KillTwitter

‘อีลอน มัสก์’ นักฆ่า Twitter

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลกประจำปี 2566 จัดโดยนิตยาสาร Forbes มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 1.8 แสนล้านเหรียญ ซึ่งนายมัสก์เป็นทั้งนักธุรกิจและนักลงทุน โดยแต่ละธุรกิจที่ก่อตั้งและบริหารนั้นก็มีเรื่องราวไม่น้อย เรียกได้ว่ามักเป็นที่ถูกพูดถึงตามสื่อโซเซียลออนไลน์บ่อยครั้ง

อย่างกรณีการเข้าซื้อกิจการ Twitter แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง ด้วยมูลค่า 44,000 พันล้านเหรียญ ซึ่งก่อนที่จะจบปิดดีลนี้ได้นั้นก็มีเหตุฟ้องร้องเกิดขึ้นเนื่องจากนายมัสก์พยายามจะล้มดีลหลังบรรลุข้อตกลงซื้อขายมาก่อนหน้า หลังจากจบข้อครหาต่าง ๆ นายมัสก์ก็เข้ารับตำแหน่งซีอีโอ Twitter อย่างเป็นทางการ ซึ่งการซื้อกิจการครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของ Twitter ในด้านต่าง ๆ

โดยภายหลังการซื้อเสร็จสิ้นสิ่งแรกที่ทำหลังเข้ารับตำแหน่งก็คือ การปลดประธานกรรมการบริหาร (CEO) และผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (CFO) ออกในทันที และถูกเชิญออกจากอาคารสำนักงาน ขณะเดียวกันก็เลิกจ้างพนักงานกว่า 6,000 คน คิดเป็นประมาณ 80% ของพนักงานทั้งหมด เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท เรียกได้ว่าเป็นการ ‘ปฏิรูป’ แบบไม่มีใครได้ตั้งตัวทัน

สำหรับหลายเดือนที่ผ่านมา นายมัสก์ มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติคอมมูนิตี้ของ Twitter ให้ต่างไปจากอดีต อย่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบ Twitter ให้มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนด้วยการมีสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกตามหลังชื่อ การทวีตแต่ละข้อความด้วยจำนวนคำที่มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งการกระทำแต่อย่างของ นายมัสก์ นั้นก่อเกิดข้อพิพาทเป็นวงกว้างในเรื่องของความเหมาะสม อีกทั้งการแก้ไขแต่ละอย่างเหมือนจะยิ่งทำให้ Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงยาก

ทั้งนี้ ‘Business+’ จะพามาส่องกลยุทธ์ของ นายมัสก์ ที่จะขับเคลื่อน Twitter ให้เติบโตมีกำไร (?) ภายใต้แนวคิดแบบสุดโต่ง ดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เห็นสมควรถึงการเปลี่ยนแปลงของ Twitter ด้วยจะทำให้ภาพลักษณ์ที่เคยเป็นมาตลอดระยะเวลา 17 ปีต้องหายไป ดังนี้

Twitter Blue : ฟีเจอร์พรีเมียมที่ต้องจ่ายค่าบริการรายเดือน ซึ่งผู้ใช้จะได้สัมผัสสิทธิพิเศษต่างจากผู้ใช้ Twitter ทั่วไป อย่างการมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน (ติ๊กถูกสีฟ้าหลังชื่อ), ทวีตที่ยาวขึ้น สูงสุดถึง 4,000 ตัวอักษร เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงฟีเจอร์ใหม่ ๆ ได้ก่อนผู้ใช้ทั่วไป

ซึ่งฟีเจอร์ Twitter Blue นั้น เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่คาดจะช่วยสร้างรายได้ให้กับ Twitter ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากหากผู้ประกอบการที่ต้องการความน่าเชื่อถือ และการเข้าถึงที่มากต้องลงทะเบียนสมัครใช้บริการ แต่ภายหลัง นายมัสก์ ได้ออกมาตรการชั่วคราวอย่างจำกัดปริมาณการใช้งานต่อวัน มีผลทั้งบัญชีที่จ่ายเงินยืนยันตัวตนและผู้ใช้งานบัญชีทั่วไป สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้เป็นอย่างมาก สำหรับการกระทำนี้จากที่จะมีรายได้ก็อาจจะสูญเสียรายได้ไป

