4 กลยุทธ์ Moshi Moshi โตไร้ขีดจำกัด

“เรามุ่งพัฒนาบุคลากร และสร้าง Teamwork เพื่อให้ทุกคนในองค์กรมองเห็นเป้าหมายสู่ความสำเร็จเดียวกัน”

ปัจจุบันสินค้าแนวไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) เป็นที่นิยมอย่างมาก และมีการแข่งขันสูงเพิ่มขึ้น แต่มีอยู่หนึ่งในแบรนด์ในธุรกิจที่เติบโตสวนกระแส นั่นคือ แบรนด์ผลิตภัณฑ์ Moshi Moshi โดยบริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

คุณสง่า บุญสงเคราะห์ กรรมการ, ประธานกรรมการบริหาร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกเล่าถึงเส้นทางธุรกิจจนประสบผลสำเร็จว่า บริษัทฯ เชื่อว่าความสำเร็จของบริษัทฯ ในอดีต จนถึงปัจจุบันเป็นเครื่องยืนยันถึงศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทฯ ด้วยการบริหารงานองค์กรให้ก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ มาได้ อย่างเช่น ในช่วง Covid-19 บริษัทฯ ยังคงมีกำไรเติบโต จวบจนการนำพาองค์กรเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนับเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

 

เพราะด้วยจุดเด่นของบริษัทฯ คือ การเป็นผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ที่มีความหลากหลาย ทันสมัย เน้นคุณภาพ ในราคาที่ย่อมเยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัท ที่มีการออกแบบโดยเฉพาะ (Exclusive) สร้างความประทับใจจากกลุ่มผู้บริโภค ส่งผลให้บริษัทฯ มีสาขาค้าปลีกและค้าส่งที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 113 สาขา แบ่งเป็น ร้านค้าปลีกแบรนด์ Moshi Moshi จำนวน 109 สาขา, ร้านค้าปลีกแบบมีส่วนลด แบรนด์ Moshi Moshi จำนวน 2 สาขา, ร้านค้าส่ง The OK Station 1 สาขา และร้านค้าส่ง Giant 1 สาขา ครอบคลุมมากกว่า 44 จังหวัดในทุกภูมิภาค ผลักดันให้ผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้สูงถึง 1,895.89 ล้านบาท เติบโตกว่า 50% จากปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม ทางแบรนด์จะไม่หยุดยั้งในการคิดค้นและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อคอยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคตามเทรนด์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย และเพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าทำให้ร้านดูน่าสนใจตลอดเวลา ไม่เบื่อ รวมถึงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าของบริษัทฯ โดยมีการออกแบบลวดลายสินค้าและบรรจุภัณฑ์สินค้า (Packaging) ให้น่าสนใจ น่าเลือกซื้อ แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของร้าน Moshi Moshi รวมทั้งร่วมมือกับผู้ให้ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาออกแบบสินค้า โดยใช้คาแรกเตอร์ลิขสิทธิ์ที่เป็นที่นิยม

 

ผสาน 4 กลยุทธ์ พร้อมเดินหน้าสู่ความยั่งยืน
จากคำกล่าวดังกล่าวของคุณสง่า จะพบว่า แบรนด์ผลิตภัณฑ์ Moshi Moshi เกิดจาก 4 องค์ประกอบสำคัญนั่นคือ
1. Design คือการออกแบบ สร้างสรรค์สินค้าให้ตรงกับความชอบ การใช้งานของผู้บริโภค 2. Quality พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ ใช้งานได้ดี และเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า 3. Price ราคาสินค้าย่อมเยา เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และ 4. Variety นำเสนอสินค้าที่หลากหลาย เพิ่มความสะดวก และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน

 

“ต้องยอมรับว่าความเป็นเลิศของบริษัทฯ ในมิติต่าง ๆ ที่เราประสบผลสำเร็จเกิดจากการวางแผนบริหารบุคลากร การทำงานเป็น Teamwork เพื่อให้ทุกคนมองเป้าหมายสู่ความสำเร็จเดียวกัน ตลอดจนการเปิดรับฟังความคิดเห็น และแนวความคิดต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ปิดกั้นไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งอาจนำพาไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งการทำธุรกิจ ต้องมีหลาย ๆ องค์ประกอบมารวมกัน ทั้งมีความตั้งใจ มีความรอบรู้ในสิ่งที่ทำ มีความอดทน และที่สำคัญต้องมีไหวพริบ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ นั่นคือมิติภายในองค์กรที่พวกเรา Drive ธุรกิจ

 

อย่างไรก็ตาม มิติของการเคลื่อนองค์กรไปสู่ภายนอก เราต้องมองภาพใหญ่กว่านั้น หมายถึง การที่องค์กรจะยั่งยืนและอยู่ได้ ส่วนที่สำคัญมากที่สุดคือ stakeholders ของบริษัทฯ รวมไปถึงการยึดมั่นให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายการดูแลลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น พนักงานในองค์กร เพราะการที่บริษัทจะเติบโตได้นั้นล้วนมาจากน้ำพักน้ำแรงของทีมงานทุก ๆ ฝ่ายที่คอยช่วย คอยสนับสนุนกัน

 

นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอย่างมาก ด้วยการใส่ใจในผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดจำหน่าย ให้คุณภาพดี ลูกค้าใช้แล้วชอบ ใช้แล้วกลับมาซื้อซ้ำ ที่สำคัญทำราคาให้ย่อมเยา สุดท้ายที่บริษัทฯ จะไม่ลืมเลยคือ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ถุงพลาสติกที่เป็นแบบ biodegradable รวมถึงพยายามลดการใช้แพ็กเกจจิ้งพลาสติกในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำได้

 

แน่นอนว่า สิ่งนี้คือกลยุทธ์ต่อไปที่จะทำให้องค์กรสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตอย่างมั่นคง คุณสง่า กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราให้ความสำคัญในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. มุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หมายถึงจะมีการจัดการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความสามารถและเพิ่มทักษะให้แก่พนักงาน สรรสร้างผู้นำที่ดีเพื่อองค์กรและสังคม

 

  1. สร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า คือ มุ่งพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าให้ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี รวมถึงต้องตอบโจทย์ในด้านราคาที่ย่อมเยา และคุณภาพดีอีกด้วย

 

  1. พัฒนาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับพันธมิตร หมายถึงต้องทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย สร้างความมั่นใจกับพันธมิตร เติบโตด้วยกันอย่างยืนยาวและยั่งยืน

 

และสุดท้าย 4. ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน เช่น การลดการใช้แพ็กเกจจิ้งพลาสติกสำหรับชิ้นงานต่าง ๆ ประหยัดทรัพยากรและลดปริมาณของเสีย โดยยังผ่านกระบวนการออกแบบที่สวยงาม”

เขียนและเรียบเรียง : วิทยา กิจชาญไพบูลย์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS