‘ผัดงอแง’ กับการตลาดที่สร้างประสบการณ์ให้ผู้ชม จาก Netflix Originals ‘HUNGER คนหิว เกมกระหาย’

สำหรับ Netflix Originals เรื่องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวทาง Netflix ไปเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา และได้ขึ้นสู่อันดับ 1 จากการจัดอันดับภาพยนตร์ 10 อันดับสูงสุดในสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับภาพยนตร์ไทยเรื่อง Hunger คนหิว เกมกระหาย ซึ่งพอลงสตรีมมิ่งก็เกิดเป็นกระแส ทั้งนักวิจารณ์ภาพยนตร์ คนดูหนังทั่วไป และผู้ที่ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับอาหาร จนเกิดการถกเถียงกันในสื่อโซเชียลมีเดียมากมาย เกี่ยวกับวิธีการทำอาหาร การทำงานในครัว รวมทั้งเมนูอาหารในเรื่องอย่าง ‘ผัดงอแง’ ซึ่ง Netflix ได้เปิด Pop-Up Store  ชื่อ HUNGER RESTAURANT เพื่อขายเมนูนี้ อีกทั้งมีการคอลแลบกับ Rosa ออกซอสสารพัดผัดปรุงสำเร็จ สำหรับปรุงเมนู ‘ผัดงอแง’ เองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน ทำการตลาดต่อยอดประสบการณ์การดูหนัง ให้ผู้ชมได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากคอนเทนต์ที่ Netflix ซื้อไลเซนส์เพื่อลงในแพลตฟอร์มตัวเองแล้ว เน็ตฟลิกซ์ยังให้ความสำคัญกับ Netflix Originals ด้วย โดยการเป็นผู้ร่วมลงทุนหรือให้สร้าง Original Content ของทาง Netflix เองในประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือสารคดี เพื่อเป็นการดึงดูดให้ผู้ชมมาใช้บริการสตรีมมิ่งของ Netflix เนื่องจากคอนเทนต์เหล่านี้ดูได้ทางแพลตฟอร์มของ Netflix เท่านั้น รวมถึงในประเทศไทยเอง ก็มี Netflix Originals มาแล้วหลายเรื่อง เช่น เคว้ง, เด็กใหม่ 2, Ghost Lab และล่าสุดเน็ตฟลิกซ์เปิดตัว ‘Hunger คนหิว เกมกระหาย’ Netflix Originals ของไทย กำกับโดย โดม สิทธิศิริ มงคลศิริ ซึ่งเคยกำกับภาพยนตร์ แสงกระสือ ซึ่งได้รับรางวัลจากเวทีสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 ถึง 6 รางวัล

 

โดย ‘Hunger คนหิว เกมกระหาย’ จะเป็นเนื้อหาที่พูดถึงเรื่องการทำอาหาร อาชีพเชฟ เรื่องราวของคนในครัว และเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำและชนชั้นทางสังคมผ่านอาหาร รวมทั้งเสียดสี จิกกัด ชนชั้นบนของสังคมอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งบางคนก็บอกว่าเหมือนการสั่งสอนจนเกินไป แต่บางคนก็ชื่นชอบในฉากทำอาหาร ทำให้เกิดประเด็นวิจารณ์ถกเถียงกันมากมาย ตั้งแต่เรื่องในครัว ไปจนถึงประเด็นสังคมที่ผู้สร้างนำมาบิดและใส่ลงไปในภาพยนตร์ และสิ่งที่ทำให้ Hunger เป็นกระแสยิ่งขึ้นไปอีกคือ เมนูอาหารที่ชื่อว่า ‘ผัดงอแง’ ที่มีสตอรี่เกี่ยวกับครอบครัว (จุดนี้ Business+ ไม่ขอสปอยล์) ด้วยสตอรี่และการปรุงในหนังที่ดูน่ากิน ทำให้ผู้ชมหลายคนอยากลิ้มรสอาหารจานนี้จริง ๆ  ซึ่งก็มีการคาดเดาว่าผัดงอแงในหนังได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘ผัดงี่เง่า’ ร้านเจ๊เบญ ย่านเยาวราช ที่มีที่มาจากการหาวัตถุดิบโน่นนี่มาทำเมนูให้หลานที่เป็นคนกินยากกิน ผัดงอแงจึงกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ส่งอิทธิพลต่อผู้ชม

แล้วทาง Netflix ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ร่วมทำการตลาดจากซอฟต์พาวเวอร์นี้กับโรซ่า เกิดเป็น Rosa x Hunger เปิดตัวซอสสารพัดผัดปรุงสำเร็จ ตราโรซ่า เชฟแอทโฮม ซอสสูตรพิเศษสำหรับปรุง ‘ผัดงอแง’ เมนูในภาพยนตร์ Hunger ที่ทุกคนอยากลองชิม นี่ถือเป็นการทำ Collaboration Marketing ที่ช่วยขยายฐานลูกค้าของทั้งสองแบรนด์ ทำให้แต่ละแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ และแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจจากการรวมกันครั้งนี้

 

โดยเน็ตฟลิกซ์ใช้ความแข็งแกร่งด้านการสื่อสารทำให้กระแสของหนังยังคงเป็นพูดถึงนอกเหนือไปจากเนื้อหาของภาพยนตร์ สร้างช่องทางให้ผู้ชมได้สัมผัสรสชาติจริง ๆ ของอาหาร ช่วยเชื่อมโยงและเติมเต็มประสบการณ์ของผู้ชมได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยส่งเสริมการตลาดให้กับแบรนด์โรซ่าด้วย และทางโรซ่าเองก็มีจุดแข็งคือผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม อย่างซอสปรุงสำเร็จ ซึ่งแยกออกมาเป็นแบรนด์ โรซ่า เชฟแอทโฮม ที่มีทั้งซอสพริกไทยดำ ซอสผัดผงกะหรี่ และซอสหม่าล่า เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคปัจจุบันที่การทำอาหารต้องเป็นเรื่องที่ง่าย รวดเร็ว เพียงแค่ใช้วัตถุดิบไม่กี่อย่าง การทำซอสปรุงผัดงอแงออกมาจึงเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มี Loyalty ต่อแบรนด์ และผู้บริโภคที่เป็นผู้ชมภาพยนตร์ได้ลิ้มลอง

Rosa x Hunger

อีกทั้ง ยังมีการเปิด Pop-Up Store : HUNGER RESTAURANT ตั้งแต่วันที่ 11-23 เม.ย. 66 ที่ Groove ชั้น G ของ CentralWorld โดยร้านถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง คือฝั่งเชฟพอลที่เสิร์ฟอาหารแบบ Fine dining ตกแต่งร้านด้วยธีมสีดำเรียบหรู ต่างกับฝั่งเชฟออยที่มากับอาหารจานครอบครัว อย่างผัดงอแง มาในธีมร้านสีขาวตกแต่งเหมือนร้านอาหารริมทาง คอนทราสต์กันอย่างชัดเจนตามเรื่องราวในภาพยนตร์ ทำให้คนที่ไปกินอาหารรู้สึกเหมือนได้เป็นหนึ่งเดียวกับหนัง

และทั้งหมดนี้ก็คือการทำการตลาดของเน็ตฟลิกซ์ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงประสบการณ์จากหนังกับชีวิตจริงเข้าด้วยกัน ซึ่งสังเกตได้ว่าก่อนหน้านี้เน็ตฟลิกซ์เองก็มีการทำการตลาดร่วมกับการท่องเที่ยวฯ สร้างคู่มือการท่องเที่ยวไทย เพื่อให้คนไปตามรอยหนัง บนเว็บไซต์ www.thailandtravelmap.com ที่ Business+ เคยกล่าวถึงในบทความก่อน โดยอาศัยซอฟต์พาวเวอร์เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้ชมเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเน็ตฟลิกซ์จะทำการตลาดในรูปแบบไหนต่อไปในอนาคต

 

ที่มา Netflix, Thairath, Roza Food

 

เขียนและเรียบเรียง : สีน้ำ แผ่วฉิมพลี

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/