“New Global Health Care” โอกาสใหม่ของทุกอุตสาหกรรม

การระบาดของไวรัส COVID-19 ได้สร้างความตึงตัวให้กับทุกส่วนของระบบสาธารณสุขทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบห่วงโซ่อุปทาน ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมในเรื่องของสุขภาพและการดูแล การมาของ COVID-19 ได้ทำให้เกิดการเร่งเพื่อเปลี่ยนผ่านทั่วทั้งระบบนิเวศ และบังคับให้ระบบสาธารณสุขทั้งในส่วนของเอกชนและรัฐบาล จำเป็นต้องปรับตัวผ่านการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้

การเคลื่อนย้ายเหล่านี้เกิดจากผลของการระบาดอันรุนแรง ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นในเรื่องของการตัดสินใจในเรื่องสุขภาพของผู้คน การตอบรับการนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมไปถึงนวัตกรรมดิจิทัลอื่น ๆ การผลักดันให้เกิดการนำเอาข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ การทำงานร่วมกันของภาคเอกชนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในเรื่องการพัฒนาวัคซีนและการักษาโรค ท่ามกลางพลังขับเคลื่อนเหล่านี้ รัฐบาล ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข คนจ่ายเงิน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลกกำลังถูกท้าทายจากการปรับตัวและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งนี่คือโอกาสอันดีที่ผู้นำอุตสาหกรรมจะใช้องค์กรและระบบนิเวศตอบสนองต่อไวรัส COVID-19 ในช่วงจังหวะเวลาแบบนี้ เพื่อแก้ปัญหาการตึงตัวของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะมอบทางเดินใหม่ที่จะเติบโตในอนาคตหลังวิกฤตครั้งนี้

ประเด็นสำคัญของอุตสาหกรรมสุขภาพในปี 2021

1.ผู้บริโภคและประสบการณ์ของมนุษย์

ผู้บริโภคทั้งหลายจะช่วยกันผลักดันและเร่งจังหวะของการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจนี้ ด้วยความจำเป็นและเป้าหมายของพวกเขาที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ บริการ และเครื่องมือต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ความพึงพอใจของพวกเขากำลังผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่เป็นไปได้ในด้านดิจิทัล ทั้งในแบบตามความต้องการเฉพาะ และการเชื่อมต่อที่ดีเยี่ยมระหว่างผู้ป่วยกับคลินิก โดยความต้องการในลักษณะแบบนี้จะขับดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การส่งมอบการดูแลเฉพาะบุคคล ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ ทางสังคม และเศรษฐกิจ มาตรฐานที่พวกเขาคาดหวังจะเป็นตัวการผลักดันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยกระดับการดำเนินงานต่อผู้ป่วยและเผชิญหน้ากับการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค เพื่อจะพบกับประสบการณ์ด้านสุขภาพของมนุษย์แบบองค์รวม

ไวรัส COVID-19 ได้เข้ามาท้าทายความรู้สึกของผู้บริโภคในเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดี ให้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้น อยากเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และได้ให้อำนาจในการบริหารจัดการสุขภาพของพวกเขาเองอีกด้วย ผู้บริโภคกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพของพวกเขา การติดต่อสื่อสารกับคุณหมอของพวกเขาในวิธีที่แตกต่างไปจากเดิม และการเปลี่ยนทัศนคติของพวกเขาในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล พวกเขาต้องการความสะดวกสบาย สิทธิในการเข้าถึง และความโปร่งใสด้านการดูแลรักษา รวมไปถึงต้นทุนการรักษาด้วย แต่ละปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลสำคัญต่อความรู้สึกของผู้บริโภค และปฏิกิริยาต่อระบบสุขภาพของพวกเขา

จากการสำรวจของ Deloitte บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านบัญชีของโลก ในประเด็นเกี่ยวกับ Health Care ทั่วโลก ในมิติของผู้บริโภคและประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้

1.ผู้บริโภคจำนวนมากจะแสดงออกถึงความต้องการมีส่วนร่วมและเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

ผู้บริโภคจำนวนมากจะเต็มใจที่จะบอกกับหมอของพวกเขามากขึ้น เมื่อพวกเขาไม่เห็นด้วยกับหมอ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลด้านต้นทุนและประเด็นสุขภาพ การติดตามเงื่อนไขทางสุขภาพของพวกเขา รวมไปถึงการใช้ข้อมูลเพื่อทำการตัดสินใจ และการเข้าถึงและใช้บันทึกข้อมูลด้านการรักษาของพวกเขา

