foreign workers

ต่างด้าวเข้าทำงานในไทยน้อยลงเกินครึ่ง แรงงาน ‘กัมพูชา’ เหลือ 2 แสน จากเดิมเฉียด 7 แสนคน

ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยควบคุมการระบาดของโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เช่น การระงับการเคลื่อนย้ายแรงงานตามชายแดน การชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าว ซึ่งได้ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยน้อยลง ซึ่งถึงแม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการหลัง COVID-19  คลี่คลาย แต่การสภาวะการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวก็ยังดูเหมือนจะไม่กลับมาเท่าเดิมในเร็วๆ นี้

ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่น้อยลงจะกระทบต่อโครงสร้างตลาดแรงงานไทยของไทยเป็นอย่างมาก เพราะไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) ที่ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะทำให้เราเกิดภาวะขาดแคลนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างภาคเกษตรกรรม ประมงและก่อสร้าง ซึ่งจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในงานที่คนไทยไม่นิยมทำเพราะเห็นว่าเป็นงานหนัก สกปรก และอันตราย ดังนั้น แรงงานต่างด้าวจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก

โดย ‘สายงานเศรษฐกิจและวิชาการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย’ ได้รายงาน จำนวนแรงงานต่างด้าว ของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนทั้งหมด 1,425,809 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงสูงถึง 52.56% จากเดือนธันวาคม 2562 ที่ประเทศไทยยังมีจำนวนแรงงานต่างด้าวถึง 3,005,376 คน

สำหรับจำนวนแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศที่เข้ามาทำงานสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

– เมียนมา จำนวน 848,173 คน เทียบกับเดือน ธ.ค. 2562 จำนวน 1825979 คน ซึ่งละลงไป 53.55%

– กัมพูชา จำนวน 202,364 คน ลดลง 70.54% จากเดือนธ.ค.2562 ที่มีจำนวน 687,009 คน

– ส่วนประเทศลาว มีจำนวน 133,859 คน ลดลง 52.42% จากเดือนธ.ค.2562 จำนวน 281,345 คน

โดยอาชีพที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เกษตรและปศุสัตว์ จำนวน 219,320 คน เพิ่มจาก 138,656 คน เพิ่มขึ้น 58.18% อันดับที่ 2 ก่อสร้าง มีจำนวนแรงงาน 186,831 คน ลดลง 8.69% จากเดิม 204,614 คน และอันดับที่ 3 ภาคบริการ จำนวน 48,878 คน จาก 98,911 คน ลดลง 50.58%

ที่มา : สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว , FTI

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #นิตยสารBusinessplus