food

‘ออสเตรีย’ คุมเข้มร้านอาหาร สั่งชี้แจงแหล่งที่มาวัตถุดิบให้ชัด!

ธุรกิจร้านอาหารจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งประกอบไปด้วยการจัดหาวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การจัดเก็บสินค้า ไปจนถึงกระบวนการจัดส่งสินค้าสู่ผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้หากขั้นตอนไหนไม่วางแผนและกำหนดปริมาณ และควบคุมต้นทุนให้ดีก็จะส่งผลต่อกำไรสุทธิของธุรกิจอาหารอย่างแน่นอน โดยเฉพาะด้านการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจประเภทนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาร้านอาหารต้องประสบกับปัญหาต้นทุนสูงจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่าเกิดเงินเฟ้อนั่นเอง แต่นอกจากเงินเฟ้อแล้ว ยังมีอีกหลายๆ ประเทศเริ่มบังคับใช้กฏเกณฑ์ที่คุมเข้มด้านการนำเข้าเพราะต้องการกระตุ้นสินค้าในประเทศของตัวเอง

‘ออสเตรีย’ หนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการชี้แจงข้อมูลด้านแหล่งที่มาของวัตถุดิบในธุรกิจอาหารเป็นอย่างมาก ล่าสุดได้ประกาศใช้กฎเข้ม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 บังคับให้สถานบริการอาหารขนาดใหญ่ อย่างโรงอาหารในบริษัท โรงพยาบาล สถานศึกษา และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของวัตถุดิบประเภทเนื้อสัตว์ นม ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่ ให้เป็นที่รับทราบแก่สาธารณะอย่างชัดเจน เช่น การติดป้ายประกาศ หรือการระบุข้อมูลไว้ที่เมนูอาหาร ซึ่งต้องระบุชัดถึงสัดส่วนของวัตถุดิบแต่ละชนิดดังกล่าวว่ามีแหล่งที่มาจากออสเตรีย หรือประเทศในสหภาพยุโรป หรือประเทศนอกสหภาพยุโรป (ถ้ามี) อย่างละกี่เปอร์เซ็นต์

โดยจะยกให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ตรวจตราและจะมีบทลงโทษหากมีการละเมิดกฎบ่อยครั้ง ทั้งนี้ วัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ เนื้อไก่ เนื่องจากมีที่มาจากภายในประเทศเพียงร้อยละ 10 ที่เหลือมาจากการนำเข้า ขณะที่เนื้อหมูมีแหล่งที่มาจากภายในประเทศราว 70-80% เนื้อวัว 80% และไข่ 70%

ด้านนายนอร์แบร์ต โทตชนิก (Norbert Totschnig) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร คาดหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสของแหล่งที่มาของอาหาร ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภค และส่งผลประโยชน์ต่อเกษตรกรภายในประเทศ สำหรับร้านอาหารทั่วไปยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการนี้แต่สามารถปฏิบัติตามได้โดยสมัครใจ

ซึ่งประเด็นนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นว่า แนวโน้มการตลาดและความนิยมของผู้บริโภคในออสเตรียในปัจจุบันมุ่งเน้นสินค้าที่มาจากท้องถิ่นเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ด้วยเหตุผลด้านคุณภาพและความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (หลีกเลี่ยงมลภาวะซึ่งเกิดจากการขนส่ง) และความยั่งยืน การบังคับใช้มาตรการนี้จะยิ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องหลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบนำเข้า อย่างไรก็ดี ยังคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ แต่สินค้าเหล่านั้นจะต้องผ่านมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของออสเตรียและสหภาพยุโรป และจะเลือกนำเข้าจากประเทศใกล้เคียงและสมาชิกสหภาพยุโรปก่อนเป็นลำดับแรก

ขณะที่ในมุมของ ‘Business+’ มองว่า กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อไก่ของประเทศไทย จากการที่เราเป็นผู้ผลิตไก่อันดับต้นๆ ของโลก เพราะถึงแม้ว่ากฏนี้จะเพิ่มความโปร่งใสของแหล่งที่มาของอาหารและส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่หากเป็นกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันที่มักจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ก็อาจจะเลือกร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่าร้านที่นำเข้าวัตถุดิบ และอาจส่งผลต่อการเติบโ ตของเนื้อไก่ไทยสำคัญของประเทศไทย เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตไก่เนื้อไทยจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กฏการนำเข้าที่เข้มงวด หรือประกาศที่สำคัญของประเทศคู่ค้าจะมีผลต่อภาษี และ Supplier อย่างแน่นอน

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS