The New Era of PTT สู่เส้นทางอนาคตที่ยั่งยืน

ความน่าสนใจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอายุครบ 41 ปี พร้อมกับได้ผู้นำคนใหม่ หลังประกาศวิสัยทัศน์ Powering Thailand’s Transformation ก็ต้องยอมรับว่าในฐานะกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ภายใต้การนำของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ CEO คนที่ 10 “คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

เพราะสภาพการดำเนินธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวยแบบเดิม ทั้งความท้าทายของระบบเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง จากวิกฤต COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจต่าง ๆ ประกอบกับสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ซึ่งกดดันราคาพลังงาน ส่งผลให้อุตสาหกรรมพลังงานของโลกจะต้องปรับตัวอย่างหนัก

ดังนั้น ภารกิจสำคัญที่รอพิสูจน์ฝีมือ CEO ปตท. คนใหม่ ในระยะเร่งด่วนปีนี้ คงหนีไม่พ้นการสร้างผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ให้พลิกกลับมาเติบโตภายใต้ภาวการณ์ที่ไม่ปกติ

สำหรับในระยะกลางและระยะยาว ปตท. จะยังคงขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค โดย

“ปตท. จะยังคงมุ่งมั่นในภารกิจการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ รวมถึงใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอดการดำเนินงานในธุรกิจพลังงาน รวมไปถึงพัฒนาธุรกิจใหม่ให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป”

คำกล่าวนี้ยิ่งสะท้อนชัดเจนจากคำพูดของคุณอรรถพลที่ว่า ปตท. จะใช้นวัตกรรมจากยุคดิจิทัลสำหรับพลิกโฉมธุรกิจ ซึ่งเปิดรับทั้งไอเดีย และ Business Model ใหม่ ๆ จากพันธมิตร

น่าสนใจว่า การดำเนินธุรกิจของ ปตท. และทิศทางธุรกิจแบบเจาะลึกจะเป็นอย่างไร เชิญทุกท่านติดตามได้จากสัมภาษณ์พิเศษในฉบับนี้…


ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกธุรกิจปัจจุบันยืนอยู่บนเส้นทางที่จะไม่เหมือนเดิม ครึ่งปีแรกนี้เราได้เห็นการล่มสลายขององค์กรธุรกิจชั้นนำมากมาย ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นองค์กรที่ปรับตัวได้ดีในยุค Technology Disruption ซึ่งการบริหารองค์กรในโลกวันนี้ ต้องใช้เทคโนโลยีในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนเกิดวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับ ปตท. ที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คนใหม่ “คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ได้เล่าให้เราฟังว่า

ความสำเร็จในการเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านพลังงานของไทยและในระดับภูมิภาค ไม่ได้ทำให้ ปตท. นิ่งนอนใจอยู่กับความสำเร็จเดิม ตรงกันข้าม ปตท. กลับปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยปัจจัยที่ทำให้ ปตท. ยังยืนหยัดเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานได้ คือ “การพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ”

ปตท. ประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา โดยความสำเร็จนั้นเกิดจากความต่อเนื่องในการดำเนินงาน จากการส่งผ่านนโยบายจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งผู้บริหารแต่ละท่านได้นำบริบทของสภาพแวดล้อม ณ ขณะนั้นมาเป็นความท้าทาย โดยมีการปรับแนวนโยบายให้สอดคล้องกับแต่ละยุคสมัยของตนเองมากขึ้น

สำหรับการบริหาร ปตท. ในยุคของผม ต้องบอกว่า บริบทได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เราต้องเน้นการลงมือทำมากขึ้น ผมจึงได้กำหนดเป็นแนวคิดที่วางไว้ให้

ปตท. คือ PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation

โดยให้ ปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย และเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งกลยุทธ์ที่จะทำให้บรรลุแนวคิดดังกล่าว คือ การสร้างความเข้มแข็งจากภายในหรือ Inside Out เพิ่มเติมด้วยการเปิดกว้างทางความคิดและรับบริบทจากภายนอกหรือ Outside In โดยใช้กลยุทธ์ PTT ควบคู่ไปกับวิสัยทัศน์ โดยจำง่าย ๆ และสั้น ๆ ว่า PTT by PTT  

ซึ่งกลยุทธ์ PTT ประกอบด้วย

Partnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตร จากโลกที่บริบทได้เปลี่ยนไป จากการเข้ามาของเทคโนโลยีมากขึ้น จนเทคโนโลยีได้เปลี่ยนตลาดและเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปอย่างรวดเร็ว ซึ่ง ปตท. ก็ต้องเปลี่ยนตาม

เราต้องปรับการทำงานที่เชื่อมโยงระหว่าง Inside Out และ Outside In มาผนวกเป็นหนึ่งเดียว หมายความว่า หากจะแข็งแกร่งได้ในโลกใบใหม่ องค์กรจะต้องมีพันธมิตร เนื่องจากตลาดใหญ่ขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็ว ปตท. จะพัฒนาเทคโนโลยีโดยยึดตนเองเป็นหลักไม่ได้แล้ว เพราะจะทำให้ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน จึงต้องมีการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีองค์ความรู้ และนำพากันไปสู่ความสำเร็จ

นอกจากนี้ องค์กรอย่าง ปตท. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ จึงสามารถทำตัวเองให้เป็น Platform แก่ธุรกิจอื่น ๆ ให้มาร่วมเดินทางในธุรกิจด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือ Start Up เพื่อการขับเคลื่อนคุณค่าจากมือพันธมิตรสู่มือผู้บริโภค เป็นการร่วมกันสร้าง New Business Model และ New Ecosystem

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเราอยู่ในยุคแห่งเทคโนโลยี ดังนั้น Technology for All จึงเป็นการนำเทคโนโลยีมาเป็นกลไกในการรุกตลาด ผสมผสาน Know – How นวัตกรรม และดิจิทัล จากทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยจะใช้เทคโนโลยีในทุกมิติของกระบวนการทำงาน เพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ รวมทั้งนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบ Social Innovation

สำหรับ T ตัวสุดท้าย คือ Transparency and Sustainability หมายถึงการเน้นเรื่องความโปร่งใสและความยั่งยืนขององค์กร เน้นให้พนักงานผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม (Governance, Risk และ Compliance หรือ GRC) พร้อมกับพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนด Sustainability DNA ของพนักงาน ปตท. ไว้ว่า

“Performance เราต้องเลิศ โลกเราต้องรักษ์  สังคมไทยเราต้องอุ้มชู”

จากคำสัมภาษณ์ของผู้บริหารคนใหม่ของ ปตท. จะเห็นได้ว่า ปตท. กำลังรักษาสมดุลระหว่างการทำธุรกิจรูปแบบเก่าควบคู่กับการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย นั่นเพราะด้านหนึ่งโดยโครงสร้างบริหารและการเป็นองค์กรที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย สถานะของ ปตท. มีทั้ง 2 สถานะ คือ 1. เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลัง ถือหุ้นเกิน 50% และ 2. เป็น บมจ. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

โดยทั้ง 2 สถานะนั้น มีกฎหมายหลากหลายในการกำกับองค์กร ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน ทำให้ต้องปรับการทำงานให้มีความสมดุล รวมทั้งมีความคาดหวังกับ ปตท. สูงในฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่ในขณะเดียวกันการที่ ปตท. อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ด้านหนึ่งต้องมีการต่อสู้ แข่งขันทางธุรกิจดังนั้น ธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินอยู่ ต้องมีการวางกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งเพื่อให้สามารถดำรงความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ พร้อมกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วย จึงจะเกิดความสมดุลให้แก่องค์กร

อย่างนั้นแล้ว “คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” มองเห็น 2 สถานะนี้ เป็นทั้งจุดอ่อนที่ต้องพัฒนาให้เป็นจุดแข็ง รวมทั้งมองเห็นจุดแข็งที่ควรเติมเต็มให้พร้อมรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ

“คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ปตท. มีสิทธิพิเศษต่าง ๆ ด้วยสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่บอกได้ว่า ปตท. ไม่มีสิทธิ์ใด ๆ ที่พิเศษมากกว่าองค์กรอื่น ซึ่งจุดนี้อาจตีความได้ว่า เป็นจุดอ่อนของเรา ที่คนนอกมองว่าอาจไม่คล่องตัวเหมือนกับเอกชน แต่เราก็อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมเสมอ ทั้งด้านการแข่งขันและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ เช่น ธุรกิจน้ำมันที่เปิดให้แข่งขันอย่างเสรีตั้งแต่ปี 2534 ซึ่ง ปตท. ได้พัฒนารูปแบบธุรกิจและกลยุทธ์การตลาดจนเป็นผู้นำในปัจจุบันนี้ หรือการทำธุรกิจกับต่างประเทศ ปตท. มีหน่วยงานการค้าระหว่างประเทศเพื่อซื้อขายน้ำมันโดยเฉพาะ โดยเมื่อซื้อน้ำมันดิบมา ไม่ได้ซื้อมาเพื่อป้อนให้โรงกลั่นเพียงอย่างเดียว แต่ ปตท. เป็นตัวกลางด้วย เช่น การซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลาง องค์กรก็วางแผนไปขายให้ภูมิภาคอื่น โดยเมื่อ ปตท. ซื้อขายมากขึ้น ยอดซื้อจะมีจำนวนมาก อำนาจในการต่อรองก็มากขึ้น สามารถแบ่งซื้อได้จากหลายที่ทั่วโลก ซึ่งในจุดนี้สามารถช่วยเหลือประเทศได้ในช่วงเวลาวิกฤต นี่จึงเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน”

