Newyear

‘ปีใหม่’ คาดเงินสะพัดแสนล้าน กับของขวัญที่อยากได้ ‘ลดค่าครองชีพ’

เทศกาลปีใหม่จะตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่สากลที่เหมือนกันทั่วโลก โดยเกือบทุกคนจะเริ่มเฉลิมฉลองกันตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมเพื่อสร้างบรรยากาศให้มีแต่ความสนุก ครื้นเครง รวมถึงมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปพบเจอครอบครัวหลังจากที่ไม่ได้เจอกันนานเพื่ออยู่ร่วมกันก่อนการเปลี่ยนผ่าน พ.ศ.ใหม่ ซึ่งนี่ถือเป็นวัฒนธรรมที่เหมือนกันแทบทั่วโลกจึงทำให้เทศกาลนี้สร้างเม็ดเงินสะพัดอย่างมหาศาล

สำหรับเทศกาลปีใหม่ไทยในปี 2567 ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจได้เปิดเผยผลสำรวจประชาชนจำนวน 1,258 กลุ่มตัวอย่างระหว่างวันที่ 10-16 ธ.ค.2566 พบว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2566 – 1 ม.ค. 2567 อยู่ที่ 105,924 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเงินสะพัดที่ 103,039 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.8% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี

ทั้งนี้แผนการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ 2567 จำนวน 105,924.21 ล้านบาท แบ่งเป็น เลี้ยงสังสรรค์ 12,543.02 ล้านบาท, ทำบุญ 9,109.48 ล้านบาท, อุปโภคบริโภค 19,418.56 ล้านบาท, สินค้าคงทน 4,951.96 ล้านบาท และสินค้าฟุ่มเฟือย 1,723.97 ล้านบาท ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 54,074.31 ล้านบาท และต่างประเทศ 4,104.56 ล้านบาท

โดยเทศกาลปีใหม่ของปี 2567 ถือเป็นช่วงที่ผ่านสถานการณ์ COVID-19 หนัก ๆ มาแล้ว 2 ปี ซึ่งนี่จึงอาจทำให้ประชาชนมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้นจากในปีที่ผ่านมาที่ต้องมีการเว้นระยะห่าง งดพบเจอ รวมถึงต้องระวังในเรื่องใช้จ่าย จึงทำให้เทศกาลปีใหม่ของปี 2567 มีเงินสะพัดที่มากกว่า

อย่างไรก็ดีในแง่ของการแจกของขวัญปีใหม่ทางภาครัฐก็มีการแจกให้ทุกปี ซึ่งแต่ละปีของขวัญที่แจกให้กับประชาชนนั้นอาจจะไม่เหมือนกันแล้วแต่ความเหมาะสมในช่วงของเวลานั้น ๆ ซึ่งในปี 2567 สิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่นั้น ก็คือ อยากให้ลดค่าของชีพสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ โดยจากผลการสำรวจมีสัดส่วนถึง 45.6% รองลงมา 24.6% อยากให้กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว, 16.7% อยากให้มีการปฏิรูปภาครัฐ ปราบปรามการทุจริต รัฐบาลโปร่งใสตรวจสอบได้, 11.6% อยากให้ดูแลค่าจ้าง/เงินเดือนให้มีความเหมาะสมกับความสามารถและค่าใช้จ่าย และ 1.5% อยากให้ลดภาษีส่วนบุคคล

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ประชาชนอยากได้เป็นของขวัญมากที่สุด ก็คือ การลดค่าครองชีพ เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงในชีวิตประจำวัน ‘Business+’ จึงได้ทำการสำรวจปัจจัยที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น พบว่า

1.ราคาของพลังงานและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น : จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น โดยส่วนมากไทยได้มีการนำเข้าจากประเทศในตะวันออกกลาง จึงใช้ราคาอ้างอิงเป็นน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเมื่อราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้บ้านเราต้องมีการปรับราคาขึ้นตาม ที่ผ่านมาราคาของพลังงานและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน รวมถึงการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการที่มากกว่าปกติ จึงเหมือนเป็นยาเร่งที่ทำให้ราคามีการดีดตัวขึ้นสูง

2.การขาดแคลนสินค้า : เมื่อสินค้ามีจำนวนที่น้อยกว่าความต้องการ ก็ยิ่งทำให้เป็นที่จับต้องได้ยาก ซึ่งก็ส่งผลให้ราคามีการปรับตัวขึ้นสูงมากกว่าความเป็นจริง

3.ค่าจ้างเพิ่มขึ้น : แรงงานในปัจจุบันถือได้ว่าอาจไม่เพียงพอต่อตลาดแรงงาน ยิ่งโดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ ความเชี่ยวชาญในด้านเฉพาะทาง ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วง COVID-19 ระบาดทำให้คนจำนวนมากลาออก และเปลี่ยนงาน จึงทำให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดใจลูกจ้าง แต่นัยสำคัญของการขึ้นค่าจ้างก็เพื่อให้มารับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

4.ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น  : การเพิ่มขึ้นของต้นทุนนี้ก็เป็นผลกระทบที่มาจากราคาของพลังงานและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เรียกได้ว่าเชื่อมโยงเกือบทุกภาคส่วน

5.นโยบาย  : การจัดทำนโยบายภาครัฐที่ได้ปล่อยมาออกมานั้น เป็นช่องโหว่ที่ทำให้ร้านค้ามีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อให้ได้ซึ่งผลกำไรที่มากกว่าเดิม อย่างเช่น มาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น ซึ่งการที่สินค้ามีการปรับขึ้นก็ยากที่จะปรับลง ทั้งนี้เมื่อโครงการได้สิ้นสุดลงภาระก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภคนั่นเองที่ต้องจ่ายแพงขึ้นแต่ได้ปริมาณที่เท่าเดิม

โดยจากทั้ง 5 ข้อที่ยกตัวอย่างมานั้นอาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าครองชีพมีการปรับตัวขึ้นสูง ซึ่งการที่ประชาชนขอของขวัญโดยให้ภาครัฐช่วยลดค่าครองชีพให้นั้นเพราะอยากบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว เพื่อให้การเงินมีสภาพคล่องขึ้น และสอดคล้องกับผลตอบแทนที่ได้รับในแต่ละเดือน ทั้งนี้ก็ต้องมาติดตามดูว่าของขวัญปีใหม่ที่ทางภาครัฐจะมอบให้ประชาชนนั้นจะมีอะไรบ้าง

.

ที่มา : IQ, Prachachat, rabbitcare

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ปีใหม่ #เทศกาลปีใหม่ #เศรษฐกิจ #NewYears