไหร่ที่พูดถึง Big Data ก็คือ Cloud และอนาคตก็คือ AI และ Robotic ที่มีอยู่ทุกที่ เช่น โรงพยาบาล, การบริการเชิงพาณิชย์ (Commercial Service) ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสนใจมาก และเรากำลังเข้าสู่ Education Robotic และ Commercial Robotic ซึ่งเข้าไปสู่ AI มากยิ่งขึ้น”

ด้านเป้าหมายการเติบโต คุณกุลภา เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงต้องติดตามกระแสของตลาด เทรนด์ของอุตสาหกรรมไอทีอยู่ตลอดเวลา และเชื่อว่าบริษัทฯ มีโอกาสที่จะโตอีกมาก แม้ในในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยอุตสาหกรรมไอที ไม่ได้เติบโตมานานกว่า 7 – 8 ปีแล้ว

“เรามองว่า โอกาสเติบโตขึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะ อีกทั้งเรายังมีธุรกิจใหม่ ๆ เช่น Gaming, Robotic, AI หรือ Biometric ทำให้ประเมินว่า บริษัทฯ สามารถจะเติบโตได้สูงกว่าอุตสาหกรรม”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ SVOA ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เคล็ดลับคือ วิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งอย่างคุณแจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ที่มักย้ำอยู่เสมอว่า ที่นี่ทุกคนมีโอกาสเติบโต และคุณกุลภา ตอบคำถามในประเด็นนี้ว่า “เราให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอย่างมาก เพราะบริษัทจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายโครงการในอนาคต

พนักงานทุกคนในองค์กร มีโอกาสแสดงความสามารถเต็มที่ในทุก ๆ มิติ เรามีเวทีสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะรับเข้ามาในตำแหน่งใดก็ตาม หมายความว่า เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนสามารถเติบโตเป็นหัวหน้าแผนก หรือแม้แต่ตำแหน่งผู้บริหารก็เป็นได้ หากมีความตั้งใจ Willing to Work, Willing to Learn, and Willing to Change

โดยเราผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างคนทำงานทั้งผู้บริหารรุ่นใหม่ และผู้บริหารรุ่นบุกเบิกที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อความมั่นใจที่จะให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง

บริศัทฯ ตระหนักดีว่าทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีค่าในการผลักดันองค์กรให้เจริญรุดหน้า บริษัทฯ จึงเน้นการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นพัฒนาองค์กรไปสู่ความเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้” ด้วยการยึดมั่นในปรัชญาความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า ด้วยการนำเสนอสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่สมเหตุสมผล บริการที่เป็นเลิศ ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการส่งมอบที่ตรงเวลา

จนถึงการให้ความสำคัญกับการสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท เพราะฉะนั้น เป้าหมายในการมุ่งสู่การเป็น Digital Age Enabler ของ SVOA จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะตลอดเวลากว่า 38 ปี ได้พิสูจน์แล้วว่า การปรับตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอด และ SVOA ก็สามารถทำได้ดีและกลายเป็นจุดแข็งจนกระทั่งถึงทุกวันนี้”