‘FTA’ มีความสำคัญอย่างไรกับไทย?

FTA ย่อมาจาก Free Trade Area หรือเขตการค้าเสรี เป็นความตกลงระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป หรือเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดหรือลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เหลือเป็น 0% และใช้อัตราภาษีปกติที่สูงกว่ากับประเทศนอกกลุ่มเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างกันภายในกลุ่ม โดยแต่ละประเทศก็จะผลิตสินค้าที่ประเทศตนเองได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) มากที่สุด นำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ประเทศตนเองไม่มีศักยภาพในการผลิตหรือความถนัดเพียงพอ ถือเป็นการทำการค้าสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ซึ่งประเทศคู่สัญญาของ FTA ไม่เพียงแค่อำนวยความสะดวกในเรื่องการค้าซื้อขายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการค้าด้านบริการด้วย เช่น บริการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล การสื่อสาร การขนส่ง ฯลฯ รวมถึงให้ความร่วมมือในเรื่องของการลงทุนให้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เป็นต้น

สำหรับนโยบายการค้าเสรีมี 4 ข้อดังนี้

1. ดำเนินการผลิตตามหลักการแบ่งงานกันทำ โดยเป็นการเลือกผลิตสินค้าที่ประเทศนั้นมีความถนัดและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

2. ไม่เก็บภาษีคุ้มกัน (Protective Duty) เพื่อคุ้มครองหรือปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

3. ไม่ให้สิทธิพิเศษหรือกีดกันสินค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับสินค้าทุกประเทศเท่า ๆ กัน

4. เรียกเก็บภาษีในอัตราเดียวและให้ความเป็นธรรมแก่สินค้าของทุกประเทศเท่ากัน ไม่มีข้อจำกัดทางการค้า (Trade Restriction) ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ ยกเว้นการควบคุมสินค้าบางอย่างที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ศีลธรรม จรรยา หรือความมั่นคงของประเทศ

ปัจจุบันไทยมี FTA รวม 14 ฉบับ กับคู่ค้า 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ (กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง ซึ่งในปี 2565 การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ FTA มีมูลค่า 359,542.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.1% จากปีก่อน โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 171,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากประเทศคู่ FTA มูลค่า 187,753.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ปี 2566 ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารไปตลาดโลก มีมูลค่า 24,161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารกับ 18 ประเทศ FTA มูลค่า 16,805 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12% จากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 70% ของการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมด

ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มูลค่า 5,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23%, น้ำตาลทราย มูลค่า 2,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14%, สินค้าปศุสัตว์ มูลค่า 2,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6%, ข้าว มูลค่า 1,011 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 69% และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 909 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1%

ทั้งนี้จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าประเทศคู่ค้า รวมถึงกลุ่มเศรษฐกิจที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาด้วยนั้น ถือเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่แตกต่างกัน ช่วยเกื้อหนุนในเรื่องของธุรกิจ การลงทุน โดย 18 ประเทศที่ไทยเป็นพันธมิตรคู่ค้ามีบทบาทการแข่งขันการค้าในระดับเวทีโลก ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า รวมถึงคุณภาพที่ถูกยอมรับระดับโลก

อีกทั้งรายได้ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจส่วนหนึ่งก็มาจากการส่งออกไป 18 ประเทศ ที่ถือเป็นการสร้างรายได้มหาศาลให้กับไทย สำหรับสินค้าของไทยมักถูกเป็นที่จับตามองในตลาดโลก ด้วยมีความเป็นเอกลักษณ์ ยากที่จะลอกเลียนแบบ ความอุดมสมบูรณ์ก่อเกิดจนสร้างสมดุลของสินค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งกลุ่มสินค้ายอดนิยมของไทยมักเป็นกลุ่มอาหาร สังเกตได้จาก 8 เดือนที่ผ่านมายอดส่งออกมากกว่าครึ่งที่ไปตลาดโลกอยู่ใน 18 ประเทศนี้

อย่างไรก็ดีแนวโน้มในอนาคตไทยก็มีการวางแผนเจรจาทำสนธิสัญญา FTA รวมถึงเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อต่อยอด สร้างความแข็งแกร่งของรากฐานการค้า และขยายตลาดให้เป็นวงกว้างมากกว่าเดิม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ ประเทศมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเป็นการกระจายความเสี่ยงในการทำการตลาดที่ไม่เจาะจงเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งการวางยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และต้องมีอุปสรรคน้อยที่สุด

.

ที่มา : กรมศุลากร, วิกิพีเดีย, scbtradenet, กรมการค้าต่างประเทศ

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #FTA #เขตการค้าเสรี #เศรษฐกิจ #เศรษฐกิจไทย #คู่ค้า