OTO

เจาะลึก OTO ทำไมถึงถูกเทขาย ‘แตกต่าง’ หรือ ‘ซ้ำรอย’ หุ้น MORE-STARK

กรณีของ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ถือเป็นอีกครั้งที่เกิดข่าวลบกับตลาดหุ้นไทย ไล่เรียงมาตั้งแต่ปลายปี 2565 เกิดประเด็น ของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่มีการซื้อขายหุ้นอย่างผิดปกติ จนสืบสาวราวเรื่องและกลายเป็นคดีฉ้อโกง/ปั่นหุ้น และเมื่อเร็วๆ นี้เกิดประเด็นของ บริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มีประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ และนำมาสู่การตรวจสอบพบความไม่โปร่งใสของงบการเงินด้วยการตกแต่งบัญชีจนมีรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาทจากรายได้จริงเพียงแค่ 2 พันล้านบาท

ซึ่งกรณีของทั้ง 2 บริษัทฯ นี้เกิดขึ้นติดต่อกันได้ทำให้เกิดภาพลบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างมาก ทั้งในแง่ของธรรมาภิบาลของบริษัทหลักทรัพย์ฯ (กรณีหุ้น MORE) และการทำงานที่ล่าช้า ไม่ทันเกมของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือแม้กระทั่งการฉ้อโกงของผู้สอบบัญชี ซึ่งจนถึงตอนนี้ประเด็นของ MORE และ STARK ก็ยังไม่ถึงสิ้นสุด ถึงแม้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปล่อยให้ซื้อขายได้แต่สภาพคล่องของทั้ง 2 บริษัทก็ลดลงอย่างมาก

โดยกรณีหุ้น MORE เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2566 ทาง ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 32 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อย่างไรก็ตามคดีความที่เหลือยังต้องสืบสวน โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยมีนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 12 ,13 ธันวาคม 2666 ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นล่าสุด ณ วันที่ 26 มิ.ย. มีมูลค่าการซื้อขายเพียง 834,200 บาท เท่านั้น จากเคยซื้อขายกันไปสูงสุดแตะระดับ 4 พันล้านบาท

ส่วนกรณีของ STARK ขณะนี้ทาง ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการหารือกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 26 มิ.ย. ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะดำเนินคดีกับใครบ้าง แต่ ก.ล.ต.จะต้องหาแนวทางดูแลแนวทางการเยียวยาสิทธิ์ผู้ชำระหุ้นกู้ รวมไปถึงนักลงทุน ซึ่งสภาพคล่องของหุ้น STARK ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันหุ้น MORE คือ เหลือมูลค่าการซื้อขายเพียง 3.48 ล้านบาท (วันที่ 26 มิ.ย.66) จากการซื้อขายเฉลี่ยก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไป

Stock

หุ้น OTO ถูกทุบติด Floor

ทีนี้กลับมาดูที่กรณีของ OTO ซึ่งเกิดเป็นประเด็นพูดถึงกันในวงการตลาดทุนอีกครั้ง ภายหลังจากมีความผิดปกติขอการซื้อขายหุ้นที่ทำให้หุ้นถูกทุบลงมาจนทำจุดต่ำสุดของวัน (Floor) 5 วันติดต่อกันในช่วงวันที่ 12-15 มิ.ย.2566 ซึ่งทาง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกมาแจ้งเตือนนักลงทุน ว่าหุ้น OTO มีการขายกระจุกตัวในกลุ่มบุคคล และถูก Force Sell (บังคับขาย) หลังราคาหุ้นปรับลดลงอย่างรุนแรง โดยการถูกบังคับขายเกิดขึ้นกับการซื้อขายที่ยืมโบรกเกอร์มาเทรดโดยวางเงินค้ำประกันจำนวนหนึ่ง หรือที่เรียกว่า Margin Trading ดังนั้น เมื่อมูลค่าหุ้นในพอร์ตลดลงจากราคาที่ดิ่งลงจนถึงระดับที่โบรกเกอร์กำหนดไว้ นักลงทุนจะถูกเรียกให้วางหลักประกันเพิ่มแต่หากไม่มีเงินมาวางเพิ่มก็จะถูกบังคับขาย ซึ่งจะยิ่งทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงไปอีก

โดยหุ้น OTO ในช่วง 10 วันที่ผ่านมาคิดเป็นการปรับตัวลดลงถึง 87.53% ซึ่งเหตุการณ์คล้ายกับราคาหุ้น MORE ในวันที่ 10 พ.ย. 2565 ปรับลงแรงไปทำจุดต่ำสุดของวัน ซึ่งการที่ราคาหุ้นดิ่งลงทำจุดต่ำสุดอีกวันถัดมามักจะถูกนักลงทุนขายจากอาการ Panic Sell จึงทำให้หุ้นเหล่านี้หากมี Floor แรกแล้วมักจะมี Floor สอง Floor สามตามมาติดๆ

แต่ในส่วนของ OTO นั้น สาเหตุแรกที่ทำให้เกิดการเทขายเกิดจากความกังวลเรื่องของการ Dilution Effect จากการออกวอร์แรนต์ OTO-W1 โดยบริษัทฯ ได้ออกวอร์แรนต์ที่มีระยะเวลาการแปลงสิทธิรอบแรก 30 พ.ค.2566 (ออกตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหลักทรัพย์ที่ใบสำคัญแสดงสิทธินั้นอ้างอิงอยู่ และสามารถแปลงตราสารนั้นเป็นหุ้นสามัญได้) โดยสัดส่วนการแปลง OTO-W1 ด้วยอัตราส่วน 1 : 1 เท่ากับว่าหากมีคนใช้สิทธิการแปลงวอร์แรนต์ทั้งหมด OTO จะมีหุ้นสามัญเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว

ซึ่งแน่นอนว่าการมีหุ้นเข้ามาใหม่นั้นก็จะทำให้เกิด Dilution Effect หรือพูดง่ายๆ คือ ผลกระทบที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทน้อยลง ซึ่งหมายถึงส่วนแบ่งกำไร และเงินปันผลที่จะได้รับก็จะได้ลดลงไปด้วย ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการเพิ่มทุน หรือออกวอร์แรนต์ราคาหุ้นจึงมักปรับตัวลงจากเพราะจะเท่ากับว่าบริษัทแห่งนั้นมีหุ้นเพิ่ม ในขณะที่กำไรสุทธิยังเท่าเดิม จึงทำให้ผู้ถือหุ้นเก่าที่พอจะมีกำไรจากการถือหุ้นมาก่อนแล้วทยอยขายทำกำไรออกมาก่อนที่ราคาหุ้นจะตกลง นั่นจึงเป็น Floor แรกที่หุ้น OTO ปรับตัวลงจาก 23.50 บาท เหลือ 16.50 บาท ในวันที่ 30 พ.ค.2566

ขณะที่เมื่อมองเข้าไปยังราคาแปลงสิทธิ OTO-W1 ซึ่งอยู่ที่หุ้นละ 3 บาท หากเทียบกับราคาในกระดานในช่วงนั้น ซื้อขายกันอยู่ที่ราวๆ 20 บาท ทำให้มีส่วนต่างกำไรจากหุ้น OTO ที่ซื้อ-ขายกันกับราคาวอร์แรนต์มากถึงราวๆ 17 เท่ากับว่าต้นทุนของคนที่ถือวอร์แรนต์นั้นต่ำกว่าหุ้นสามัญที่ซื้อขายในกระดาน หรือเรียกกันว่าภาวะ In-the Money ก็ทำให้เกิดการณ์คาดการณ์ว่า ผู้ถือวอร์แรนต์ที่มีต้นทุนถูกมากขนาดนั้นจะขายทำกำไรออกมาทันทีเมื่อหุ้นใหม่สามารถเข้าซื้อขายได้ ก็ยิ่งทำให้คนที่ถือหุ้นเทขาย และเมื่อมีแรงเทขายออกมาจำนวนมากก็เกิด Force Sell จนกลายเป็นหุ้นดิ่ง Floor อีก5 วันติดต่อกัน (12 -16 มิ.ย.2566)

ในมุมของการซื้อขายหุ้นบนกระดาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ พบข้อมูลของการขายกระจุกตัว ซึ่งอาจจะเกิดจากบัญชีเพียงไม่กี่บัญชี แต่ยังไม่ได้พบความผิดปกติเหมือนกับกรณีของหุ้น MORE ที่มีการปล่อยมาร์จิ้นเกิดเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น เราจึงต้องวิเคราะห์ไปถึงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น OTO ด้วยการแกะข้อมูลทางธุรกิจ และทางงบการเงิน

โดย ‘Business+’ พบว่ารายได้ของ OTO ในปี 2565 มาจาก 4 ส่วนหลักๆ ดังนี้

  • การให้บริการบริหารจัดการศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์แบบเต็มรูปแบบ (Fully Outsourced Contact CenterManagementService) มีสัดส่วนรายได้ 71.74% ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้สูงสุด หรือเรียกว่าธุรกิจหลัก
  • การให้บริการจัดหาลูกค้าสัมพันธ์ (CustomerService RepresentativeOutsourced) มีสัดส่วนรายได้ 22.40%
  • การให้บริการระบบศูนย์บริการให้ข้อมูล และอุปกรณ์(Contact Center Facility Outsourced) 4.13%
  • การให้บริการบํารุงรักษาศูนย์ให้บริการข้อมูล (MaintenanceService) 1.73%

สำหรับผลประกอบการของ OTO ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2565) ตามที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นดังนี้

  • ปี 2562 มีรายได้ 790.53 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 33.01 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้ 685.09 ล้านบาท และมีขาดทุนสุทธิ 48.85 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีรายได้ 657.16 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 55.68 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีรายได้ 634.89 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 116.22 ล้านบาท

ในแง่ของงบกำไรขาดทุน จะเห็นว่า ในปีที่ OTO กำไรสุทธิที่เติบโตในรอบ 4 ปีล่าสุด ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรพิเศษ โดยในปี 2562 ทาง OTO ได้มีการบันทึกรายได้ซึ่งเป็นรายได้อื่น (ไม่เกี่ยวกับการทำธุรกิจหลัก) ซึ่งเป็นรายได้จากดอกเบี้ยรับจากการฟ้องร้องลูกหนี้การค้า (เป็นหน่วยงานราชการจํานวน 25.6 ล้านบาท) จึงทำให้ปีดังกล่าวมีกำไรสุทธิสูงถึง 33 ล้านบาท

ส่วนปี 2563 บริษัทมีรายได้ลดลงถึง 10.2% โดยรายได้ในส่วนที่ลดลงมากที่สุดเป็นรายได้จากการให้บริการบริหารจัดการศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์แบบเต็มรูปแบบ (ลดลงไปมากถึง 22.5%) โดยในปีนั้น ลูกค้าที่ใช้บริการ Call center ในส่วนของธุรกิจสายการบินน้อยลงจากการปิดประเทศช่วง COVID-19 ระบาดทำให้การเดินทางลดลง และความต้องการใช้บริการน้อยลงตาม นอกจากนี้ OTO ยังต้องงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตจากลูกหนี้อีกด้วยเงินจำนวน 46.2 ล้านบาท

มาต่อกันที่ปี 2564 ในแง่ของรายได้รวมปรับตัวลดลง 12% โดยรายได้จากการให้บริการบำรุงรักษาศูนย์บริการข้อมูลลดลงมากที่สุดคือ 57.5% ส่วนรายได้ที่ลดลงเป็นอันดับที่ 2 คือ การให้บริการจัดหาเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งลดลง 16.3% ขณะที่รายได้หลักของบริษัทอย่างการให้บริการบริหารจัดการศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์แบบเต็มรูปแบบลดลง 9.9% และในแง่ของกำไรสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นรายได้จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทมากถึง 57.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการนำเงินไปลงทุนในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียน (พูดง่ายๆ คือ ไปลงทุนในหุ้นของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) และยังมีรายได้จากการกลับรายการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินอีกจำนวน 32.5 ล้านบาท (พูดง่าย ๆ คือ การได้รับเงินที่เคยหักออกจากบัญชีไปแล้วกลับคืนมาจากลูกหนี้ หรือสินทรัพย์บางประเภท) ทั้ง 2 ส่วนนี้ทำให้ OTO มีกำไรสุทธิสูงถึง 55.68 ล้านบาท ในปี 2564

ส่วนในปี 2565 เมื่อดูในส่วนของรายได้แล้วก็ไม่ได้เห็นการเติบโตของรายได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรายได้หลักเติบโตได้เพียง 3.9% แต่รายได้อื่นๆ ยังปรับตัวลดลง อย่างเช่นรายได้จากการให้บริการบำรุงรักษาศูนย์บริการข้อมูลลดลงไปถึง 43.3% และรายได้การให้บริการจัดหาเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ ลดลงไปถึง 19.2% ถึงแม้โดยรวมแล้วจะยังมีรายได้ที่ดีกว่าปี 2564 แต่ OTO ต้องประสบกับผลขาดทุนสุทธิ ซึ่งเกิดจากการขาดทุนจากเงินลงทุนในตราสารทุนบริษัทจดทะเบียน และการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าต่างๆ

จะเห็นได้ว่า เมื่อวิเคราะห์จากงบกำไรขาดทุนทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่า ผลประกอบการยังลุ่มๆ ดอน ๆ สลับขาดทุน และมีกำไรสุทธิปีต่อปี ซึ่งปีที่มีกำไรสุทธินั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการบันทึกกำไร และรายได้พิเศษ (ไม่ใช่รายได้จากการดำเนินธุรกิจ) ดังนั้น อาจพูดได้ว่า ธุรกิจหลักที่ OTO ทำอยู่ไม่ได้รุ่งเรือง และไม่ได้ทำให้ธุรกิจเติบโตเลย

oto

หันมาดูที่งบฐานะการเงิน หรือ งบดุล กันบ้าง ซึ่ง ‘Business+’ พบว่า สภาพคล่องด้านฐานะการเงินของ OTO ในปี 2565 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 979.40 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินรวมจำนวน 142.2 ล้านบาท และ OTO ยังมีอัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratios) ที่ค่อนข้างดีอยู่ที่ 5.03 เท่า แสดงให้เห็นว่า OTO มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน 5 เท่า และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.17 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีหนี้สินรวมน้อยมากเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น (มีหนี้ไม่ถึง 1 เท่าของทุน) จากส่วนของผู้ถือหุ้นล่าสุด 787.91 ล้านบาท

ตบท้ายที่งบกระแสเงินสด โดยข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2566 ทาง OTO มีเงินสดสุทธิที่ได้มาจากกิจกรรมดำเนินงานติดลบ 31.81 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินติดลบ 2.74 ล้านบาท แต่มีเงินสดสุทธิได้มาจากกิจกรรมลงทุน 74.74 ล้านบาท ส่งผลให้เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด สิ้นงวดอยู่ที่ 140.23 ล้านบาท

ซึ่งเงินสดสุทธิที่ได้จากกิจกรรมดำเนินงานของ OTO ที่มีค่าติดลบ แสดงให้เห็นว่า OTO กำลังเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเงินเข้าในช่วงเวลาที่ผ่านมา พูดง่ายๆ คือ OTO กำลังใช้เงินสดจ่ายเพื่อซื้อวัตถุดิบ จ่ายค่าบริการ จ่ายค่าแรงพนักงาน มากกว่าเงินสดที่มีเข้ามาจากการดำเนินธุรกิจหลัก

ขณะที่เงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินมีค่าติดลบเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ OTO กำลังใช้เงินสดจ่ายคืนเงินกู้ออกไปมากกว่าเงินที่บริษัทได้รับ (เช่น การกู้ยืมเงิน หรือผู้ถือหุ้นลงทุนเพิ่ม) โดยล่าสุด OTO มีกระแสเงินสดเป็นบวกเพียงแค่จากกิจกรรมการลงทุนเท่านั้น (เงินสดรับจากการขายธุรกิจย่อย หรือ เงินสดรับจากการขายที่ดิน โรงงาน)

ทีนี้มาดูที่อัตราส่วนการซื้อขายของ OTO ในช่วงสิ้นปี 2565 (ก่อนถูกทุบ) ซึ่งเราพบข้อมูลว่า OTO ถือเป็นหุ้นที่จัดว่า “แพง” กว่ามูลค่าที่แท้จริง โดยวิเคราะห์จากอัตราส่วน P/BV ซึ่งเป็นการเทียบราคาหุ้นหารด้วยราคาหุ้นตามบัญชี พบว่า OTO มีอัตราส่วนนี้สูงถึง 9.74 เท่า แสดงว่าเราซื้อหุ้นที่ราคาแพงกว่าเจ้าของเกือบ 10 เท่า จากค่ามาตราฐานที่เจ้าของลงทุนคือ 1 เท่า และหากเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมบริการซึ่งเป็นอุตสาหกรรมของ OTO มีค่าเฉลี่ยของ P/BV อยู่ที่ 2.52 เท่า ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ก่อนเกิดประเด็นหุ้น OTO ถือว่าแพงเกินมูลค่าที่ควรจะเป็นไปแล้วเรียบร้อย

