ในญี่ปุ่น ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำ แบรนด์หรูยิ่งปัง!! อาณาจักร Kering เผยยอดขายโต 37%

หากพูดถึงสินค้าแบรนด์หรูสำหรับบางคนสินค้าเหล่านี้อาจเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่บางคนก็จะมองว่าเป็นสินค้าแสดงความ ‘มั่งคง’ หรือจะเป็นสินค้าเพื่อการ ‘ลงทุน’ ก็ย่อมได้ โดยสินค้าแบรนด์หรูก็จะมีจำพวก กระเป๋า, นาฬิกา, แว่นตา, เครื่องประดับ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ซึ่งเราจะได้ยินแบรนด์ดัง ๆ อย่าง Gucci, Yves Saint Laurent, Bottega Veneta และ BALENCIAGA อยู่บ่อย ๆ โดยแบรนด์เหล่านี้อยู่ภายใต้อาณาจักร Kering ของฝรั่งเศส

และเมื่อไม่นานมานี้บริษัทได้เผยถึงงบการเงินไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ขึ้น พบว่าเหล่าแบรนด์หรูสามารถสร้างรายได้เติบโตมากถึง 24% เลยทีเดียว และถ้าหากนำมาเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีก็จะพบว่าเติบโตเฉลี่ย 14%

อย่างไรก็ดีบริษัทยังระบุอีกว่ากำลังซื้อทางฝั่งยุโรปตะวันตกเพิ่มขึ้น +74% ซึ่งเราคงจะรุ้จะกันอยู่แล้วว่ายุโรปก็เปรียบเสมือนบ้านเกิดของแบรนด์หรูเหล่านี้ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือกำลังซื้อจาก ‘ญี่ปุ่น’ ที่เติบโตมากถึง 31% ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญเงินเฟ้อ เงินเยนอ่อนค่า และวิกฤตเศรษฐกิจอีกมากมาย แต่คนญี่ปุ่นกลับมีกำลังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้เพิ่มขึ้น แซงหน้า ‘จีน’ กลุ่มกำลังซื้อแบรนด์หรูหลักของเอเชียในหลายปีที่ผ่าน

และถ้าหากเราย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้วจะรู้ว่าญี่ปุ่นคือประเทศที่มีกำลังซื้อแบรนด์หรูมากที่สุดในเอเชียแซงหน้าจีนเสียอีก เพราะญี่ปุ่นยุคสมัยนั้นเคยเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกมาก่อน แต่ต้องมาสะดุดปัญหาเศรษฐกิจเช่นกันทำให้คนญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้นเริ่มมองว่าสินค้าแบรนด์หรูเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และมองถึงมูลค่ามากกว่า แถมยังขายยากเพราะไม่เป็นที่นิยมมากนักในเอเชีย และหลังจากนั้นมาเมื่อเอเชียเริ่มนิยมซื้อแบรนด์หรูมากขึ้นเรื่อย ๆ ญี่ปุ่นเองก็เริ่มชินกับการที่มองแบรนด์หรูเป็นสินค้ายอดนิยมเช่นกัน โดยเฉพาะกับกลุ่ม ‘นักลงทุน’ และกลุ่ม ‘มีกำลังซื้อ’ หรือกลุ่มคนรวยนั่นเอง

ทั้งนี้ หากเรามามองถึงยอดขายแบรนด์หรูที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่นก็จะพบว่าค่อนข้างที่จะสวนทางกับเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะญี่ปุ่นกำลังเผชิญเรื่องของค่าเงินเยนที่อ่อนลงสูงสุดในรอบ 32 ปี  อยู่ที่150.30 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ และยังมี รายงานจาก โชโก รีเสิร์ช (Tokyo Shoko Research) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยสินเชื่อของญี่ปุ่นระบุว่า บริษัทในญี่ปุ่นประกาศล้มละลายรวม 3,141 แห่งเลยทีเดียว

เมื่อมาถึงตรงนี้เราคงรู้สึกว่าญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอยู่ตอนนี้ กลับมากำลังซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างไร ?

‘Business+’ วิเคราะห์ว่าจริง ๆ แล้วอย่างที่กล่าวไปข้างต้นเมื่อแบรนด์หรูเป็นที่ยอมรับมากขึ้นก็ทำให้เกิดการ ‘ซื้อ-ขาย, จำนำ’ ที่ง่ายจนกลายเป็น ‘สินทรัพย์สภาพคล่อง’ อีกทั้งสินค้าเหล่านี้ยังเป็นสินค้าที่สามารถ ‘เก็งกำไร’ ได้ดี โดยที่บางคนที่ไม่ได้ซื้อมาใช้ แต่ก็ซื้อมาเก็บเพื่อรอวันขายอยู่เช่นกัน และท้ายที่สุดแล้วแบรนด์หรูเหล่านี้ถูกจัดให้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย หรือที่รู้จักกันในทางเศรษฐศาสตร์ว่า Luxury good และเมื่อใดก็ตามที่เรามีรายรับมากขึ้น ความต้องการในสินค้าเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นมากขึ้นตามไปเช่นกัน โดยจะแตกต่างกับสินค้าจำเป็นอย่าง Normal good ไปโดยสิ้นเชิง เพราะสินค้าเหล่านั้นจะมีการบริโภคมากขึ้นเมื่อรายได้มากขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่ม ‘นักลงทุน’ และกลุ่ม ‘มีกำลังซื้อ’ ก็ยินดีจะจ่ายแม้ว่าจะต้องเผชิญเรื่องเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ก็ตาม

 

ที่มา : Kering, carterjmrn, infoquest, investopedia

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #kering #japan