2.ผู้บริโภคจะใช้การรักษาผ่านทางโลกเสมือนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และวางแผนจะใช้มันอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ COVID-19 เริ่มโจมตีโลกใบนี้ การใช้งานการรักษาผ่านทางโลกเสมือนเพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 2019 ไปสู่ 19% ในช่วงต้นปี 2020 ก่อนที่เดือนเมษายน 2020 จะพุ่งขึ้นไปถึง 28% และเป็นไปได้ว่าหลังการระบาดจบ คนกว่า 80% จะยังคงใช้งานมันต่อไป

3.ผู้บริโภคจำนวนมากจะใช้เทคโนโลยีในการติดตามสุขภาพ

หลายฝ่ายเชื่อว่าจะมีการเติบโตของจำนวนผู้ใช้เทคโนโลยีในการสั่งยา ติดตามสุขภาพ และวัดสมรรถภาพทางกายมากขึ้นในอนาคต และ 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานก็มองว่ามันช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

4.ความสัมพันธ์ที่มีความไว้วางใจในผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษายังคงเป็นจุดสูงสุด

ปัจจัยสำคัญระดับต้น ๆ ของไอเดียในเรื่องของประสบการณ์การรักษาสุขภาพ ซึ่งจะรวมถึงคุณหมอซึ่งเป็นผู้รับฟังและต้องใส่ใจต่อพวกเขา พร้อมที่จะไม่เร่งรัดพวกเขา และมีการสื่อสารอย่างชัดเจนกับพวกเขา ขณะที่ระบบสุขภาพ บริษัทเทคโนโลยี และสถาบันอื่น ๆ ที่ได้มีการปล่อยบริการรักษาผ่านโลกเสมือนออกมานั้น มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องส่งมอบประสบการณ์ส่วนบุคคลแบบเดิมให้ได้ในขณะที่มีการเข้ามาใช้บริการ

คาดการณ์ขนาดตลาด Digital Health ทั่วโลก ปี 2021-2025

2021                           268,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2022                           334,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2023                           417,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2024                           523,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2025                           657,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : Roland Berger

2.แบบจำลองนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ

องค์กรที่ทำการส่งมอบบริการด้านสุขภาพทั่วโลก กำลังพยายามดิ้นรนหาทางแก้ไขความท้าทายที่เกิดขึ้นในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาที่จับต้องได้ของระบบสุขภาพ การเข้าถึง คุณภาพ และประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของแบบจำลองนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ สามารถขัดขวางความพยายามของพวกเขาในการปรับและพัฒนาสำหรับอนาคต

COVID-19 ได้เข้ามาเร่งให้เกิดความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่าน แบบจำลองนวัตกรรมการดูแลสุขภาพที่มีอยู่ในวันนี้ ให้มุ่งไปยังผู้ส่งมอบ มุ่งไปที่สุขภาพทางกายเบื้องต้น การจัดลำดับที่ตั้ง และรูปแบบการชำระเงินที่อยู่เหนือความจำเป็นของผู้บริโภค ประสบการณ์จะถูกแยกออกมาให้หลากหลายขึ้น รูปแบบการทำธุรกรรม การลดความซ้ำซ้อน การลดความคลาดเคลื่อน ลดการมีปฏิสัมพันธ์ทั่วไปที่ไม่เชื่อมต่อท่ามกลางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รูปแบบเหล่านี้สามารถดำเนินการให้เข้มข้นขึ้นได้จากที่มีอยู่ ซึ่งนั่นจะทำให้องค์กรสามารถส่งมอบบริการด้านสุขภาพที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพต่อไป

ผลกระทบของ COVID-19 บนการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการส่งมอบแบบจำลองสุขภาพ

โครงสร้างการส่งมอบบริการด้านการดูแลสุขภาพ และพฤติกรรมทั้งของผู้บริโภคที่รูปแบบเหล่านี้จะรองรับนั้น จะเกิดขึ้นท่ามกลาง COVID-19 ที่จะเป็นตัวผลักดันความจำเป็นของสุขภาพสาธารณะ รวมไปถึงความจำเป็นทางสังคม ความพึงพอใจรูปใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ และรูปแบบการดำเนินงานใหม่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะยังคงอยู่แม้การระบาดจะจบแล้วในอนาคต และนั่นทำให้การเปลี่ยนผ่านองค์กรเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

1.สถานที่ตั้งของการบริการและการเปลี่ยนผ่านการดูแล : คนใช้บริการนั้นคาดหวังว่า ผู้ส่งมอบบริการจะสามารถส่งมอบมันได้บนเงื่อนไขของพวกเขา ซึ่งต้องทั้งปลอดภัย มั่นคง และทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีแบบไร้รอยต่อ

2.การนำเอาบริการดูแลสุขภาพผ่านโลกเสมือนมาใช้จะเกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง : การใช้งานเทคโนโลยีโลกเสมือนนี้จะเกิดขึ้นกับทั้งที่เป็นแบบผู้ส่งมอบบริการกับผู้ใช้บริการ (B To C) และจะเกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ให้บริการด้วยกันเองด้วยเช่นกัน (B To B) ซึ่งตรงนี้จะเข้ามาช่วยในเรื่องของความสะดวกสบาย และต้นทุนในการติดตามดูแลที่ควบคุมได้

3.การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของคนทำงาน : สถานที่ทำงานจะมีพลวัตมากขึ้น รวมไปถึงวิธีปฏิบัติที่กำลังจะเปลี่ยนวิธีการจัดการกับปัญหาที่ท้าทาย ทั้งในแง่ความสามารถในการรองรับ และการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งตรงนี้กินขอบเขตไปถึงการทำงานทางไกล การส่งมอบบริการผ่านโลกเสมือน รวมไปถึงการมีทีมงานที่มีความหลากหลายในวิชาชีพ และการเพิ่มระบบอัตโนมัติเพื่อลดภาระงานด้านการบริหารลง

4.พันธมิตรใหม่และตลาด : ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสร้างสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม ผ่านรูปแบบการเป็นพันธมิตรระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีขึ้นให้กับชุมชน ธุรกิจขนาดเล็ก หรือองค์กรด้านสุขภาพที่เป็นลักษณะเฉพาะเจาะจงที่ไม่ใหญ่มาก ต้องทำการควบรวมกับองค์กรที่มีนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการทนต่อผลกระทบการระบาดของไวรัส COVID-19

5.การเกิดขึ้นของผู้เปลี่ยนแปลง : ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะก้าวอย่างรวดเร็วและดุดันเข้าสู่พื้นที่ของอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่พื้นที่ชนบท เพื่อสร้างรูปแบบการส่งมอบการดูแลสุขภาพตรงไปยังพื้นที่นั้น และการไล่ล่าตลาดเพื่อติดตามผู้บริโภคจากระยะไกล

6.ความเท่าเทียมด้านสุขภาพ : ระบบสุขภาพทั้งของรัฐและเอกชนต่างต้องพยายามแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างสถานะเชื้อชาติและสถานะทางสังคม ผ่านการเสนอบริการในราคาที่จับต้องได้ เข้าถึงได้ง่าย และมีความยุติธรรม

3.การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการทำงานร่วมกับข้อมูล

COVID-19 ได้เข้ามาขับดันและเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัลด้านสุขภาพในปี 2020 พร้อมกันนั้น ก็ได้สร้างช่องว่างระหว่างความต้องการของผู้บริโภคและความสามารถในการรองรับของระบบให้เกิดขึ้น ทั้งในมิติของทรัพยากรและผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้มันก็ได้ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตกผลึกและรับรู้ได้ถึงการโอบรัดเอาเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญในการปิดช่องว่างให้แคบลง และนั่นทำให้เกิดความคิดริเริ่มด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในกลุ่มนี้ขึ้นมามากมายในช่วงเวลาหลายปีจากนี้

Cloud Computing, AI และ Virtual Care Delivery 3 เทคโนโลยีสำคัญ เบื้องหลังการผลักดันสู่การเปลี่ยนผ่าน

Cloud Computing

องค์กรที่ทำธุรกิจด้านสุขภาพจำนวนมากจะต้องจากไปภายใต้แรงกดดันจากต้นทุนอันมหาศาล โดยมีสาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายจากการจัดการเรื่องโรคระบาดที่ไม่ได้คาดไว้ เช่น เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกัน และวิธีการบำบัดโรค ซึ่งนั่นนำมาสู่การสูญเสียรายได้อันมหาศาล ด้วยเหตุนี้กลุ่มผู้นำทางธุรกิจนี้จำเป็นต้องมองหาทางที่จะสร้างประสิทธิภาพในการทำงานให้เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการลดต้นทุน

