ธุรกิจ Healthcare โอกาสสู่อนาคตที่ใครๆ ก็อยากเข้าถึง

ธุรกิจ Healthcare มีศักยภาพเติบโตสูงบนเมกะเทรนด์ จากแนวโน้มทั่วโลกเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และยิ่งมีตัวแปรเข้ามากระแทกซ้ำ อย่างการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น และธุรกิจดังกล่าวยังสร้างผลตอบแทนให้กับกิจการอย่างมากมาย เพราะเป็นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองกับลูกค้าสูง สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่ไม่เคยลงทุนเกี่ยวกับสุขภาพมาก่อนเริ่มมองเห็นโอกาสในการแสวงหากำไร จึงได้กระโดดเข้าสู่ตลาด และการเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีเงินทุนสูงก็ทำให้รายเหล็กหลายรายอาจต้องเจอกับภาวะแข่งขันสูงทันที

ธุรกิจ Healthcare ครอบคลุมขอบเขตตั้งแต่ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการบริการรักษาพยาบาล ซึ่งสามารถจำแนกออกตามระดับของความซับซ้อนในการรักษา รวมไปถึงจำแนกตามอวัยวะของมนุษย์

สำหรับการลงทุนในธุรกิจ Healthcare ที่มีความซับซ้อนในการรักษา นั้น ใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มแรกค่อนข้างสูง เช่น โรงพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องมีความพร้อมเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ และความเชี่ยวชาญสูง  รวมถึงต้องมีความรัดกุมเรื่องของบุคลากร และใบอนุญาตการประกอบธุรกิจด้วย จึงมีผู้เข้าสู่ตลาดได้น้อย

นอกจากนี้ ในช่วงแรกจะต้องเจอกับภาวะขาดทุน ซึ่งรายได้ที่มาจากการให้บริการ หรือการรักษาในช่วงแรกยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กิจการถึงจุดคุ้มทุนได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ธุรกิจประเภทนี้จะมีกำไรขั้นต้นค่อนข้างสูงก็ตาม แต่ไม่อาจชดเชยกับเม็ดเงินลงทุนที่สูงมากในช่วงเปิดกิจการได้

แต่หากเป็น ธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์ หรือยา จะมีความซับซ้อนน้อยกว่าธุรกิจโรงพยาบาล ถึงแม้จะเป็นธุรกิจที่อาศัยต้นทุนการวิจัยและพัฒนาสูงเหมือนกัน แต่หากวิจัยได้สำเร็จก็จะครอบครองสิทธิ์ในการขายได้แบบเด็ดขาด นอกจากนี้กำไรของธุรกิจประเภทนี้สูงมาก ทำให้ตลาดอุปกรณ์การแพทย์ หรือยา มีผู้เล่นมากกว่าธุรกิจโรงพยาบาลเสียอีก

ดังนั้น ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เป็นระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีหลายธุรกิจอาจต้องปิดตัวลงทั้งปัญหาด้านสภาพคล่องของกิจการมีไม่เพียงพอ หรือปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ติดขัดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจ Healthcare โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องมือแพทย์แล้ว ถือเป็นโอกาสในวิกฤต เพราะความต้องการสินค้าประเภทนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมารักษาสุขภาพกันมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บกันมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทนี้อยู่แล้วได้ขยายกิจการเพื่อสะสมความมั่งคั่งเอาไว้ และยังเป็นโอกาสสำหรับรายใหม่ที่มีเงินทุนเพียงพอที่จะเข้าสู่ตลาด Healthcare

โดยมีข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรี คาดการณ์ว่า ในปี 2564 – 2565 มูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 6.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกจะเติบโตเฉลี่ยที่ 5% ต่อปี สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยและผู้สูงอายุ การขยายการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพซึ่งเป็นเทรนด์ที่โดดเด่นขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา

และเมื่อเจาะเข้าไปในผู้ประกอบกิจการ 5 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ จะพบว่าทั้ง 5 บริษัทได้รับปัจจัยบวกและลบจากสถานการณ์โควิด-19 แตกต่างกันออกไปตามโครงสร้างรายได้ของบริษัท

บมจ.เทคโนเมดิคัล (TM)

สำหรับ บมจ.เทคโนเมดิคัล (TM) เป็นผู้นำเข้าสินค้า 2 กลุ่มหลักๆ คือ 1. กลุ่มอุปกรณ์สิ้นเปลืองที่ใช้แล้วทิ้ง (96% ของรายได้รวม) เช่น  อุปกรณ์เก็บ-ดูดสารคัดหลั่ง เสื้อคลุมผ่าตัด ถุงมือยาง สายดูดเสมหะ อุปกรณ์หนีบเส้นเลือด 2. กลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ (4% ของรายได้รวม) เช่น เครื่องมือผ่าตัด เครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องควบคุมอาหารอัตโนมัติ

โดย ‘เทคโนเมดิคัล’ มีรายได้จากสินค้ากลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จำนวนมาก จุดแข็งของสินค้าประเภทนี้คือการ “ใช้แล้วทิ้ง” ทำให้สามารถผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายได้เรื่อย ๆ และจำหน่ายได้ในปริมาณมากๆ

ดูเหมือนที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นปัจจัยบวกกับ ‘เทคโนเมดิคัล’ แต่เมื่อเราเจาะข้อมูลเข้าไปในกลุ่มสินค้าทางการแพทย์ที่ใช้แล้วหมดไป จะพบว่าในช่วงที่ผ่านมามีผู้เล่นหน้าใหม่ หลายรายเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก (ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด) เพราะผลิตภัณฑ์ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก ดังนั้น เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาจึงเกิดการตั้งราคาต่ำลง เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) จึงเกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงมากขึ้น

อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้า เช่น ค่าขนส่งทางเรือและทางอากาศปรับตัวขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงไตรมาส 2/2564 ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง เป็นสาเหตุที่ทำให้ไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา ‘เทคโนเมดิคัล’ ประสบกับผลขาดทุนสุทธิ 790,000 บาท จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5.78 ล้านบาท

บทสรุปแล้ว หาก ‘เทคโนเมดิคัล’ ไม่บริหารต้นทุน และค่าใช้จ่ายให้ดี ประกอบกับออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เลียนแบบได้ยาก เช่นสินค้าที่อาศัยความเชี่ยญชาญของบริษัทฯ ที่เหนือกว่าคู่แข่ง เพื่อให้กำไรขั้นต้นสูงขึ้นอาจจะต้องเจอกับผลกระทบที่เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม

บมจ.เซนต์เมด (SMD)

มาดูในส่วนของ บมจ.เซนต์เมด (SMD) กำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2564 ค่อนข้างอลังการเหนือความคาดหมาย ปาเข้าไปกว่า 66.04 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 31.03 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 112.84% ส่งผลให้ครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิ 74.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156.90%

สาเหตุของการฟื้นตัวหลักๆ มาจากการระบาดรอบใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเวชบำบัดวิฤต และกลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการรักษาโรคโควิด-19

โดยสัดส่วนรายได้จากกลุ่มเวชบำบัดวิฤตเพิ่มขึ้นถึง 123.46% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้งกลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ เพิ่มขึ้นถึง 134.78% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับจุดแข็งของ ‘เซนต์เมด’ ฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด เป็นเพราะโครงสร้างรายได้หลักมาจากอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้สำหรับการรักษาโควิด-19 โดยตรง เช่น เวชบำบัดวิกฤต มีสัดส่วนรายได้ 49.69% และกลุ่มเกี่ยวกับการช่วยหายใจอีก 26.54% ซึ่งเป็นสินค้าที่ลอกเลียนแบบได้ยาก มีผู้เล่นในตลาดน้อยราย (ตลาดผู้ขายน้อยราย) เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญสูง ดังนั้น จึงไม่เจอผลกระทบการแข่งขันด้านราคาเหมือนสินค้าใช้แล้วทิ้ง

ขณะที่บริษัทยังมีโอกาสเติบโตไปจนถึงท้ายปี หากตัวเลขการติดเชื้อจากโควิด-19 ยังไม่ลดลง ความต้องการสินค้าของบริษัทก็เพิ่มขึ้น ดังนั้น มีโอกาสที่เราจะได้เห็นกำไรสุทธิไตรมาสทั้งปีของ ‘เซนต์เมด’ พุ่งทะยาน

บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ (BIZ)

มาต่อกันที่ บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ (BIZ) ผู้ดำเนินธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายและติดตั้งชุดเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษา (Radiotherapy) และให้บริการซ่อมบำรุงรักษาชุดเครื่องมือทางการแพทย์ดังกล่าว (Maintenance Service)

โดย บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ เป็นอีกรายที่กำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2564 โตกระฉูด สูงถึง 111.49ล้านบาท เติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับปีก่อนยังอยู่เพียงแค่ 32,000 บาท ส่งผลให้ครึ่งปีหลังมีกำไรสุทธิ 193.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1162% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไรสุทธิ 15.31 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากการขาย บริการ ก่อสร้าง และรายได้จากกิจการโรงพยาบาล เท่ากับ 627.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 552.25 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 735.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลให้กับลูกค้า

นอกจากนี้บริษัทมีรายได้กิจการโรงพยาบาล (จากบริษัทย่อย บริษัท แคนเซอร์อลิอันซ์ จำกัด) เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการรักษาโรคมะเร็ง เพิ่มขึ้น 14.35 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 322.40%

สำหรับจุดแข็งของ บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ คือ สินค้ามีราคาสูง มีผู้นำเข้าน้อยจึงโดนผลกระทบการแข่งขันด้านราคาต่ำ (ตลาดผู้ขายน้อยราย) และยังมีการทำสัญญาส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์กับหลายโครงการของรัฐ ดังนั้น บริษัทจึงมีอัตรากำไรขั้นต้นสูง และเป็นสาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทเติบโตแข็งแกร่ง

บมจ.วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WINMED)

ส่วน บมจ.วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WINMED) เป็นอีกรายที่ถูกพูดถึงว่าจะได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 แต่เมื่อดูจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ พบว่า ยังไม่มีสินค้าเกี่ยวโยงกับการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยตรง และที่ผ่านมาไตรมาส 2ของปี 2564 ยังได้รับผลกระทบหลังจากโควิด-19 เสียด้วยซ้ำ

โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 3.91 ล้านบาท ลดลง 42.50% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 6.80 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิช่วงครึ่งปี 2564 อยู่ที่ 14.47 ล้านบาท สำหรับสาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิลดลง เป็นผลจากยอดขายที่ลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การบริจาคโลหิตลดลง รวมไปถึงความต้องการใช้โลหิตจากจำนวนผู้ป่วยผ่าตัดลดลง เพราะภาครัฐต้องการเลื่อนการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้หลักของบริษัทมาจากรายได้กลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์ 95.34% แบ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรี 32.8% และกลุ่มธนาคารเลือด 30.9% และกลุ่มผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยของโลหิต 29% รวมกันแล้วสูงถึง 92.7% ของรายได้รวม ซึ่งจะได้รับผลกระทบด้านลบจากโควิด-19 มากกว่าได้รับผลดี

แม้บริษัทฯ จะออกมาเปิดเผยแผนการผลิตอุปกรณ์ป้องกัน-ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปในอนาคต แต่ที่ผ่านมานั้น บริษัทยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับปัจจัยบวกจากโควิด-19

บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL)

ปิดท้ายที่ บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) หลายคนอาจจะรู้จักใต้แบรนด์ “วุฒิศักดิ์คลินิก” แต่บริษัทฯ ไม่ได้มีรายได้จากคลินิกเสริมความงานเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีรายได้จากการขายเครื่องมือแพทย์ด้วย ซึ่งได้รับอานิสงส์ไปแบบเต็มๆ เพราะสินค้าเกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด-19 โดยตรง

สินค้าของบริษัทมีตั้งแต่ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมอนิเตอร์สัญญาณชีพผู้ป่วย (Patient Monitor) เครื่อง Oxygen High Flow และเครื่องตรวจสมรรถภาพปอดแบบ Portable และช่วงที่ผ่านมาออเดอร์พุ่งกระฉูดทันที

สนับสนุนให้ไตรมาส 2 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 84.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 357.52% จากเดิมมีกำไรสุทธิ 18.49 ล้านบาท ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 120.43 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 373.22 ล้านบาท

ด้วยรายได้จากการขายและบริการเครื่องมือแพทย์สูงถึง 599.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อน ถือเป็น New High ของรายได้รายไตรมาสของธุรกิจเครื่องมือแพทย์ของบริษัทนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้สินค้าเกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์มีความต้องการจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าหลักของบริษัทในกลุ่มประเภท เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องผลิตออกซิเจนทำให้บริษัทได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้น และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในไตรมาสถัด ๆ ไป

นอกจากนี้ จะเห็นว่า บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 36.7% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีอัตรากำไรขั้นต้น 32.7% นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ถึงแม้ช่วงที่ผ่านมา อี ฟอร์ แอล เอม จะมีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2563 แต่ในปี 2564 นี้เชื่อว่าจะเป็นปีที่บริษัทฯ เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2-3 ที่ตัวเลขการระบาดสูงขึ้น และนำไปสู่การล้างขาดทุนสะสมได้เร็ว ๆ นี้ โดยปัจจุบันบริษัทมีผลขาดทุนสะสม 2,256.21 ล้านบาท

รายใหญ่เริ่มเข้าตลาด

เมื่อธุรกิจ Healthcare ดูเหมือนจะเป็นตลาดที่สร้างกำไรให้บริษัทเป็นกอบเป็นกำ จึงเป็นช่วงที่ดึงดูดให้ผู้ผลิตรายใหญ่ และมีเงินทุนเหลือหลายรายที่ต้องการกระจายความเสี่ยง ให้เริ่มแตกไลน์ธุรกิจเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

อย่างเช่น บมจ.ปตท. (PTT) เจ้าพ่อน้ำมันเมืองไทย และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บริษัทในเครือ หรือแม้กระทั่ง บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ในเครือ ‘ปูนซิเมนต์ไทย’ ซึ่งทั้ง 3 ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าบริษัทสูง โดยได้เริ่มเข้าสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เช่น แผ่นกรองอากาศ ถุงมือแพทย์ ชุดกาวน์ ไปจนถึง หลอดเก็บของเหลว และตู้แช่แข็งเก็บวัคซีน

แน่นอนว่าการเข้าสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของรายใหญ่ จะยิ่งเป็นตัวกดดันผู้ผลิตรายเล็กจากข้อได้เปรียบตรงที่มีเงินทุนสูงกว่า ผลิตได้จำนวนมากกว่า จึงเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ทำให้รายใหญ่สามารถตั้งราคาขายต่ำกว่าเพื่อกระตุ้นยอดขายได้ และชิงส่วนแบ่งการตลาดไป (ไม่ว่าใครก็ต้องอยากซื้อของราคาถูกกว่าอยู่แล้ว) ซึ่งจะผลิตรายเล็กที่อยู่ในตลาดมาก่อนจึงต้องกดราคาขายตามเพื่อความอยู่รอด สุดท้ายกำไรจะยิ่งตกต่ำลงไปอีก

ทางรอดของผู้ผลิตที่เงินทุนต่ำกว่า คือต้องรีบสั่งสมความมั่งคั่ง เพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรม และผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์สูง และลอกเลียนแบบได้ยาก ออกสู่ตลาดให้มากขึ้น โดยใช้ความได้เปรียบจากประสบการณ์และใบอนุญาตที่เคยมีเพื่อให้ผู้เล่นรายอื่นเข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้น หรือ ตลาดผู้ขายน้อยรายนั้นเอง