‘อินโดนีเซีย’ จ่อเพิ่ม ‘Golden Visa’ อายุ 5-10 ปี ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติร่วมผลักดันเศรษฐกิจประเทศ

‘อินโดนีเซีย’ ถือเป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และยังเป็นที่หมายตาของบรรดานักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่าง ‘บาหลี’ แล้ว ยังถือเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมากอีกด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศแห่งนี้จะต้อนรับนักท่องเที่ยวมากถึงหลักล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ดี แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีผู้คนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาจะเข้าลงทุนใน ‘อินโดนีเซีย’ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านประเภทวีซ่าที่อาจจะยังไม่ตอบโจทย์ในด้านนี้โดยตรง ส่งผลให้ยังมีนักลงทุนชาวต่างชาติที่ยังเกิดความลังเลไม่แน่ใจในการลงหลักปักฐานการทำธุรกิจที่ประเทศแห่งนี้ ทำให้ทางรัฐบาล ‘อินโดนีเซีย’ เตรียมออก ‘Golden Visa’ สำหรับการพำนักในประเทศเป็นเวลา 5-10 ปี โดยวีซ่าประเภทนี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนชาวต่างชาติที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจใน ‘อินโดนีเซีย’ สามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจได้โดยตรง ภายใต้เงื่อนไขหลัก ได้แก่

ชาวต่างชาติที่เข้าลงทุนในหุ้นหรือการลงทุนต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย
โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้าเงื่อนไขนี้จะต้องมีเงินลงทุนมูลค่า 350,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย หรือมีเงินฝาก/บัญชีออมทรัพย์ หรือถือพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซีย สำหรับระยะเวลา 5 ปี และระยะเวลา 10 ปี สำหรับผู้ที่มีเงินลงทุนมูลค่า 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ชาวต่างชาติที่จัดตั้งบริษัทในอินโดนีเซีย
สำหรับบุคคลที่จัดตั้งบริษัทภายในประเทศอินโดนีเซีย โดยเงื่อนไขวีซ่าระยะเวลา 5 ปี คือ ต้องเป็นบริษัทที่มีเงินลงทุนอย่างน้อย 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และระยะเวลา 10 ปี จะต้องมีเงินลงทุนอย่างน้อย 5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ชาวต่างชาติที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในบริษัทที่อินโดนีเซีย
สำหรับชาวต่างชาติที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและคณะกรรมาธิการของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใน ‘อินโดนีเซีย’ โดยผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์นี้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ วีซ่าระยะเวลา 5 ปี สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งในบริษัทที่มีการลงทุน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และวีซ่าระยะเวลา 10 ปี สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งในบริษัทที่มีการลงทุน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน ‘นายซิลมี คาริม’ อธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมืองประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า การออก ‘Golden Visa’ นี้ เป็นไปเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซีย ส่วนการกำหนดเงื่อนไขที่ค่อนข้างละเอียดนั้น ‘นายซิลมี’ กล่าวว่า “เนื่องจากเรากำหนดเป้าหมายไปที่นักลงทุนที่มีคุณภาพ ข้อกำหนดจึงมีความละเอียดมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี ในปี 2565 อินโดนีเซียได้ออก ‘Second Home Visa’ หรือวีซ่าบ้านหลังที่สอง สำหรับนักท่องเที่ยวผู้มั่งคั่งที่มีเงินในบัญชีอย่างน้อย 2 พันล้านรูเปียห์ (หรือราว 130,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

ทั้งนี้ ปัจจัยที่หนุนให้ ‘อินโดนีเซีย’ เป็นประเทศที่น่าลงทุน เนื่องจากมีความพร้อมในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดย ‘IMF’ ยังได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 อินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน สหรัฐฯ และอินเดีย ซึ่งเป็นผลมาจาก

1. ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีการเติบโตที่รวดเร็ว ซึ่ง ‘IMF’ ได้คาดการณ์ GDP Growth ของอินโดนีเซียในปี 2023 ไว้ที่ระดับ 6% สำหรับปัจจัยหลักที่สนับสนุน GDP ของอินโดนีเซียให้เติบโตได้อย่างโดดเด่นก็คือ จำนวนประชากร 272 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน โดยประชากรส่วนใหญ่ราว 60% ของประเทศยังอยู่ในวัยแรงงานและมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 31 ปีเท่านั้น ด้วยระดับรายได้ต่อหัวที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องผนวกกับอัตราการเข้าถึงสินค้าบริการต่าง ๆ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การบริโภคภายในประเทศถือเป็นพลังขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ IMF ยังได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 อินโดนีเซียจะเติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน สหรัฐฯ และอินเดีย

2. ความเพียบพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก ทั้งถ่านหิน นิกเกิล ดีบุก และน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้มีการปรับยุทธศาสตร์ระยะยาว ด้วยการลดการพึ่งพิงการส่งออกสินแร่ธรรมชาติและหันมาดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของบรรดาบริษัทชั้นนำระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น Tesla ผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐฯ หรือ CATL บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ให้เคลื่อนย้ายเม็ดเงินเข้าลงมาลงทุนตั้งฐานการผลิตในอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศและถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินแร่ธรรมชาติที่เป็นทรัพยากรหลักของประเทศ

ทั้งนี้ ด้วยลักษณะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงกำลังเติบโตเร็ว อุตสาหกรรมหลักในตลาดหุ้นอินโดนีเซียจึงประกอบไปด้วย หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ (Domestic Play) อย่างเช่น กลุ่มธนาคาร, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงหุ้นกลุ่มที่อิงกับทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์และภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

นอกจากธุรกิจประเภท Old Economy แล้ว อินโดนีเซียถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นในการสร้างบริษัท Start-up ที่เป็น Unicorn จำนวนมาก เพื่อเป็นการสร้าง New S-curve ใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล เช่น Traveloka บริษัทผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักชั้นนำ J&T Express บริษัทผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนชั้นนำ หรือ Goto ผู้นำแพลตฟอร์ม Ride Hailing และ Food Delivery

ในแง่ของการท่องเที่ยว ‘อินโดนีเซีย’ ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศจุดหมายปลายทางสำหรับบรรดานักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยในปี 2565 ประเทศแห่งนี้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบ 5.5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 250% เมื่อเทียบกับปี 2564 และในปี 2566 (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566) พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนบาหลีจำนวน 1.03 ล้านคน

ที่มา : fortune, TISCO Wealth, statista

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #อินโดนีเซีย #อินโดฯ #GoldenVisa #เศรษฐกิจ #การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ #การลงทุน #นักลงทุน #นักลงทุนต่างชาติ