ซึ่ง Cloud Computing จะเป็นกุญแจสำคัญทั้งในมิติของการลดต้นทุน ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลเพื่อดึงศักยภาพของข้อมูลทุกประเภทที่มีอยู่ให้ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความหมายมากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้องค์กรจำนวนมากทำงานในลักษณะ Real-Time ได้ รวมไปถึงความง่ายในการใช้งานก็จะเกิดขึ้น และการเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ทุกเวลาด้วย โดยการใช้งาน Cloud เพิ่มขึ้นในปี 2020 ถึง 11% เมื่อเทียบกับปี 2019

Artificial Intelligence (AI)

การมาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะใช้อัลกอริทึมและ Machine Learning (ML) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและตีความข้อมูลเพื่อส่งมอบประสบการณ์ส่วนบุคคล ซึ่งมันจะทำซ้ำ ๆ อย่างเป็นอัตโนมัติ การดำเนินงานด้านสุขภาพที่มีราคาแพง โดยเจ้า AI จะเข้ามาช่วยทั้งในด้านการดำเนินงานขององร์กรและช่วยตัดสินใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสายงานนี้ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในงานเหล่านี้ได้มาก และจะทำให้มนุษย์มีเวลาไปมุ่งมั่นอยู่กับสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าและท้าทายกว่าต่อไป

Virtual Care Delivery

การระบาดของ COVID-19 ทำให้การรักษาและการดูแลสุขภาพผ่านโลกเสมือนเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายฝ่ายประเมินเอาไว้ จากตอนแรกที่คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี ถึงจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ โดยปัญหาหลัก ๆ กลับไม่ได้อยู่ที่ผู้บริโภค แต่กลับไปอยู่กับผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้แทน แต่อย่างไรก็ตามการระบาดได้กดดันให้ทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสนใจกับความปลอดภัย รวมไปถึงมาตรการควบคุมการเดินทาง และการกักตัวของผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้ Virtual Care Delivery หรือการส่งมอบบริการผ่านโลกเสมือนกลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในวันนี้

การมาของ Virtual Care จะช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถติดต่อสื่อสารกับแพทย์ได้จากทุกสถานที่และทุกเวลา นั่นทำให้ประหยัดเวลาตั้งแต่การเดินทาง การมารอคอยแพทย์ที่ยาวนานเพื่อรักษาหรือสอบถามอาการเพียงไม่กี่นาทีไป ซึ่งตามาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้สามารถถูกแก้ปัญหาได้ด้วยเทคโนโลยีในวันนี้อย่าง Virtual Care

เงินลงทุนในตลาด Digital Health ทั่วโลก ปี 2016-2020

2016                           8,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2017                           11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2018                           14,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2019                           13,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2020                           21,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : StartUp Health

สรุป

ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกในขณะนี้ ได้สร้างความเจ็บปวดให้กับระบบสาธารณสุขของทุกประเทศในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก เราสามารถเห็นภาพผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลได้จนชินตาผ่านทางสื่อต่าง ๆ การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างประชาชนด้วยกัน ประชาชนกับภาคเอกชน และประชาชนกับรัฐบาลมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องไม่หยุด สิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก บางทีปัญหาเหล่านี้อาจถูกออกแบบเอาไว้อย่างลึกซึ้งมายาวนาน

ในขณะเดียวกัน ก็สร้างวิธีการแก้ไขปัญหาขึ้นมารองรับรอเอาไว้ก่อนเพื่อเตรียมส่งมอบให้กับทุกประเทศ เพื่อนำไปสู่อะไรบางอย่างที่ยากจะเข้าใจ แต่นี่ก็คือโลกที่เราอยู่ ที่ทั้งยุ่งยาก ลำบาก แถมชวนให้สิ้นหวังเสียเหลือเกินในช่วงเวลาแบบนี้

แต่ถามกลางวิกฤตใหญ่ มักซ่อนโอกาสที่ยิ่งใหญ่ไว้เสมอ ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าจะพยายามศึกษาหาโอกาสนั้นไหม เพราะขอเพียงเราทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาแบบนี้เพื่อศึกษาเรื่องราว ๆ ต่าง ก็เป็นไปได้ที่เราจะมองเห็นโอกาสที่คนอื่นยากจะมองเห็นในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้แล้ว

เหมือนที่นายเคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานของ “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” ได้เคยพูดเอาไว้ว่า “นี่เป็นช่วงเวลาที่หาได้ยากยิ่งและเป็นหน้าต่างเล็ก ๆ แห่งโอกาสให้เราได้คว้าสำหรับการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้”

เขียน : เอกพล มงคลพัฒนกุล