‘นวัตกรรม’ จุดท้าทายองค์กรยุคดิจิทัล : PRODUCT INNOVATION AWARDS 2020

“ผู้บริโภคในยุคใหม่ จะเป็นผู้บริโภคที่มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี ชอบความท้าทาย สามารถปรับตัวได้ดี มีความต้องการสินค้าและบริการที่มีความเรียบง่าย ใช้ง่าย ตรงไปตรงมา คำนึงถึงเรื่องสุขภาพ

แนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวข้างต้น จะสร้างความท้าทายอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ดังนั้น การพัฒนาและจัดจำหน่ายสินค้าที่มีนวัตกรรม มีความจำเป็นอย่างมากในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล”

คำกล่าวของ คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อมุมมองแนวคิดการพัฒนาและจัดจำหน่ายสินค้าที่มีนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่


ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น จะส่งผลให้ลูกค้ามีเงื่อนไขในการซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น และมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ลดลง และมีแนวโน้มที่ลูกค้าจะใช้งานวิจัยเป็นหลักฐานในการพิจารณาซื้อสินค้าและบริการ

คำถามคือ  ความท้าทายต่อจากนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค หากองค์กรใดไม่มีหรือไม่พัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม จะมีผลกระทบต่อธุรกิจหรือไม่ อย่างไร?

คุณสุพันธุ์ระบุว่า “องค์กรที่ไม่มีการพัฒนาสินค้าหรือบริการด้วยนวัตกรรม เท่ากับจะไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล อาจเผชิญความท้าทายที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจในอนาคตได้ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ย่อมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับธุรกิจต่าง ๆ

เห็นได้จากองค์กรและภาคธุรกิจมากมาย อาทิ Apple, Tesla Motor, SpaceX, Facebook, Netflix เป็นต้น ต่างมีโมเดลทางธุรกิจและบริการรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีการนำเอาเทคโนโลยี ไอทีในรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือในการผลิตสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัล เช่น

  • การใช้นวัตกรรมจะช่วยลดต้นทุน เช่น การใช้ AR VR ที่สร้างรูปจำลองของสินค้า และลูกค้าสามารถออกแบบตกแต่งสินค้าให้ตรงกับความต้องการและรสนิยมของแต่ละคนได้เสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ ขณะเดียวกันจะช่วยให้ภาคธุรกิจลดการใช้พื้นที่ในการจัดแสดงสินค้า และลดจำนวนการผลิตสินค้าตัวอย่างลง
  • การใช้ 3D Printing ผลิตงานต้นแบบเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า จะมีต้นทุนต่ำกว่าการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ CNC Machining เป็นต้น
  • การใช้เทคโนโลยี Cloud Computing ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามต้องการ จะช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อย่างการติดตั้ง Hardware อีกทั้งยังสามารถเพิ่มขนาดความจุ CPU หรือขยายพื้นที่ Storage สำหรับจัดเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา มีความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ เวลา หรืออุปกรณ์ ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีเงินลงทุนสูงนักยังสามารถใช้บริการระบบ Cloud สาธารณะได้
  • Internet of Things หรือ IoT จะทำให้เข้าถึงข้อมูลได้แบบ Real Time จากที่ใดก็ได้ทั่วทุกมุมโลกส่งผลให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลหรือบริการที่ต้องการได้ทันที ขณะที่การใช้ IoT จะช่วยให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะระบบอัตโนมัติสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ลดสินค้าคงคลัง

อีกทั้งกระบวนการผลิตยังสามารถดำเนินไปได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีมนุษย์คอยควบคุมสั่งการ ธุรกิจยังเก็บข้อมูลและพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าเพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงสินค้าและบริการ ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างกันไปของผู้บริโภคแต่ละคน ยิ่งไปกว่านั้น IoT จะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่ทันสมัย และช่วยลดเวลาในการทำการตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้ด้านหนึ่งของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่นำเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ปรับเปลี่ยนสู่สินค้าเชิงนวัตกรรมมากขึ้น แต่ต้องอย่าลืมว่ายังมีบางธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัว และนำใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่มาเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าและบริการได้ ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจมีต้นทุนที่สูง สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ กลุ่มลูกค้าใหม่ และช่องทางในการหารายได้ใหม่ ๆ สูญเสียอำนาจการต่อรองด้านราคา ยอดขายลดลง ลูกค้าถดถอย และอาจกระทบต่อการอยู่รอดของธุรกิจในที่สุด”