stock

อาชญากรรมคอปกขาวทำตลาดหุ้นป่นปี้ ครึ่งปีต่างชาติขายทิ้ง 115,681 ล้านบาท

ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา เกิดอาชญากรรมคอปกขาวกับตลาดหุ้นไทยหลายคดี ซึ่งอาชญากรรมคอปกขาวนั้น เป็นการกระทำการทุจริตของชนชั้นสูงที่มีตำแหน่ง และอำนาจกระทำความผิด โดยประเภทนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เพราะเป็นอาชญกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งด้านภาษีอากร , ด้านการเงิน หรือการธนาคาร ดังนั้น ยิ่งตลาดหุ้นของประเทศใดเกิดการทุจริตกันมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้วามเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศนั้นๆ ลดน้อยลง จนถูกถอนเงินออกจากตลาดหุ้น

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ตลาดหุ้นบ้านเราได้มีการกระทำผิดของผู้บริหารและบริษัทหลักทรัพย์หลายๆ คดีด้วยกัน ตามที่ ‘Business+’ เคยไล่เลียงเอาไว้จากคอนเทนต์ก่อนหน้านี้ เจาะลึก OTO ทำไมถึงถูกเทขาย ‘แตกต่าง’ หรือ ‘ซ้ำรอย’ หุ้น MORE-STARK

ซึ่งสรุปให้ฟังง่ายๆ ว่ามีกรณีใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นจนเป็นแรงกระเพื่อมเริ่มจาก ปลายปี 2565 บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) ที่มีการซื้อขายหุ้นอย่างผิดปกติ จนสืบสาวราวเรื่องและกลายเป็นคดีฉ้อโกง/ปั่นหุ้น ต่อมาเกิดประเด็นของ บมจ.สตาร์คคอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่มีประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ และนำมาสู่การตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสของงบการเงินด้วยการตกแต่งบัญชี

stock

โดยคดีของ 2 บริษัทฯ นี้ที่เกิดขึ้นติดต่อกันได้ทำให้เกิดภาพลบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างมาก ทั้งในแง่ของธรรมาภิบาลของบริษัทหลักทรัพย์ฯ และการทำงานที่ล่าช้า ไม่ทันเกมของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) รวมไปถึงสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุดยังมีประเด็นของ บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีทั้งบ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียม ซึ่งบริษัทแห่งนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่มักถูกสำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมถึงการทำรายการซื้อขายหุ้น หรือเข้าลงทุนอยู่หลายครั้งจากเงื่อนไขการซื้อหุ้นไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นเสี่ยงที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย

นอกจากนี้ ‘Business+’ ได้ทำการสืบค้นและพบข้อมูลทีน่าสนใจว่า หากเรารวมสถิติการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาในช่วงปี 2565 และปี 2566 ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค.2566 ทั้ง 2 ปีนี้มีการเติบโตของคนที่ถูกกล่าวโทษและถูกปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดยในปี 2565 และปี 2566 มีการกระทำผิดทางอาญาที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญดังนี้

  • ปี 2566 มีการทำผิดรวมทั้งการเปรียบเทียบ และกล่าวโทษ 121 ราย ทั้งหมด 43 คดี
  • ปี 2565 มีการทำผิดรวมทั้งการเปรียบเทียบ และกล่าวโทษ 309 ราย ทั้งหมด 142 คดี

หากเปรียบเทียบกับปี 2564 และปี 2563 ถือว่ามีการกระทำผิดน้อยมาก

  • ปี 2564 มีการกระทำผิด รวมทั้งการเปรียบเทียบ และกล่าวโทษ 107ราย ทั้งหมด 45 คดี
  • ปี 2563 มีการทำผิดรวมทั้งการเปรียบเทียบ และกล่าวโทษ 51 ราย ทั้งหมด 33 คดี

