Yen Japan

‘ญี่ปุ่น’ กำลังเสียความได้เปรียบการแข่งขัน ลุ้น! ปล่อยเยนอ่อนต่อ หรือ เข้าแทรกแซงรอบใหม่

ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น อ่อนค่าลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2563 ล่าสุด (4 ก.ค.2566) อยู่ที่ 144.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าอ่อนค่าสูงสุดใน 7 เดือน ซึ่งการอ่อนค่าครั้งนี้ ‘Business+’ มองว่ามีโอกาสที่จะอ่อนค่าไปสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2565 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี (147 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องนั้น เกิดจากเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่ชะลอตัวในช่วง COVID-19 และการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังชะลอตัวนั้น ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่สามารถใช้นโยบายตึงตัวที่เหมือนกับสหรัฐฯ จนทำให้เกิดส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยของ 2 ประเทศที่กว้างมากขึ้น โดย FED ใช้นโยบายการเงินตึงตัวด้วยการขึ้นดอกเบี้ย ส่วน BOJ ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ดังนั้น หากขึ้นดอกเบี้ยตาม FED ก็จะทำให้หนี้ของภาคธุรกิจสูงตาม (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น เท่ากับต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้นตาม)

“ปัจจุบันญี่ปุ่นมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ -0.1% ส่วน FED มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.00-5.25% และทาง FED ระบุชัดเจนว่าจะยังไม่เร่งลดดอกเบี้ยในปี 2566 เพราะอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง”

จะเห็นได้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ต่างกันอย่างมาก เทียบกับไทยซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% และยิ่งส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ เทียบกับญี่ปุ่นต่างกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งกดดันให้เงินเยนถูกขายออกจนเกิดปัญหาเงินเยนอ่อนค่าอย่างรุนแรง เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในสหรัฐฯ ได้กระตุ้นให้นักลงทุนลดการถือครองเงินเยนและหันไปซื้อดอลลาร์ที่ผลตอบแทนที่สูงกว่า (ธรรมชาติของเม็ดเงินลงทุนที่จะวิ่งไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่า)

ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ค่าเงินเยนได้อ่อนตัวไปสู่ระดับ 144-145 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ทาง BOJ ต้องรีบเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา (FX) เพื่อให้ค่าเงินเยนแข็งค่าเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปีนับตั้งแต่ปี 2541 (ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง) โดยขณะนั้นญี่ปุ่นได้แทรกแซงด้วยการช้อนซื้อเงินเยนโดยใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 7.6 แสนล้านบาท แต่ก็ทำให้ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าได้ไม่นาน เพราะทาง FED ยังคงใช้นโยบายการเงินเข้มข้นปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อสะกัดเงินเฟ้อ (ขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 10 ครั้ง) หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่ BOJ ก็ยังต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบพิเศษเพราะเศรษฐกิจยังไม่เติบโตเต็มที่ โดยในปี GDP ญี่ปุ่นเติบโตได้เพียง 1.1% และยังมีแนวโน้มว่ากำลังซื้อภายในประเทศจะยังอ่อนแอ ซึ่งการใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกับสหรัฐฯ ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยของ 2 ประเทศ ทิ้งห่างกันมากขึ้น

JPY

โดยปัจจุบันนี้ (เดือนก.ค.2566) เงินเยนได้อ่อนค่าจนกลับมาแตะระดับ 144.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้นักการเงินคาดการณ์ว่า BOJ อาจจะต้องทำการแทรกแซงค่าเงินเยนอีกครั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพ และลดความเสียเปรียบในการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศ เพราะค่าเงินที่อ่อนค่าอย่างมากนั้นจะทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าของญี่ปุ่นจะสูงขึ้นมาก และส่งผลให้ประเทศขาดดุลการค้า

เห็นได้ชัดเจนจากเดือนมิ.ย.2566 ที่ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 1.38 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็นประมาณ 9.99 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุล 11 เดือนติดต่อกัน เกิดจากมูลค่าการนำเข้าพุ่งขึ้น 46.1% โดยเฉพาะต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน รวมถึงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่สูงขึ้นเฉียดเท่าตัว

โดยประเด็นนี้ นักวิเคราะห์หลายสถาบันต่างมองว่าค่าเงินเยนมีโอกาสจะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดย ‘ห้องค้ากสิกรไทย’ ประเมินว่าค่าเงินเยนมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องไปทดสอบระดับ 150 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หาก BOJ ไม่เข้าแทรกแซงค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ‘Business+’ มองว่า การเข้าแทรกแซงนั้น ใช้เงินจำนวนมหาศาล และอาจไม่ได้ส่งผลดีในระยะยาว เพียงแต่ช่วยรักษาเสถียรภาพและช่วยเหลือคนในประเทศได้เพียงชั่วคราว (คนในประเทศต้องใช้เงินเยนซื้อสินค้ามากขึ้น) เพราะถ้าหากความต้องการเงินเยนซึ่งเป็นดีมานด์ที่แท้จริงของตลาดโลกยังน้อยก็จะทำให้ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนค่าได้อีก

นอกจากนี้ถึงแม้ค่าเงินเยนอ่อนค่าจะทำให้ญี่ปุ่นเสียเปรียบทางการแข่งขันในการค้าโลก และนำมาสู่การขาดดุลการค้า แต่หากมองในแง่ของประโยชน์ที่จะเกิดกับกลุ่มธุรกิจ ต้องบอกว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก เนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ส่งผลให้ชาวต่างชาติแลกเงินสกุลตัวเองเป็นเงินเยนได้มากขึ้น (ในอนาคตหากภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวเต็มที่จะทำให้ความต้องการเงินเยนแข็งค่าขึ้น)

โดยหากเราเทียบเงิน ‘เยนกับเงินบาทไทย’ จะพบว่า เยนอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 26 ปี เนื่องจากค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นจากเสถียรภาพทางการเมือง และการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว และไทยเองยังปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับสหรัฐฯ โดยเดือนพ.ค.2566 เงินเยนเทียบเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดที่ระดับ 24.79 บาทต่อ 100 เยน ก่อนที่จะขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงเดือนก.ค.2566 แต่ก็ยังอยู่ในช่วงราวๆ 24.30 บาท แลกได้ 100 เยน

ที่มา : BOT ,FED,BOJ,IQ
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS