ADVICE

ADVICE น้องใหม่ตลาดหุ้น สะเทือนวงการค้าปลีก IT สร้างแบรนด์ด้วยการขายออนไลน์ ‘จัดโปรฯ’ กระหน่ำ!

บมจ.แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท หรือ ADVICE ร้านขายสินค้า และอุปกรณ์ IT ที่ทุกคนรู้จักกันดี กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย (SET) เร็วๆ นี้ ซึ่งถึงแม้ว่า ADVICE จะก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2539 และปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในบริษัทค้าปลีกสินค้า IT ที่มียอดขายมากที่สุดติดอันดับ 1-4 ของไทย แต่สำหรับวงการตลาดหุ้นแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย หลังจากรุ่นพี่ค้าปลีก-ค้าส่งสินค้า IT อย่าง COM7 , IT City , SVOA , SIS ที่เข้าตลาดหุ้นไปหลายปีแล้ว (ช้าที่สุดคือ COM7 เข้าตลาดหุ้นในปี 2558)

สิ่งที่น่าสนใจของ ADVICE คือ การเป็นบริษัทที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยการขายสินค้า IT ผ่านช่องทางเว็บไซต์เป็นรายแรกของประเทศไทย บนเว็บไซต์ www.advice-info.com และได้เปลี่ยนเป็น www.advice.co.th ในปัจจุบัน และยังคงเป็นเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซสาย IT ที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดของประเทศเป็นอันดับ 1 (ที่มา: Similarweb เดือนส.ค.– ต.ค.66)

โดยปัจจุบัน ADVICE สินค้าไอทีผ่านช่องทางสาขาและช่องทางออนไลน์ โดยมีสาขารวมทั้งหมด 338 สาขา ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง 110 แห่ง และแฟรนไชส์ 228 แห่ง ครอบคลุม 75 จังหวัดในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และสาขาในสปป.ลาวอีก 25แห่ง

สำหรับจุดเด่นของ ADVICE ที่ ‘Business+’ พบจากข้อมูลในงบการเงิน คือ การขายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นไม่ว่าจะเป็น คอมเซเว่น , ไอที ซิตี้ หรือ เจ.ไอ.บี. โดยที่ ADVICE ใช้เวลาในการขายสินค้าเฉลี่ยเพียง 23 วัน (คำนวณจาก 365/อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ) ส่วน คอมเซเว่น เจ้าของแฟรนไชส์ Banana ใช้เวลา 49 วัน , เจ.ไอ.บี. ใช้เวลา 47 วัน ส่วนไอที ซิตี้ ใช้เวลา 60 วัน (ข้อมูล Corplusx) ซึ่งจากการสำรวจตลาดเราพบว่า ADVICE มีการจัดโปรโมชั่นสินค้าอยู่บ่อยครั้งกว่าคู่แข่งรายอื่น

IT

ซึ่งการจัดโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่องนี้อาจทำให้ตลาดค้าปลีกสินค้า IT เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากเดิม เพราะธรรมชาติของธุรกิจค้าปลีกสินค้า IT แล้ว หลักการคือ ซื้อมา-ขายไป ซึ่งต้องเร่งระบายสินค้าในสต๊อกออกไปให้เร็วที่สุด แต่หากมีแบรนด์ใดกดราคาขายสินค้าได้ต่ำกว่าก็จะทำให้สินค้าขายดี ส่วนแบรนด์ที่ไม่ยอมลดราคาก็จะขายสินค้าได้ช้ากว่า และอาจต้องเจอกับภาวะสินค้าค้างสต๊อกจากเทคโนโลยี และเทรนด์ใหม่ๆที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว

แต่ถึงแม้ว่าการจัดโปรโมชั่น และใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคาจะทำให้บริษัทมียอดขายสูง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยกำไรที่ต่ำลง  สะท้อนให้เห็นจากอัตรากำไรขั้นต้นของ ADVICE ที่มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นเพียง 8.54% (คำนวณจาก กำไรขั้นต้น/รายได้จากการขาย) เมื่อเทียบกับคู่แข่งอีก 3 รายแล้วถือว่าต่ำกว่าอย่างมากเลยทีเดียว (คอมเซเว่น 12.83% , ไอที ซิตี้ 15.99% ,เจ.ไอ.บี. 15.61%)

