ดีมานด์คลังสินค้าในเวียดนามพุ่ง เป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนไทยอย่างไร?

อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีความโดดเด่น โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์ COVID-19 และสถานการณ์วิกฤติพลังงานก็ตาม ซึ่งรัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP เอาไว้ที่ 7.5% หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) เวียดนามมีการขยายตัว GDP อยู่ที่ 6.42% เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวในเดียวกันของปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 5.05%

นั่นส่งผลให้ความต้องการคลังสินค้าในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคกำลังเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งตามรายงานของบริษัท Cushman & Wakefield ผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ระดับโลก ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน2565 อัตราการเติมสินค้าเข้าคลังสินค้าในนครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอยอยู่ที่ 90% อัตรานี้คาดว่าจะขยับขึ้นไปอีก

โดย Cushman & Wakefield Viet Nam ระบุว่าผู้ค้าปลีกกำลังมองหาคลังสินค้าใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขายในช่วงวันหยุดของเวียดนาม แต่คลังสินค้าในนครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของตัวแทนขายจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Lazada กล่าวว่า ในช่วงปลายปี 2565แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ จะมีการขยายคลังสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Lazada ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพคลังสินค้า และลดแรงกดดันต่อการจัดการด้านโลจิสติกส์ ด้วยรถยนต์ไร้คนขับจำนวนมาก คลังสินค้าและศูนย์คัดแยกสินค้า (Sorting center) ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มากกว่า 300,000 ตารางเมตร ซึ่งช่วยให้ลดเวลาในการจัดส่งสินค้าอยู่ในฤดูจุดสูงสุดได้

ด้านตัวแทนจาก แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคู่แข่งอย่าง Shopee เปิดเผยว่า พวกเขาเพิ่งเปิดตัวคลังสินค้าใหม่ 10 แห่ง และอัปเกรดคลังสินค้าที่มีอยู่เพื่อขยายความจุของคลังสินค้า และอยู่ระหว่างการพัฒนาบริการจัดส่งด่วนเพื่อช่วยให้ผู้ขายติดตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในฤดูจุดสูงสุด

ขณะเดียวกันบริษัท TikiNOW Smart Logistics เป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Tiki ได้ดำเนินการปรับใช้หุ่นยนต์เพื่อดำเนินงานต่างๆ ระบบอัตโนมัติของหุ่นยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคลังสินค้าได้อย่างมาก เทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถทำงานที่ซับซ้อนที่สุดบนแพลตฟอร์ม และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ขายได้ระหว่า 30-40%

ด้านฝ่ายพาณิชย์ของบริษัท SLP Vietnam กล่าวว่า คลังสินค้าในเวียดนามบางส่วนยังไม่ได้มาตรฐาน และกระจายไม่ทั่วถึงทั่วประเทศ การขาดสำนักงานผู้แทนของคลังสินค้าในภาคเหนือเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ และเพิ่มต้นทุนในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน คลังสินค้าส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ และมีเพียง 30% ที่อยู่ในภาคเหนือ โดยการกระจายคลังสินค้าไม่เท่ากันดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำหรับการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ

ทั้งนี้ รายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามพบว่า มากกว่า 70% ของคลังสินค้าในเวียดนาม อยู่ที่รอบๆ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคใต้เวียดนาม เนื่องจากความต้องการพื้นที่คลังสินค้าก าลังเพิ่มขึ้น เมื่ออุปทานของพื้นที่คลังสินค้ามีน้อย และค่าเช่าพุ่งสูงขึ้น บางบริษัทจึงต้องใช้บ้านแทนคลังสินค้า แม้ว่าเมื่อก่อนไม่ได้ใช้เป็นห้องเย็น
โดย การใช้หุ่นยนต์ และเทคโนโลยี AI จะช่วยปรับปรุงการจัดการสินค้าคงคลัง และความปลอดภัยจากอัคคีภัยในคลังสินค้าได้อย่างมาก การขาดอุปทานของพื้นที่คลังสินค้าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนในคลังสินค้า

ซึ่งตามวิจัยของบริษัท CBRE ระบุว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐของรายได้อีคอมเมิร์ซในเวียดนามต้องการคลังสินค้ามีพื้นที่ 93,000 เฮกตาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในปี 2568 ประเทศเวียดนามจะต้องการคลังสินค้ามีพื้นที่มากกว่า 2 ล้านเฮกตาร์ เพื่อบรรลุยอดขายที่คาดการณ์ไว้ที่ 39 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ทำให้เราเห็นว่าปัจจุบัน ธุรกิจคลังสินค้าในเวียดนามกลายเป็นแนวโน้มที่มีศักยภาพเติบโตเป็นอย่างดีและกำลังดึงดูดความสนใจของนักลงทุนจำนวนมาก

นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามเปิดกว้างสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรม Logistic และคลังสินค้ามากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจับสนับสนุนภาคการลงทุนของเวียดนาม ทำให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ของอุตสาหกรรมคลังสินค้าในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยและผู้ประกอบการไทยในธุรกิจคลังสินค้า ในการลงทุน หรือร่วมทุนกับบริษัทเวียดนามในการจัดคลังสินค้าในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับประเทศไทยที่ถือว่าเป็นประเทศชั้นนำในดัชนีโลจิสติกส์ระดับโลก ประจำปีที่ 11

โดยที่ดัชนีดังกล่าวเป็นดัชนีวัดศักยภาพทางการแข่งขันเมื่อประเมินจากจุดแข็งด้านระบบโลจิสติกส์และคุณสมบัติพื้นฐานในการทำธุรกิจ ที่จะพิจารณาจากปัจจัยที่ดึงดูดผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์, ตัวกลางระหว่างผู้นำเข้าและส่งออก, สายการเดินเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์, ผู้ดำเนินการขนส่ง และผู้กระจายสินค้าทางอากาศ

ซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้วมีผู้ติดอันดับดังนี้ อินโดนีเซีย อยู่ในอันดับ 4 มาเลเซีย อยู่อันดับ 5 ส่วนไทยอยู่อันดับ 9

ขณะที่ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย – เวียดนาม ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดีมาก ไม่มีปัญหาสำคัญค้างคา มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง มีการไปมาหาสู่ระหว่างกันเพิ่มขึ้น รวมถึงในระดับท้องถิ่นจากการที่มีเส้นทางเชื่อมโยงถึงกันค่อนข้างสะดวก

โดยที่การพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย – เวียดนาม ตลอดระยะที่ผ่านมา จึงมีลักษณะของการพัฒนาความร่วมมือบนผลประโยชน์ร่วมกันในเชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

เมื่อมองจากศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของไทย ประกอบกับความสัมพันธ์ที่ดีกับเวียดนามแล้ว จึงทำให้ความต้องการคลังของเวียดนาม ส่งผลดีอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถขยายการลงทุนไปยังเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/ ,hochiminh.thaiembassy.org

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เวียดนาม