ซึ่งในปี 2565 มีการกระทำผิดมากที่สุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา จากคดีที่ทำให้เกิดการลงทุนกลุ่มคนจำนวนมากที่กระทำผิด นั่นคือ การกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งในครั้งนั้นกลุ่มบุคคลรวม 32 ราย ได้ร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในช่วงระหว่างวันที่ 18 ก.ค. 2565 – 10 พ.ย. 2565 จนเป็นกรณีที่โด่งดัง

นอกจากนี้ยังมีกรณี กล่าวโทษดำเนินคดีอาญาบุคคล 14 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีสร้างราคาหุ้นบมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหุ้น EARTH ในช่วงวันที่ 2-28 ก.ย.2559 , 12-13 ต.ค.2559 และในช่วงวันที่ 12-13 ต.ค.2559 พร้อมรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

นอกจากนี้กรณีของ STARK ก.ล.ต. กล่าวโทษกรรมการอดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564 – 2565

ทั้งนี้ อาชญากรรมคอปกขาวมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คดีที่ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษเยอะที่สุดคือการสร้างราคา และคดีที่ถูกเปรียบเทียบปรับเยอะสุดคือ การเปิดเผยฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน

ถึงแม้ว่า ก.ล.ต. จะสามารถสืบค้นเจอการทุจริตและสามารถกล่าวโทษบุคคลกระทำผิดได้ แต่ชาวเน็ตต่างมองว่าเหมือนเป็นการ ‘วัวหายล้อมคอก’ เพราะจริงๆ แล้วมีหลายๆ กรณีที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ทั้งในแง่ของธรรมาภิบาลของบริษัทหลักทรัพย์ฯ และการทำงานที่ไม่ทันเกมของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

Stock

ซึ่งแน่นอนว่าการเกิดคดีขึ้นติดต่อกันหลายๆ ครั้งก็ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ โดยเราพบข้อมูลพบว่า ตลาดหุ้นไทยได้มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีสัญญานที่ไม่ดีนัก โดย SET ได้ปรับตัวลดลงจาก 1,529 จุด 8.35% นับตั้งแต่ต้นปี และมีมาร์เก็ตแคปล่าสุด 18,749,810 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 54,281 ล้านบาท และต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 115,681 ล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค. 2566

หากนำมาเปรียบเทียบกับวันที่ 21 ก.ค.2565 ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 1,546 จุด มาร์เก็ตแคป 18,471,131 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 56,073 ล้านบาท และต่างชาติซื้อสุทธิ 1,703 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นการไหลของเม็ดเงินเพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าและปลอดภัยกว่าในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นดอกเบี้ย หรือ การเข้าไปลงทุนในตลาดพันธบัตรในช่วงที่อัตราผลตอบแทนสูง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยสูญหายไปจากการทุจริตในตลาดหุ้น

และประเด็นเหล่านี้จะนำมาสู่การขายทิ้งหุ้นของต่างชาติ และกองทุน รวมไปถึงนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งกรณีการถูกเทขายหุ้นทิ้งจะผลกระทบต่อภาพธุรกิจเป็นโดมิโน่ เพราะกองทุน หรือ นักลงทุนที่เข้ามาถือหุ้น และราคาหุ้นต่ำลงก็จะส่งผลให้เกิดผลขาดทุนจาก Capital Gain ซึ่งกระทบทั้งมูลค่าบริษัทของหุ้นตัวนั้นๆ และกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุน และนักลงทุนที่เข้าสู่ตลาดหุ้นเพราะต้องการผลตอบแทนจากการถือหุ้น ดังนั้น ศรัทธาในตลาดหุ้นไทยจึงสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เป็นที่น่าจับตาต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ก.ล.ต. และตลท. จะกู้วิกฤตนี้กลับคืนมาอย่างไร? ในสภาพเศรษฐกิจของไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ

หากใครอยากเข้าใจว่า อาชญากรรมคอปกขาวเกี่ยวโยงอย่างไรกับเศรษฐกิจ ซึ่ง ‘Business+’ ได้อธิบายเอาไว้ในคอนเทนต์ ‘อาชญากรรมคอปกขาว’ อาจเพิ่มมากขึ้น จากการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐฯ สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/white-collar-crime/

ที่มา : SEC, SET
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS