concert

กลยุทธ์ผู้จัดคอนเสิร์ต ที่อยากอัพราคาบัตรผ่าน Benefit

ปัจจุบัน ‘ราคาบัตรคอนเสิร์ต’ เฟ้อเป็นอย่างมาก ซึ่งราคาที่แพงขึ้นกว่าปกตินั้น มักแอบแฝงอยู่ในรูปแบบสิทธิพิเศษ (Benefit) ที่ทำให้บัตรมีแวลู่เพิ่มขึ้น และเป็นที่ต้องการมากกว่าเดิม จนทำให้เกิดการขายบัตรอัพราคา หรือให้เข้าใจง่ายก็คือ การขายบัตรต่อที่แพงกว่าปกติตามปริมาณความต้องการเฉพาะกลุ่ม

โดยทุกวันนี้มีการจัดคอนเสิร์ต (Concert) มากขึ้น ช่วงระยะเวลาเดียวกันอาจมีมากถึง 3 งานแสดง ซึ่งทางผู้จัดก็มีการเพิ่มรอบการแสดงจาก 1 วันเป็น 2 วัน ตามกระแสเรียกร้องของแฟนคลับ โดยราคาบัตรก็จะแตกต่างกันไป จากผลสำรวจล่าสุด ราคาจะเริ่มตั้งแต่ 2,600-18,000 บาท

ขณะที่ส่วนของการจัดแฟนมีตติ้ง (Fan Meeting) หรือก็คือ มีตแอนด์กรี๊ดศิลปิน มีการเปิดขายบัตรเช่นเดียวกับงานคอนเสิร์ต แต่จะมีแค่บัตรนั่ง (Seat) ต่างจากคอนเสิร์ตที่มีทั่งนั่งและยืน (Stand) ซึ่งแฟนมีตติ้งจะเน้นการพบปะพูดคุยกับแฟนคลับ ทำกิจกรรมร่วมกัน มากกว่างานคอนเสิร์ตที่ศิลปินจะเน้นการร้องเพลงเป็นหลัก จากผลสำรวจล่าสุด ราคาจะเริ่มตั้งแต่ 2,500-10,000 บาท

นอกจากการจัดคอนเสิร์ต การจัดแฟนมีตติ้ง ยังมีการจัดกิจกรรมที่มาในชื่อของแฟนคอน (Fancon) ซึ่งมีความนิยมไม่แพ้กัน โดยงานนี้จะเป็นการทำกิจกรรม พูดคุยกับแฟนคลับ พร้อมกับการแสดงร้องเพลงร่วมด้วยซึ่งแฟนคอนอาจจะมีการร้องเพลงมากกว่าแฟนมีตติ้ง แต่ระยะเวลาการจัดแฟนคอนนั้นจะสั้นกว่าคอนเสิร์ต ซึ่งถ้าหากเทียบราคาบัตรแฟนคอนกับราคาบัตรคอนเสิร์ตนั้น ราคาบัตรแฟนคอนอาจมีราคาแพงกว่าราคาบัตรคอนเสิร์ตด้วยซ้ำ ซึ่งผลสำรวจล่าสุด ราคาจะเริ่มตั้งแต่ 2,200-6,500 บาท

อย่างไรก็ตามราคาบัตรก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดในรอบการแสดงนั้น ๆ ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีการตั้งราคาที่ต่างกันไป โดยอาจจะอิงตามค่าเฉลี่ย และฐานความนิยมของกลุ่มศิลปิน รวมทั้ง Benefit ที่จะมอบให้แฟนคลับ หากยิ่งเอ็กซ์คลูซีฟราคาก็จะพุ่งแรง

ทั้งนี้ Benefit ถือเป็นสิ่งที่แฟนคลับทุกคนอยากได้รับ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยกับรายจ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งแฟนคลับทุกคนก็พร้อมที่จะจ่าย และในแต่ละระดับราคาก็จะมี Benefit ที่แตกต่างกัน หรือแม้จะจ่ายในราคาที่เท่ากันก็ยังมีการสุ่มผู้โชคดี ในบางครั้งจึงทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงความสมเหตุสมผลในราคาบัตรที่จ่ายไป

โดย ‘Business+’ จะพาทุกท่านมาส่องกลยุทธ์หลัก ๆ ในการช่วยเพิ่มมูลค่าบัตรคอนเสิร์ตของผู้จัดผ่าน Benefit ที่เมื่อนำไปเป็นข้อเรียกร้องก็อาจจะไม่ได้ผลเพราะก่อนการตัดสินใจซื้อจะมีการกดยอมรับนโยบายก่อนเสมอ รวมถึงทุกการตัดสินใจจะอยู่ที่ผู้จัดเสมอซึ่งทุกอย่างอาจมีการปรับเปลี่ยนหน้างานได้เช่นกัน