นอกจากนี้ เมื่อดูว่าหุ้นตัวนี้จะสามารถคืนทุนในกี่ปี พบข้อมูลว่าช่วงสิ้นปี 2565 ไม่สามารถหาค่า P/E ได้ เพราะว่า OTO ในปี 2565 นั้นขาดทุนสุทธิไปกว่า 116.22 ล้านบาท จึงไม่สามารถประเมินได้ว่าหากเราลงทุนหุ้น OTO ในช่วงดังกล่าว จะคืนทุนในระยะเวลากี่ปี

บทสรุปจากการวิเคราะห์ทั้ง 4 ส่วน ทำให้ ‘Business+’ มองว่า ในแง่ของธุรกิจหลักที่ OTO ทำอยู่ขณะนี้ ไม่ได้ทำให้ธุรกิจเติบโต หรือมีความแข็งแกร่งทางการเงินเพิ่มขึ้น เห็นได้จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ติดลบ และยังดูได้จากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นบางปีซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวจากกำไรพิเศษเท่านั้น นอกจากนี้หากมองในแง่ของนักลงทุน ก็ต้องบอกว่าราคาหุ้นตัวนี้ค่อนข้างสูงกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นไปแล้ว

ถึงแม้ขณะนี้ ตลท. จะออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ OTO ไม่พบความผิดปกติอย่างไรก็ตาม แต่ทาง ตลท.ก็แนะนำให้ “หลีกเลี่ยงการลงทุน” เพราะจากปัจจัยพื้นฐานยังไม่เห็นทิศทางการเติบโตของธุรกิจที่ชัดเจนในระยะยาว และราคาหุ้นยังแกว่งตัวผันผวน

นอกจากนี้หากมองในแง่ของความเชื่อมั่นของนักลงทุนแล้วก็มีทิศทางที่ยังไม่ค่อยดีมากนัก โดย OTO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2557 ซึ่งขณะนั้นถือหุ้นโดย บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART ซึ่งทำธุรกิจด้านทางด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งภายหลังเข้าตลาดได้ 6 ปี ทาง SAMART ได้เทขายหุ้น OTO ออกมาเกลี้ยงพอร์ตเมื่อปลายปี 2563 ซึ่งเป็นการขายให้กับนักลงทุน 3 ราย คือ นายบุญเอื้อ จิตรถนอม ,นายสุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์ และนายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ซึ่งทำให้เกิดการบริหารโดยกลุ่มใหม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

และเมื่อหุ้น OTO โดยทุบในช่วงวันที่ 12-15 มิ.ย.2566 ทางผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 นายบุญเอื้อ จิตรถนอม ก็ดันเทขายหุ้นออกมาอีกจำนวน 2.66% ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ทรีนิตี้ ถึงแม้ยังคงถือหุ้นอยู่ 9.61% แต่การเทขายหุ้นออกมาในช่วงที่มีข่าวก็ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนดิ่งลงไปอีก ถึงแม้หุ้นจะยังเป็นลักษณะขึ้นวันลงวันแต่เมื่อมองในแง่ของมูลค่าบริษัทแล้ว OTO ก็มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) หายไปถึง 6 พันกว่าล้านบาท จาก 7,728 ล้านบาทเมื่อปลายปี 2565 เหลือ 1,364.37 ล้านบาท (27 มิ.ย.2566)

บทสรุปส่งท้าย

ถึงแม้ว่า ทั้ง 3 บริษัทจะเป็นกรณีที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่นักลงทุนทำได้เพื่อประเมินความเสี่ยงจากการลงทุน คือ การดูอัตราส่วนทางการเงินให้ครบทุกมิติ เพราะในส่วนของ STARK MORE และ OTO นั้น ทั้ง 3 บริษัทล้วนมีการซื้อขายหุ้นเกินมูลค่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งเราดูได้จากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ ๆ  และยังต้องตรวจสอบงบดุล ในส่วนของหนี้สิน ประกอบกับงบกระแสเงินสดเพื่อดูว่าบริษัทเหล่านี้มีกำไรจากการดำเนินงานและมีเงินสดเข้าสู่บริษัทจริงหรือไม่? เพราะเราไม่สามารถวัดได้ว่าบริษัทแห่งนี้น่าเข้าลงทุนหรือไม่เพียงแค่ตัดสินจากกำไรสุทธิเพียงอย่างเดียว

ที่มา : ก.ล.ต. , SETSMART
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS