เพิ่มขีดความได้เปรียบเชิงการแพทย์ในไทย กับการก้าวเข้าสู่ MedTech

MedTech ย่อมาจาก Medical Technology หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งในเทคโนโลยีเชิงลึกหรือที่เรียกว่า Deep Technology (Deep Tech) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่ม Tech Startup สามารถก้าวเข้าสู่ความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว และทำให้ประเทศสามารถลดการพึ่งพาทางด้านการแพทย์จากต่างประเทศได้มากขึ้น

คุณอุกฤช กิจศิริเจริญชัย ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หรือ National Innovation Agency (NIA) ได้ให้นิยามไว้ว่า “MedTech เป็นการประยุกต์เอาเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพหรือบริการทางการแพทย์ ทั้งในแง่ของการวินิจฉัยโรค การรักษา ติดตามอาการ รวมถึงการประเมินสุขภาวะของผู้ป่วย ซึ่งมีความแตกต่างจาก Medical Device หรือเครื่องมือแพทย์ ตรงที่ MedTech มีความเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีเชิงลึกเข้ามาประยุกต์ใช้”

ซึ่ง MedTech ถือว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเชิงลึกหรือ Deep Tech ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนามาเป็นระยะเวลายาวนาน มีจุดแข็งในเทคโนโลยีนั้น ๆ ทำให้ลอกเลียนแบบได้ยาก มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องมีประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัย หรือการใช้เทคโนโลยีภาพพิมพ์ 3 มิติเข้ามาช่วยในด้านการแพทย์

โดยบทบาทหลักของทาง สนช. คือ การช่วยพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่การสร้างนวัตกรรมเชิง Deep Tech ได้ ซึ่งมีบทบาทอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่

เรื่องแรก : Groom คือ การส่งเสริม บ่มเพาะ และสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้นวัตกรรมในการแข่งขัน

เรื่องที่สอง : Grant คือ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม

เรื่องที่สาม : Growth คือ การยกระดับความสามารถธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบไทยให้ก้าวสู่เวทีสากล

นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มในการพัฒนาย่านนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการศึกษา วิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนให้กลายเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ (Medical Hub) ทางการแพทย์ที่ครบวงจรในประเทศ เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีที่กรุงเทพ และย่านนวัตกรรมสวนดอกที่เชียงใหม่ เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่เริ่มเข้าสู่ตลาด MedTech คุณอุกฤช เน้นย้ำว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญนอกเหนือจากการใช้งานเชิงฟังก์ชันของผลิตภัณฑ์แล้ว คือ เรื่องของทิศทางตลาดและมาตรฐานที่มีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ด้วย ตัวอย่างผู้ประกอบไทยที่เข้าสู่ตลาด MedTech แล้ว เช่น Perceptra เป็นบริษัทผู้ผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้กับ Inspectra CXR เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับปอด และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ Meticuly บริษัทด้านเทคโนโลยีภาพพิมพ์ 3 มิติหรือ 3D Printing ที่สามารถผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายมนุษย์เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล เช่น การผลิตกระดูกสะโพกจากไทเทเนียม เป็นต้น

สำหรับทิศทางแนวโน้มของตลาด MedTech ภายในประเทศ คุณอุกฤช กล่าวว่า “ประเทศไทยเรื่องการแพทย์เราแข็งแรงมาก เรามีงานวิจัยที่ดีมาก แต่เรายังเป็นผู้ใช้นวัตกรรมมากกว่าที่จะเป็นผู้ผลิตเอง เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น คนเริ่มให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการแพทย์ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ก็เริ่มตระหนักว่าเราต้องลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งให้ทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานในไทย ตื่นตัวในการเข้าสู่ตลาด MedTech มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยมากกว่า 30-40 ราย ที่เข้ามาอยู่ในตลาดนี้แล้ว”

ทั้งนี้รัฐบาลเองก็เริ่มให้ความสำคัญกับ MedTech มากขึ้นเช่นกัน อย่างนโยบายขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ให้ก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน “ทั้งนี้ การทำให้ MedTech ในประเทศเติบโตได้นั้น สิ่งที่ต้องยอมรับ คือ ตลาดภาครัฐเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ทางเรามีการผลักดันให้ภาครัฐเอง พยายามที่จะอุดหนุนหรือใช้บริการเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นภายในประเทศให้ได้มากที่สุด” คุณอุกฤช กล่าวทิ้งท้าย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “ก้าวสู่ MedTech Startup ยกระดับการแพทย์ไทยด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก” จากเว็บไซต์ ICHI สามารถอ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่ ICHI Website : https://bit.ly/3bRHGZ5