กลยุทธ์ที่ 1 : VVIP-VIP

คือ บุคคลที่ได้รับ Benefit มากที่สุด ไม่ว่าจะในเรื่องของอะไรก็ตาม ทั้งทางเข้าคอนเสิร์ต และการดูแลจากการ์ด ยกตัวอย่าง คอนเสิร์ต BLACKPINK ผู้ที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตแบบแพ็กเกจ VIP จะได้สิทธิเข้าชมรอบ Soundcheck, เข้าพื้นที่การแสดงก่อน, ซื้อ Tour Merchandise ก่อน และได้รับสายคล้องคอพร้อมป้ายที่ระลึก 1 ชุด ซึ่งราคาบัตร VIP อยู่ที่ 14,800 บาท ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าบัตรที่ยกคำว่า VIP ขึ้นมาให้ดูแตกต่างอย่างมีชั้นเชิง

กลยุทธ์ที่ 2 : Send Off

คือ การที่เราสามารถยืนรอพูดคุย-รับส่งศิลปินหลังแสดงคอนเสิร์ตจบ หรืออาจจะเป็นศิลปินที่ยืนส่งเราออกจากฮอลล์หลังจบงานแสดง ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับทางผู้จัดงาน ซึ่งแฟนคลับที่จะได้รับสิทธิ Send Off นั้นจะต้องซื้อบัตรที่ราคาแพงที่สุด

กลยุทธ์ที่ 3 : Group Photo

คือ การถ่ายรูปรวมที่มีศิลปินเป็นเซ็นเตอร์ ซึ่ง Benefit นี้ผู้ที่ซื้อบัตรแพงสุดจะได้รับสิทธินั้นไปโดยชอบธรรม แต่บัตรที่ราคาลดระดับลงมาจะมีการสุ่มผู้โชคดีเพื่อให้ได้รับสิทธินี้ ซึ่งแต่ละงานก้มีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่าพันคน เรียกได้ว่าอาจเป็นผู้โชคดี 1 ในพัน

กลยุทธ์ที่ 4 : Press Conference

คือ การเข้าร่วมงานแถลงข่าวรอบสื่อ ซึ่งรอบสื่อนี้จะเป็นการสุ่มจากผู้ที่ซื้อบัตรราคาแพงสุด โดยจากผลสำรวจการเข้าร่วมงานแถลงข่าวรอบสื่อนั้นมีการสุ่มผู้โชคดีที่น้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น EXO-SC BACK TO BACK FANCON IN BANGKOK มีการสุ่มผู้โชคดี จำนวน 50 คน จากผู้ซื้อบัตรราคา 6,500 และ 5,200 บาท เพื่อเข้าร่วมแถลงข่าวรอบสื่อ จึงยิ่งทำให้บัตรเป็นที่ต้องการมาก

กลยุทธ์ที่ 5 : Member Ship

คือ การที่สามารถซื้อบัตรได้ก่อนรอบทั่วไป โดยเราจะซื้อในนามเมมเบอร์ชิพ ซึ่งต้องมีการสมัครเมมเบอร์ชิพของค่ายผู้จัดนั้น ๆ ก่อน และต้องอยู่ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งราคาสมัครก็จะแตกต่างกันไป จากผลสำรวจราคาสมัครจะอยู่ที่ราว 1,000+ บาท และก่อนการกดบัตรจะต้องมีการกรอกโค้ดเมมเบอร์เพื่อยืนยันสิทธิ อย่างไรก็ดีเมื่อมีการสมัครเมมเบอร์มากขึ้นการที่บัตรจะตกไปอยู่ในรอบทั่วไปก็น้อยลง อาจถือเป็นการบังคับกลาย ๆ ที่ทำให้เราต้องสมัครเมมเบอร์ชิพ ซึ่งส่วนนี้จะทำให้มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากคิดบนสมมติฐานบัตรราคา 6,500 บาท และต้องสมัครเมมเบอร์อีก 1,300 บาท เท่ากับว่าการดูคอนเสิร์ตครั้งนี้จะเสียรวม 7,800 บาท

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทางฝั่งผู้ประกอบการนั้นมีการวางกลยุทธ์เพื่อให้สามารถมีรายได้ที่มากขึ้นได้แม้จะจัดเพียงงานเดียว ควบคู่ไปกับการป้องกันในด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาทีหลังหากถูกร้องเรียนถึงความไม่สมเหตุสมผลของราคาที่จำหน่าย โดยการให้ Benefit เป็นสิ่งทดแทนแก่ผู้บริโภค

.

ที่มา : thairath

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #Concert #ราคาบัตรคอนเสิร์ต #แฟนมีตติ้ง #Benefit #คอนเสิร์ต #Fancon #ราคาบัตรอัพ