ลดงบประมาณ : นายมัสก์ ได้ประกาศปลดพนักงานในทุกระดับ เนื่องจากต้องการลดค่าใช้จ่าย และต้องการรักษาความเสถียรภาพทางการเงินของบริษัท แต่ทั้งนี้การปลดพนักงานจำนวนมากก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้เช่นกัน เพราะว่า บัญชีเสี่ยงต่อการถูกแฮ็กง่ายขึ้น ซึ่ง Sentiment นี้ทำให้ผู้ใช้เกิดความกังวล และลังเลที่จะเข้าถึงบริการของ Twitter

แต่งตั้ง CEO : นายมัสก์ ได้แต่งตั้งให้ ‘ลินดา ยัคคาบิโน’ (Linda Yaccarino) อดีตประธานฝ่ายขายโฆษณาของเอ็นบีซี ยูนิเวอร์ซัล (NBC Universal) นั่งแท่น CEO คนใหม่ของ Twitter แทนตนเอง ซึ่งการแต่งตั้งยัคคาริโนได้สร้างความหวังให้กับคนในวงการอุตสาหกรรมสื่อว่า Twitter จะรับมือกับความท้าทายเรื่องรายได้จากโฆษณาที่ลดลงได้ หลังบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ซื้อโฆษณาบน Twitter เป็นประจำสั่งหยุดชั่วคราว สาเหตุสำคัญมาจากความโกลาหลของ Twitter ในช่วงที่ผ่านมา

Rebrand : นายมัสก์ ได้รีแบรนด์ Twitter อย่างเป็นทางการ โดยแทนที่โลโก้ นกสีน้ำเงิน ของบริษัทด้วยตัวอักษร ‘X’ ซึ่งนายมักส์ต้องการให้ทุกแบรนด์ของตนเองมีความเชื่อมโยงถึงกันและกัน อีกทั้งต้องการให้ Twitter กลายเป็นแอปพลิเคชั่นแบบ SuperApp ที่จะมีทั้งคอนเท้นต์ วิดีโอ การส่งข้อความ บริการชำระเงินและการธนาคาร เรียกได้ว่าคล้ายคลึงกับ กับ SuperApp ในจีนอย่าง WeChat ที่ผู้คนสามารถใช้เพื่อความบันเทิงและซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ นอกเหนือจากการโพสต์อัปเดตและส่งข้อความ

แต่ทั้งนี้ก็มีกระแสจากชาวเน็ตที่ออกมาแสดงความเห็นว่า การรีแบรนด์ Twitter โดยเปลี่ยนจากโลโก้ นกสีน้ำเงินมาเป็นตัวอักษร ‘X’ นั้น เป็นการลดคุณค่า ลดความแพงของแบรนด์ ซึ่งตัวอักษร ‘X’ ถือเป็นเครื่องหมายของ ‘สื่อติดเรท 18+’ นั่นเอง จึงมีการล้อเลียนเกิดขึ้น อย่างเช่น จากเดิม ชาวทวิต ก็จะเป็น ชาวเอ็กซ์, คลิปทวิต ก็เป็น คลิปเอ็กซ์

อย่างไรก็ดีนี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่นายมัสก์กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งแต่ละอย่างนั้นมีทั้งกระแสลบและบวก แต่จากการสำรวจส่วนมากจะเป็นในเชิงลบมากกว่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ทำให้ผู้ที่เลือกใช้ Twitter เป็นสื่อโซเชียลมีเดียหลักในการท่องโลกอินเทอร์เน็ตเกิดความสับสน และการมีข้อจำกัดในเรื่องต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดความยุ่งยากตามมา ทั้งนี้ก็ต้องมาตามกันต่อว่าในอนาคตหลังรีแบรนด์ Twitter เสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น นายมัสก์ จะเดินเกมอย่างไรต่อเพื่อที่จะสามารถประคองตัวเลขผู้ใช้บริการไม่ให้ลดลงไปจากเดิมได้ จากปัจจุบันมีผู้ใช้ทั่วโลกอยู่ที่ 368 ล้านคน

.

ที่มา : วิกิพีเดีย, Forbes, BBC, TNN

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #มัสก์ #อีลอนมัสก์ #Twitter #นักฆ่าTwitter #ทวิตเตอร์ #นกสีน้ำเงิน #X #ทวิต