ขัดใจนักดื่ม! แอลกอฮอล์จ่อขึ้นราคา หลังครม.เคาะงบคุมเครื่องดื่มมึนเมา หวังลดความรุนแรงในสังคม

เป็นอีกหนึ่งกระแสข่าวที่ทำเอาสิงนักดื่มรู้สึกขัดใจไปตาม ๆ กัน เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) ระยะเวลา 6 ปี ซึ่งเป็นแผนต่อเนื่องมาจากยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ พ.ศ. 2554-2563 ที่สิ้นสุดลง ในกรอบวงเงิน 339.30 ล้านบาท เพื่อควบคุมขนาดและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ใน 4 เป้าหมาย ได้แก่

  1. ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของประชาชน
  2. ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และควบคุมจำนวนผู้บริโภค
  3. ลดความเสี่ยงจากการบริโภค ทั้งในมิติของปริมาณการบริโภค รูปแบบการบริโภค และพฤติกรรมหลังการบริโภค
  4. จำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยในแผนปฏิบัติการนี้มีกลยุทธ์ที่จะถูกนำมาใช้ ได้แก่ กลยุทธ์ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมและในประชากรกลุ่มเสี่ยง ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าราคาแพง หาซื้อยาก และเพิ่มสัดส่วนจำนวนประชากรต่อใบอนุญาตในการเข้าถึงจุดจำหน่ายของประชาชนขึ้นจาก พ.ศ. 2562 เช่น โครงการควบคุมจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, โครงการพัฒนาระบบและกลไกการบังคับใช้กฎหมาย งบประมาณ 96.70 ล้านบาท

เท่านั้นยังไม่พอ เพราะยังมีอีกหนึ่งกลยุทธ์ด้านราคาที่ถูกนำมาใช้ร่วมด้วย นั่นคือกลยุทธ์ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี โดยมีระบบการคิดภาษีที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และโปร่งใส ตรวจสอบได้ มาตรการกำหนดราคาขั้นต่ำ (Minimum Unit Pricing) ตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม การผูกอัตราภาษีกับเงินเฟ้อ เช่น โครงการสนับสนุนการพัฒนากลไกด้านมาตรการภาษี, โครงการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกระบบภาษี

กลยุทธ์ดังกล่าวทำเอาคอแอลกอฮอล์ถึงกับสะดุ้งกันเลยทีเดียว เพราะนั่นเท่ากับว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะต้องเสียเงินค่าเครื่องดื่มสุดโปรดสูงกว่าในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งมีแววว่าจะหาซื้อได้ยากมากขึ้นอีกด้วย และถ้าหากถามว่าประเด็นข่าวนี้เกี่ยวข้องกับประชากรมากแค่ไหน คงต้องไปดูกันที่สถิติผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รวบรวมสถิติของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ในปี 2564 มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในรอบ 12 เดือน ประมาณ 16 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ดื่มที่มีอายุระหว่าง 25-44 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 36.5) รองลงมาอายุ 45-59 ปี (ร้อยละ 32.4) อายุ 20-24 (ร้อยละ 31.6) อายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 15.2) ส่วนเยาวชนอายุ 15-19 ปีมีอัตราการดื่มต่ำที่สุด (ร้อยละ 15)

สำหรับจังหวัดที่มีดัชนีระดับความเสี่ยงต่อปัญหาแอลกอฮอล์สูงสุด 3 อันดับแรกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564 ได้แก่ น่าน เชียงราย และแพร่ ส่วนสามจังหวัดที่มีดัชนีระดับความเสี่ยงต่ำสุด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

ส่วนประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นักดื่มไทยนิยมบริโภคมากที่สุดจากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 พบว่าเบียร์คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นักดื่มไทยนิยมบริโภคมากที่สุด โดยเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 อันดับสูงสุดที่นักดื่มนิยมดื่มมากที่สุด พบว่า นักดื่มร้อยละ 55.96 นิยมดื่มเบียร์มากที่สุดรองลงมาคือ สุราประเภทต่าง ๆ ได้แก่สุราขาว/สุรากลั่นชุมชน สุราสี/สุราแดง และยาดองเหล้า/สุราจีน/วอดก้า/อื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 40.98 และไวน์คูลเลอร์/สุราผสน้ำผลไม้/เหล้าปั่น คิดเป็นร้อยละ 1.83 ตามลำดับ

ด้านปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยมีแอลกอฮอล์มาเกี่ยวข้องนั้น ข้อมูลจาก สสส. ระบุว่าช่วงเดือนเมษายน 2564 พบคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 33.06  และเป็นปัจจัยร่วมต่อการเกิดความรุนแรงในครอบครัวมากว่า 1 ใน 4  และส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงที่ถูกกระทำซ้ำมากกว่าร้อยละ 75

ขณะที่ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า จากการรวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ในปี 2563 พบทั้งหมด 593 ข่าว ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น155 ข่าวหรือร้อยละ 26 ทั้งนี้เป็นข่าวฆ่ากัน 323 ข่าว มากที่สุดคือสามีฆ่าภรรยา ส่วนการทำร้ายพบ 101 ข่าว สามีทำร้ายภรรยามากสุด รองลงมาการทำร้ายกันระหว่างพ่อ-แม่-ลูกและคู่รักตามลำดับ กรณีฆ่าตัวตาย 94 ข่าว ผู้ชายมากกว่าหญิง ขณะที่ ความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 41 ข่าว ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าครึ่งปีหลังสถานการณ์รุนแรงที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น เพิ่มขึ้นในทุกเหตุการณ์ และเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังพบว่าปี 2563 เพิ่มเป็นร้อยละ 26.2 จากร้อยละ 17.3 ในปี 2561

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : THE STANDARD, เอกสารวิชาการในชุดสถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา, เจาะลึกระบบสุขภาพ, กรมควบคุมโรค

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ #ควบคุมแอลกอฮอล์ #ครม.