Riku Tazumi มหาเศรษฐีวัย 26ปี ดำเนินธุรกิจ Virtual YouTube Stars จนกำเนิดบริษัท Anycolor มูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์

เมื่อเทคโนโลยีในอนาคตใกล้ตัวเรามากขึ้น ทำให้เกิดอาชีพน่าสนใจอย่าง “Virtual YouTube Stars” (วีทูเบอร์) หรือทำความเข้าใจง่าย ๆ คือผู้สร้างคอนเทนต์ออนไลน์ที่ใช้ “อวตาร” ในการดำเนินรายการบน Youtube

ทำให้ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้จักตัวตนของเราจริง ๆ ไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถเป็นเหล่าคนดังบนยูทูปได้ เพียงแค่สร้าง ‘อวตาร’ ขึ้นมานั่นเอง ซึ่งขั้นตอนการสร้างก็ใช้เพียงกราฟิกจากคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีการจับภาพเคลื่อนไหวได้เสมือนจริงแบบเรียลไทม์ เช่น เราขยับมือขวาเจ้าอวตารของเราก็ขยับตาม

อย่างไรก็ดี Virtual YouTube Stars ที่สร้างขึ้นมาก็ต้องเน้นในด้านความเสมือนของหน้าตา ลายเส้น และอื่น ๆ ที่ถูกใจเหล่าผู้ชมแต่ละกลุ่ม จึงไม่แปลกที่อาชีพนี้ประสบความสำเร็จในประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางด้านแอนิเมชัน และเป็นเมืองแห่งโลกการ์ตูนเป็นทุนเดิมอย่าง “ประเทศญี่ปุ่น”

ที่น่าสนใจคือวีทูเบอร์จากบริษัท Anycolor ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้ไม่นาน มูลค่าบริษัทกลับเติบโตกว่า 8 เท่าหรือตีเป็นมูลค่ากว่า2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เรื่องราวของ บริษัท Anycolor น่าสนใจอย่างไร ‘Business+’ สรุปมาให้คุณรู้ ผ่านบทความนี้แล้ว

ย้อนกลับไปในปี2017 ที่กระแสของวีทูเบอร์ก็เริ่มแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ทำให้คุณ Riku Tazumi นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้เริ่มก่อตั้งบริษัท Ichikara และคลอดค่ายสำหรับสร้างวีทูบเบอร์ขึ้นในชื่อ “Nijisanji (นิจิซันจิ)”

ซึ่งทางค่าย Nijisanji ก็เริ่มต้นด้วยเทคโนโลยีใกล้ตัวอย่างแอปจดจำใบหน้าแบบกำหนดเอง หรือที่รู้จักกันดี ในคุณสมบัติ Animoji ดั้งเดิมบน iPhone X นั่นเอง และใช้เพื่อการจับภาพที่แสดงออกทางสีหน้าของผู้ใช้เพื่อทำให้อวาตาร์ Live2D เคลื่อนไหวเพียงเท่านั้น ซึ่งตัวแอปสามารถเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์สตรีมมิงได้ดีเลยทีเดียว

เรียกได้ว่าต้นทุนในการเริ่มต้นของค่ายไม่ได้สูงสักเท่าไหร่นัก และ Nijisanji ก็ครีเอคอนเทนต์ต่าง ๆ ตามสไตล์ของ วีทูเบอร์แต่ละตัวออกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี 2019 ที่กระแสตอบรับดี จึงเริ่มขยายค่าย Nijisanji ไปสู่ประเทศต่าง ๆ อาทิ อินโดนีเซียน, จีน, เกาหลีใต้

ต่อมาในปี 2020 เมื่อฐานแฟนคลับเยอะขึ้น เพื่อเอาใจเหล่าแฟน ๆ ในแต่ละประเทศทางค่ายก็เริ่มสากลมากขึ้นด้วยการนำภาษาอังกฤษมาใช้เป็นหลักให้กับเหล่าแฟน ๆ นั่นเอง ซึ่ง Nijisanji ก็ดูเหมือนจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับต้องเจอเรื่องราวสะดุดภายในปีเดียวกัน

โดยมีวีทูเบอร์ของค่ายถูกล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ ทำให้ทางค่ายต้องก่อตั้ง “ทีมปฏิบัติการเชิงรุกและการตอบโต้การใส่ร้ายป้ายสี” ขึ้นเพื่อปกป้องเหล่าวีทูเบอร์

และในปีที่แล้วก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียวบริษัทได้เปลี่ยนชื่อจาก Ichikara เป็น AnyColor และเปิดโครงการ “Virtual Talent Academy” ที่จะคัดเหล่าวีทูเบอร์น่าสนใจมาฝึกอบรม และพิจารณารับเข้าค่าย Nijisanji อีกด้วย

ในปัจจุบันบริษัทเติบโตจนทำให้จำนวนวีทูเบอร์ของ Anycolor  มีสมาชิกอยู่ 140 คนเลยทีเดียว ซึ่งแต่ละคนก็มีคอนเทนต์ตอบโจทย์แฟน ๆ ที่ต่างกันไป เช่น Luxiem (Nijisanji EN) เป็นวงที่มีสมาชิก 5 คนเดบิวต์ธันวาปี 2021 กระแสดีมากจนยอดโดเนทถล่มทลาย หรือ Noctyx (Nijisanji JP) วงศิลปินที่กระแสดีมีคนรู้จักเยอะ และมีคอนเทนต์อื่น ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น ไลฟ์ตรีมเกม ไลฟ์รีวิวของ ASMR จะเห็นได้ว่าทางบริษัทส่งเสริมให้คอนเทนต์ไร้ขีดจำกัด พร้อมทั้งยังให้ความสำคัญทั้งสมาชิก และเหล่าแฟนคลับทั่วทุกมุมโลกอยู่เสมอ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น บริษัทสามารถดึงเหล่านักลงทุนเข้าสู่บริษัทได้มากพอสมควรเลยทีเดียว โดยเอ้างอิงจากผลประกอบการเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า Anycolor ได้กำไรมากถึง 3 เท่าหรือคิดเป็น 2.1 พันล้านเยน(140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น (กรกฎา-กันยายน)

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สามารถดึงดูดผู้ชมทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มขึ้นสองเท่าหรือคิดเป็นประมาณ 1.6 พันล้านเยนจากไตรมาสก่อนนั่นเอง จนทำให้หุ้น Anycolor เพิ่มขึ้น 46% ในระยะเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น

ซึ่งหากเรามาดูเป้าหมายของบริษัทจะพบว่าพวกเขาต้องการเปลี่ยนความบันเทิงด้วยเทคโนโลยี และสร้างสรรค์คอนเทนต์ไร้ขีดจำกัด มีสีสัน และรู้ลึกรู้จริงมากขึ้น พร้อมทั้งอยากจะมอบประสบการณ์มหัศจรรย์ใหม่ ๆ ให้กับโลก และพวกเขาก็สามารถทำมันได้จริง ๆ

อ่านมาถึงตรงนี้คงต้องยอมรับว่า Anycolor ที่บริหารด้วย CEO วัย 26 ปี สามารถเติบโตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจริง ๆ จึงไม่แปลกเลยที่บริษัทสามารถดึงเหล่าแฟน ๆ และนักลงทุนทั่วโลกมาร่วมมือไปด้วยกันได้ ในอนาคตเราคงจะได้เห็นการเติบโตไม่มีที่สิ้นสุดของวีทูเบอร์เหล่านี้แน่นอน

ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทยเราก็มีเหล่าวีทูเบอร์น่าติดตามอยู่มากมายเช่นกัน และพวกเขาก็มีผลงานพร้อมท้งคอนเทนต์น่าสนใจมากมาย ในวันข้างหน้าเหล่าวีทูเบอร์มากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศของเรา

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเหล่าวีทูเบอร์ก็ใช้การสร้างอวตารคล้ายคลึงกับกรณีของเครือข่ายมือถืออย่าง AIS ที่ใช้เทคโนโลยี AI สร้างอวตารเพื่อมาใช้ในการโฆษณามากขึ้น ในส่วนนี้เองหากเรามาวิเคราะห์ดี ๆ จะพบว่าการสร้าง ‘อวตาร’ หนึ่งครั้งอาจลงทุนก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว และสามารถใช้โฆษณาแทนมนุษย์จริง ๆ ก็ย่อมได้

ฉะนั้นแล้ว ‘Business+’ คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะเห็นการที่แบรนด์อื่น ๆ หันมาใช้อวตารเพื่อลดต้นทุนการโฆษณาที่สูงเกินกว่าจำเป็นก็ย่อมได้ อีกทั้งอวตารเหล่านั้นอาจมักใจเหล่าแฟน ๆ ขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัว..

 

เขียนและเรียบเรียง : อโญศิริ สุระตโก

 

ที่มา : Anycolor, Bloomberg

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #Anycolor #Nijisanji#วีทูปเบอร์