ข้าวไทยจะออกสู่ตลาดโลกเพิ่มอีก 25% ในปีนี้ หลังคู่ค้าหลักเจอภัยแล้ง และคู่แข่งเบอร์ 1 ขึ้นภาษีส่งออก

สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วงที่ผ่านมาของปี 2565 ถือว่าเติบโตได้อย่างโดดเด่น สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่า (ล่าสุดค่าเงินบาท อยู่แถวๆ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ เดือน พ.ย.)

โดยเดือน ส.ค. 65 ปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกสำคัญ (อ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าว) พบว่า อินเดียยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 11.23 ล้านตัน

และอันดับที่ 2 เป็นใครไม่ได้นอกจากประเทศไทย ด้วยปริมาณ 4.75 ล้านตัน และเวียดนาม 4.25 ล้านตัน ตามด้วยปากีสถาน 2.47 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.49 ล้านตัน

และเมื่อนำปริมาณการส่งออกข้าวของไทยมาเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 64 (ม.ค.-ส.ค.) ในปี 65 จะเห็นว่าไทย มีปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 3.10 ล้านตัน เป็น 4.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 53.23% และยังมีแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

จากรายงานสถานการณ์ข้าวประจำเดือนตุลาคม 2565 ของกระทรวงเกษตรของ
สหรัฐฯ หรือ USDA เปิดเผยข้อมูลว่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2565 และ 2566 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณการส่งออกข้าวไทยสู่ตลาดโลกจะเพิ่มสูงถึง 25.4% ในปีนี้ และ 7.9% ในปีหน้า

โดย ‘Business+’ ได้สรุป 2 สาเหตุ ที่สำคัญดังนี้

1. สถานการณ์ในสหรัฐฯ ทำให้มีโอกาสที่ไทยจะส่งออกได้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน สหรัฐฯ นำเข้าข้าวจากไทยเป็นอันดับ 1 และสหรัฐฯกำลังเผชิญกับภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าข้าวสูงขึ้น เพราะผลิตในประเทศได้น้อยลง โดยในปี 2564 ปริมาณการนำเข้าข้าวจากไทยสู่ตลาดสหรัฐฯ สูงถึง 573,786 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 58.12% ของการนำเข้าข้าวของสหรัฐฯ ทั้งหมด

ซึ่งประเทศที่สหรัฐฯ นำเข้าข้าวรองลงมาจากไทยเป็นอันดับ 2 ได้แก่ อินเดีย (สัดส่วน 20.64% ในปี 2564) และอันดับ 3 ได้แก่ จีน (สัดส่วน 6.59% ในปี 2564)

โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวอเมริกันบริโภคข้าวปีละ 4.60 ล้านตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยข้าวที่ปลูกได้ประมาณ 85% เป็นข้าวที่ปลูกภายในประเทศ ซึ่งการที่การผลิตข้าวในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่หุบเขาเซคราเมนโต (Sacramento Valley) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก.ทำให้การปลูกข้าวในพื้นที่ลดลงกว่า 50% ซึ่งหุบเขาแซคราเมนโตนั้นเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในแคลิฟอร์เนีย ผลิตข้าวมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯในแต่ละปี

2. ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวสู่สหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 รองจากไทย ได้ประกาศเพิ่มภาษีการส่งออกถึง 20% และประกาศระงับการส่งออกข้าวหักในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพื่อรักษาสมดุลราคาข้าวภายในประเทศจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้อินเดียสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้น้อยลงกว่า 5.6% ทำให้ USDA คาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวของอินเดียในปี 2566 จะลดลงถึง 1 ล้านตัน และจะส่งผลให้เพิ่มการส่งออกจากประเทศไทย เวียดนาม เมียนม่า อุรุกวัยและบราซิลมากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อเราเทียบในแง่ของราคากับผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญจะเป็นดังนี้
– เมื่อเทียบกับอินเดีย ซึ่งราคาได้เพิ่มขึ้น 35 เหรียญสหรัฐฯ เป็นราคา 390 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถึงแม้ราคาจะเพิ่มขึ้นแต่ยังนับว่าราคาข้าวจากอินเดียต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับข้าวของประเทศอื่นๆ

ส่วนข้าวไทยราคาได้เพิ่มขึ้น 6 เหรียญสหรัฐฯ ในเดือนที่ผ่านมาสู่ราคา 430 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งเป็นปัจจัยมาจากความต้องการข้าวไทยที่เพิ่มขึ้น

ด้านข้าวเวียดนามได้เพิ่มขึ้น 38 เหรียญสหรัฐฯ ในเดือนที่ผ่านมาในราคาที่ใกล้เคียงกับข้าวไทยที่ 429 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ราคาข้ราวของไทยจะยังสูงกว่าอินเดีย แต่เมื่ออินเดียมีการเพิ่มภาษี ก็จะทำให้หลายๆประเทศหันมานำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้น ถือว่าเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการส่งออกข้าวของไทยสู่ตลาดสหรัฐฯ และตลาดโลก

ที่มา : DIPT

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ข้าว #ส่งออก #ข้าวไทย #ข้าวอินเดีย #การส่งออกนำเข้า