โดยผลการดำเนินงานย้อนหลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563 – 2565) เป็นดังนี้

  • รายได้ปี 2563 จำนวน 12,541.2 ล้านบาท กำไรสุทธิ  233.8 ล้านบาท
  • รายได้ปี 2564 จำนวน 14,305.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ  430.2 ล้านบาท
  • รายได้ปี 2565 จำนวน 14,388.2 ล้านบาท กำไรสุทธิ 205.7 ล้านบาท

และในช่วง 9 เดือนของปี 2566 มีรายได้จากการขายและบริการจำนวน 10,336.5 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 136.5 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 8.1% ต่อปี แต่ความสามารถในการทำกำไรยังอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยกว่ารายอื่นๆ

อย่างไรก็ตามทาง ADVICE การเข้าตลาดจะทำให้ ADVICE ได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้น และจะเป็นช่องทางสำหรับการหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่าการกู้เงินจากธนาคารเพียงอย่างเดียว โดยบริษัทฯ ได้เปิดเผยถึงแผนขยายธุรกิจในอนาคตภายหลังจากการเข้าตลาดหุ้นเอาไว้ในหนังสือชี้ชวนว่า จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวนประมาณ 527.3 ล้านบาท มาใช้เพื่อขยายธุรกิจ ด้วยแผนการขยายสาขาใหม่ โดยตั้งเป้าในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยการขยายสาขาเพิ่มอีก 20 แห่ง พร้อมขยายสาขาแฟรนไชส์อีก 30 แห่ง นอกจากนี้ มีแผนจะเปิด “iStudio by Advice” เพื่อเป็นตัวแทนขายสินค้าของ Apple อย่างเป็นทางการ ภายในไตรมาส 1/2567 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มยอดขายให้กับ ADVICE ได้อีกจำนวนมาก

อีกทั้งยังมีแผนปิดจุดอ่อนเรื่องความสามารถในการทำกำไรผ่านการปรับประเภทผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย และขยายฐานลูกค้าองค์กร ซึ่ง ‘Business+’มองว่า หาก ADVICE สามารถปิดจุดอ่อนเรื่องอัตราการทำกำไรได้ ก็จะทำให้บริษัทมีกำไรที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมั่นคงมากกว่าปัจจุบันที่ดูเหมือนจะเน้นการสร้างยอดขายด้วยการ ‘ลด แลก แจก แถม’ ซึ่งต้องยอมรับว่าจะทำให้บริษัทขายสินค้าได้รวดเร็วกว่าเจ้าอื่น และสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้ แต่ก็ทำให้ตลาดค้าปลีก IT มีการแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือด และอาจจะไม่ใช่การเติบโตที่ยั่งยืนนัก เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งรายอื่น

นอกจากนี้ในมุมมองของนักลงทุนแล้ว การที่ ADVICE ตั้งราคาขาย IPO หุ้นละ 3.24 บาทนั้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) เท่ากับ 10.00 เท่า (คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดหลังการเสนอขายหุ้น IPO ที่ 620,000,000 หุ้น) หากนำ P/E ของคู่แข่งอย่าง คอมเซเว่น ซึ่งมี P/E อยู่ที่ 18.63 เท่า (กลุ่มค้าปลีกสินค้า IT) จะเห็นว่า ADVICE มีค่า P/E ที่ต่ำกว่า แสดงให้เห็นว่า หากเราลงทุนในหุ้น ADVICE วันนี้จะคืนทุนภายใน 10 ปี แต่จะคืนทุนจากการซื้อหุ้นคอมเซเว่นในอีก 18.63 ปี 

อ่านคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้อง : https://www.thebusinessplus.com/it/

ที่มา : corpusx , SEC ,SET , เว็บไซต์บริษัท

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#thebusinessplus #BusinessPlus #ตลาดหลักทรัพย์ #SEC #SET #ตลาดหุ้น #หุ้นไอที #สินค้าไอที #IT