สำหรับจุดแข็งอย่างธุรกิจพลังงาน อย่างที่รู้ดีว่า ปตท. ให้บริการครบวงจรด้านพลังงาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ที่เน้นมาตลอดหลายปีคือ ปตท. จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันให้สูงขึ้น ดังนั้นจะเห็นภาพการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจใน New S-Curve ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ระบุว่า

“Next Normal สำหรับ ปตท. ภาพที่ใกล้เคียงมากที่สุด คือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หรือกระทั่งธุรกิจพลังงานไฟฟ้า คือ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เชื่อมโยงกับธุรกิจพลังงาน ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาอย่างแน่นอน แต่คาดว่าไม่ใช่ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ ทั้งนี้ ปตท. ได้นำ Charger เข้าไปติดตั้งเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคแล้ว

ด้านธุรกิจที่เป็นดาวรุ่ง (Star) คือ ก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด และปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่พัฒนาสถานะของก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของคำว่า Gas Value Chain หรือ LNG Value Chain ซึ่ง ปตท. มีการลงทุนครบวงจรในธุรกิจก๊าซ กล่าวคือจากก๊าซเชื่อมโยงสู่ธุรกิจไฟฟ้า (Gas to Power) ต่อยอดสู่พลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังมีการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี (Energy Storage) อีกด้วย ส่วนธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม ปตท. แม้จะเป็นช่วงธุรกิจขาลง แต่มุ่งมั่นที่จะอยู่ใน 1st Quartile Refinery ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งเป้าเป็น Last Man Standing ด้วยทรัพย์สินที่มีคุณภาพ

หรือแม้แต่การลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจชีวเคมีหรือธุรกิจยา ที่เชื่อมโยงธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ระดับโลก คือ ยารักษามะเร็ง ที่ร่วมศึกษากับองค์การเภสัชกรรม หรือแม้แต่ ธุรกิจ Robotic ผ่านการทำงานของบริษัทลูกของ ปตท.

ไม่เพียงเท่านี้ “คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ยังได้กล่าวถึงความมั่นใจที่จะนำ ปตท. ให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงว่า

“สำคัญที่สุดคือ ปตท. ต้องดำเนินตามกลยุทธ์ ต้องดูแนวโน้มว่า New S-Curve กลุ่มใดที่สามารถเริ่มได้เร็วและมีคู่ค้าเพื่อให้สามารถจับมือไปพร้อมกันได้ รวมทั้งยังต้องหมั่นสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และท้ายที่สุด ปตท. จะไม่ทิ้งบทบาทการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับองค์กร

อย่างไรก็ตาม ปตท. จะไม่จำกัดตัวเอง แม้ภาพที่บอกว่า การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานจะยังไม่ชัด 100% นั่นหมายถึง ธุรกิจพลังงานมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น น้ำมันอาจมีความต้องการใช้ลดลง แต่จะยังไม่หมดไปจากโลกใบนี้ในระยะเวลา 20 ปี

ทางออกที่มั่นคงที่สุดคือ ปตท. จะรักษาสมดุลของรายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาอนาคตใหม่ ๆ ซึ่งก็คือ New S-Curve ผ่านการทำงานที่อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาผลักดันให้เกิดรายได้ก้อนใหญ่เข้ามาในอนาคต”

ด้วยแนวคิดและกลยุทธ์ที่ผนวกรวมกันกลายเป็น PTT by PTT นี้เอง จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ ปตท. ฝ่าฟันกับความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างราบรื่น พร้อมทั้งสร้างความสำเร็จบทใหม่ให้แก่ประเทศ ด้วยฝีมือการบริหารงานของผู้บริหารคนที่ 10 แห่งองค์กรพลังงานระดับชาติ “คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์”