TVD

‘ทีวี ไดเร็ค’ ขาดทุนเพิ่มขึ้นทุกปี หรือธุรกิจโฮมทีวีชอปปิ้งจะถึงทางตัน?

บริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของ TV Direct ประกาศงบไตรมาส 1/67 ขาดทุน 21.40 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการที่ทั้งกลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการในไตรมาสนี้เพียงแค่ 283.89 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนมากถึง 291.97 ล้านบาท (ลดลง 51%)

โดยบริษัทได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ประสบกับผลขาดทุนสุทธิว่า เกิดจากการที่กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการปรับกลยุทธ์ และปรับช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า โดยมีเพิ่มช่องการออกอากาศทั้งทาง Satellite TV และ Digital TV รวมทั้งการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภทที่มีความหลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม Business+ พบข้อมูลว่า หากเราดูข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2562 จะเห็นว่า บริษัทฯ ประสบกับผลขาดทุนสุทธิมาอย่างต่อเนื่อง จนสิ้นปี 2566 บริษัทมีผลขาดทุนสะสม 438.54 ล้านบาท

โดยปีแรกที่เริ่มขาดทุนคือปี 2564 ที่ขาดทุนไป 259.82 ล้านบาท โดยในขณะนั้น บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการในปี 2564 จำนวน 2,729.58 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 859.18 ล้านบาท หรือลดลง 23.94% ซึ่งเกิดจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากสถาณการณ์ระบาดของ COVID-19 จึงทำให้คำสั่งซื้อสินค้าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อน

ต่อมาในปี 2565 บริษัทขาดทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 348.61 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้บริษัทได้ปรับโครงสร้างทรานส์ฟอร์มบริษัทฯ เป็น Super Holdings เพื่อดำเนินธุรกิจการตลาดแบบตรงผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ ทีวีช้อปปิ้ง และคอลเซ็นเตอร์ และมีรายได้จากการขายและบริการในปี 2565 จำนวน 2,119.72 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนจำนวน 609.86 ล้านบาท หรือลดลง 22.34% หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าในทุกช่องทางการจำหน่ายลดลงอย่างมาก

และในปี 2566 บริษัทก็ยังคงขาดทุนเพิ่มขึ้น ด้วยการขาดทุนมากถึง 418.95 ล้านบาท โดยที่ทั้งกลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการในปี 2566 จำนวน 1,777.99 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 341.73 ล้านบาท หรือลดลง 16.12%

TVD

ซึ่งรายได้ที่ลดลงของกลุ่มบริษัทนั้น นอกจากจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจชะลอตัวที่ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคหดตัวลงแล้ว ยังเกิดจากภาพรวมตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งการเกิด Disruption จากเทคโนโลยีได้ทำให้จำนวนคนดูทีวีลดลง โดยเฉพาะกลุ่มดาวเทียมและการเกิดคู่แข่งรายใหม่ จึงคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จะยังคงติดลบหากพึ่งพาช่องทางทีวีโฮมชอปปิ้งเป็นหลัก

ดังนั้น ทางรอดของ ทีวีดี โฮลดิ้งส์ ในยุคที่คนเริ่มดูทีวีกันน้อยลงคือ ต้องปรับกลยุทธ์และปรับช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า โดยมีเพิ่มช่องทางทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภทที่มีความหลากหลายมากขึ้นและจะสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างต่อเนื่องได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการลดช่องบางรายการที่อัตราการทำกำไรต่ำ เพื่อบริหารค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าสื่อโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่งในปี 2565 บริษัทได้ปรับโครงสร้างใหม่เป็น Super Holdings พร้อมเปลี่ยนชื่อจาก ‘ทีวี ไดเร็ค’ เป็น ‘ทีวีดี โฮลดิ้งส์’  คงเป็นเพราะว่าต้องการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ธุรกิจเดิม เพราะอาจมองว่าธุรกิจทีวีโฮมชอปปิ้งใกล้ถึงทางตันในอีกไม่กี่ปี

โดยที่ผ่านมากลุ่มบริษัทได้หันไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขุดและขายบิทคอยน์ รวมไปถึงธุรกิจ Future (ธุรกิจแห่งอนาคต) ที่เข้าลงทุนในสตาร์ตอัพ เช่น ฟู้ด ออเดอรี่, เพนกวินเอ็กซ์, นาสเก็ต รีเทล, อี๊ตแล็บ, Blockfint

แต่อย่างไรก็ตามในปี 2566 บริษัทได้หยุดทำธุรกิจการขุดและขายบิทคอยน์และขายสินทรัพย์ไปแล้วทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้บริษัทได้ขายเงินลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพทั้งหมดออกไปเช่นกัน

ดังนั้น หากมองโครงสร้างธุรกิจในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ

  • กลุ่มธุรกิจทีวีโฮมชอปปิ้ง ซึ่งประกอบไปด้วยช่อง ทีวี ไดเร็ค, เอบีพีโอ, เอ็กซ์เพรสโซ่, ทีวีดี โบรกเกอร์ ซึ่งเป็นการตลาดทางทีวีดิจิตอล และการตลาดทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี ซึ่งขณะนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ตลาดทีวีช็อปปิ้งก็ยังทรงตัว ทำให้บริษัทต้องอาศัยการบริหารจัดการต้นทุนด้วยการวางแผนใช้มีเดียหรือค่าเช่าเวลาออกอากาศทางช่องทีวีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
  • ธุรกิจ Data Driven ซึ่งเป็นการขายสินค้าผ่าน Telesales Call center สื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งบัตรเครดิต บัตรสมาชิก ด้วยระบบ Data mining
  • E-commerce ขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ เว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ายังมีธุรกิจอื่นที่ยังมีประสิทธิภาพที่จะเติบโตขึ้นได้ ซึ่งอาจไม่ใช่การขายผ่านธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง เพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งการขายผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม และการขายแบบออฟไลน์ ด้วยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์หลากหลายองค์กรเช่น

1) งานกาชาด Red cross Fair ได้ร่วมกิจกรรมการขายสินค้าลดราคากับทาง Workpoint

2) บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด โดยบริษัทได้รับเลือกให้เป็น Exclusive partner ในการขาย souvenir ให้กับละครเรื่อง พรหมลิขิต และจะมีในเรื่องต่อ ๆ ไป

3) บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ขายสินค้าโรงงานในราคาพิเศษ ร่วมกับทีมงาน Wholesales ซึ่งได้มีการจัดขึ้นในหลายๆ ที่ ทั่วประเทศ ตลอดทั้งปี

4) บริษัท พีเอสไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งถือเป็น Strategic Partner ร่วมกันจัดงาน ฉลองครบรอบ 25 ปี ในปี 2567 นี้ โดยการจัดกิจกรรมร่วมกันด้วย โปรโมชั่น ลด แลก แจก ลุ้นรางวัลจนถึงสิ้นปี

เป็นที่น่าจับตามองต่อว่า หากไม่พึ่งพารายได้จากทีวีโฮมช้อปปิ้งเพียงอย่างเดียวแล้ว บริษัทฯ จะสามารถกลับมามีกำไรสุทธิได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่? โดยบริษัทฯ ได้เปิดเผยถึงแผนที่จะพลิกเป็นกำไร ไม่ว่าจะเป็นการขายธุรกิจที่เข้าลงทุนและไม่สร้างกำไรออกไป นอกจากนี้ยังจะมองหาธุรกิจ หรือเข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจสร้างกำไรได้ในอนาคต

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : Setsmart
ติดตามผ่าน TikTok ได้ที่ : https://www.tiktok.com/@thebusinessplus
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS