หากพูดถึงธุรกิจร้านขายปลีกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์จะมีอยู่ 4 แบรนด์ที่คุ้นตาคนไทยนั่นคือ Advice, Banana IT, It City และ JIB ซึ่งทั้ง 4 แบรนด์ต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่โดดเด่น แล้วแต่กลยุทธ์การตลาดของแต่ละแบรนด์
อย่างไรก็ตามหากเราวิเคราะห์ความสามารถในการบริหารธุรกิจจากอัตราส่วนทางการเงิน จะเห็นว่าการบริหารของแต่ละบริษัทมีจุดอ่อนและจุดแข็งที่แตกต่างกันไป ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นได้จากงบการเงิน
โดยธรรมชาติของธุรกิจค้าปลีกสินค้า IT แล้ว ความเสี่ยงที่อันตรายที่สุด คือ ความล้าสมัยของสินค้า และกระแสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง เพราะเทคโนโลยีจะเกิดการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา หากมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอย่างรวดเร็วก็จะทำให้สินค้าที่สต๊อกเอาไว้ขายไม่ออก หรือถึงขั้นต้องโละขายแบบขาดทุนหากไม่เร่งขายสินค้าออกไปตั้งแต่ที่รับเข้ามาขาย (เพราะเป็นธุรกิจที่ซื้อมา-ขายไป)
แต่การจะขายได้อย่างรวดเร็วนั้น ก็อาจจะต้องใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการขายเข้ามาดึงดูด เช่น การ “ลดแลก แจก แถม” จึงทำให้ธุรกิจนี้มีการแข่งขันด้านราคาสูง ซึ่งทำให้หลายบริษัทมีกำไรต่ำ ดังนั้น สิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องให้ความสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจนี้ คือ ระยะเวลาในการขายสินค้า และการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือ และควบคุมอัตรากำไรให้อยู่ในระดับสูง ซึ่งครั้งนี้ ‘Business+’ จะมาวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนของ 4 แบรนด์ค้าปลีกกันผ่านอัตราส่วนทั้ง 3 ด้าน คือ
- ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period) : หากมีระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยต่ำ แสดงให้เห็นว่าบริษัทขายของได้เร็ว ไม่มีสินค้าค้างสต๊อกนานๆ
- อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnovers Ratio) : หากมีอัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือสูง แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถระบายสินค้าคงเหลือได้ดี มีหรือมีสินค้าคงเหลือน้อย
- อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) : หากอัตราส่วนกำไรขั้นต้นสูง แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการตั้งราคาสินค้าได้สูง
ทั้งนี้จากข้อมูลงบการเงินในรอบปี 2565 หากจัดอันดับ 4 เจ้าของแบรนด์ค้าปลีกสินค้า IT ที่มีรายได้จากการค้าปลีกสูงที่สุด (ไม่รวมบริษัทค้าส่ง และไม่รวมรายได้จากการค้าส่ง) มี 4 บริษัทเรียงลำดับตามรายได้ค้าปลีกสูงที่สุด คือ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 , บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของแฟรนไชส์ และบริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด
แต่ถ้าหากเราจัดเรียงลำดับจากบริษัทที่ขายสินค้าได้รวดเร็วที่สุด ด้วยการใช้อัตราส่วนระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยมาเป็นเกณฑ์การจัดลำดับจะเปลี่ยนเป็นดังนี้
- บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) : ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย 23 วัน
- บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด : ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย 47 วัน
- บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 : ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย 49 วัน
- บริษัท ไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) : ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย 60 วัน
จะเห็นได้ว่า ‘แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท’ เจ้าของแฟรนไชส์ Advice ที่มีสาขาทั้งหมด 338 แห่ง เป็นบริษัทที่มีระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Holding period) ต่ำที่สุดใน 4 บริษัท ด้วยเวลาการขายสินค้าเพียงแค่ 23 วัน ซึ่งระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ยนั้น ถูกคำนวณได้จาก
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (วัน) = 365/อัตราหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ
ดังนั้น อัตราส่วนนี้ของ แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท ต่ำที่สุดใน 4 บริษัท แสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ สามารถขายสินค้าได้ในระยะเวลาที่เร็วกว่าคู่แข่ง ซึ่ง ข้อดี คือ ทำให้บริษัทไม่ต้องเก็บสินค้าคงเหลือไว้นานจนเกินไปจนอาจเกิดเป็นความเสี่ยงที่จะขายไม่ได้ (เพราะสินค้าตกรุ่น) และยังไม่ต้องแบกรับต้นทุนรักษาสินค้าคงเหลือจำนวนมากอีกด้วย
นอกจากนี้เมื่อมองไปถึง อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ ซึ่งคำนวณได้จาก อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (เท่า) = ต้นทุนขาย/สินค้าคงเหลือถัวเฉลี่ย ก็จะเห็นว่า แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท มีความสามารถในการขายสินค้าคงเหลือได้ค่อนข้างดีมากถึง 16.12 เท่า ซึ่งมากกว่าคู่แข่งรายอื่นเกิด 2 เท่าตัว (คอมเซเว่น 7.5 เท่า , ไอที ซิตี้ 6.07 เท่า ,เจ.ไอ.บี. 7.76 เท่า) แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการขายสินค้าคงเหลือสูง (มีสินค้าคงเหลือน้อย) ซึ่งจะช่วยรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้บริษัทได้ดี (บริษัทสามารถขายสินค้าคงเหลือและเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างคล่องตัว) และยังเป็นการปิดความเสี่ยงจากการมีสินค้าค้างสต๊อกที่ตกยุคจากเทคโนโลยีของสินค้า IT ที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วอีกด้วย ซึ่ง ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯมีสินค้าคงเหลือสุทธิ 812.76 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของ แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท คือ ความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อวิเคราะห์จากอัตราส่วนกำไรขั้นต้นจะพบว่า ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการบริหารสินค้าคงเหลือที่ดี และสามารถขายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยกำไรที่ค่อนข้างต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่น เพราะการจะขายสินค้าได้อย่างรวดเร็วนั้น ต้องอาศัยวิธีเจาะตลาด เพิ่มยอดขายด้วยการกลยุทธ์ทางราคา (ลด แลก แจก แถม) ซึ่งทำให้ แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นเพียง 8.54% (คำนวณจาก กำไรขั้นต้น/รายได้จากการขาย) เมื่อเทียบกับคู่แข่งอีก 3 รายแล้วถือว่าต่ำกว่า 2 เท่าตัวเลยทีเดียว (คอมเซเว่น 12.83% , ไอที ซิตี้ 15.99% ,เจ.ไอ.บี. 15.61%)
จะเห็นได้ว่า ข้อดีของ แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท คือ การขายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และบริหารสินค้าคงเหลือได้ดี แต่ข้อเสียที่ต้องแลกมาคือ ความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่นในตลาด
ส่วน ‘คอมเซเว่น’ เจ้าของแฟรนไชส์ BaNANA, Studio7 ,U-Store , BKK และ iCare ถือเป็นบริษัทที่มีรายได้สูงที่สุด ด้วยรายได้เฉพาะในส่วนของการค้าปลีกในปี 2565 มากถึง 56,789 ล้านบาท ซึ่งยอดขายที่มากขนาดนี้เกิดขึ้นจากการมีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนถึง 1,318 สาขา (รวมทุกแฟรนไชส์) และยังเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการขยายสาขา และสร้างตลาดใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งไทย และต่างประเทศ (พม่า ,ลาว)
ขณะที่บริษัทฯ มีจุดเด่นคือ การรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้ค่อนข้างดีอยู่ในระดับ 12.83% ส่วนระยะเวลาการขายสินค้าเฉลี่ยอยู่ในระดับกลาง คือ 49 วัน ซึ่ง ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯมีสินค้าคงเหลือสุทธิ 9,028 ล้านบาท นอกจากนี้อีกหนึ่งจุดแข็งคือแผนการขยายตลาด ซึ่งจะยิ่งเป็นการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ และสร้างยอดขายและกำไรได้มากขึ้นโดยเฉพาะหากมีการขยายไปยังตลาดที่มีศักยภาพด้านกำลังซื้อที่ดี
ด้าน ‘ไอที ซิตี้’ เจ้าของแฟรนไชส์ IT CITY ,CSC, ACE มีจุดแข็งในด้านของความสามารถในการตั้งราคาขายสินค้า เห็นได้จากอัตราส่วนกำไรขั้นต้นสูงถึง 15.99% ซึ่งมากที่สุดใน 4 บริษัท แต่ก็แลกมาด้วยระยะเวลาการขายสินค้าเฉลี่ยที่ค่อนข้างช้า โดยใช้เวลามากถึง 60 วัน เท่ากับว่า บริษัทใช้เวลาตั้งแต่รับซื้อสินค้า และกว่าจะขายสินค้าชิ้นนั้นออกได้คือ 2 เดือนเลยทีเดียว แต่นั่นก็ทำให้บริษัทแห่งนี้มีกำไรขั้นต้นที่สูงกว่าคู่แข่งรายอื่น ขณะที่ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯมีสินค้าคงเหลือสุทธิ 1,309 ล้านบาท
ส่วน ‘เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป’ เจ้าของแฟรนไชส์ JIB , mine มีจุดแข็งที่ด้านความสามารถในการทำกำไรเช่นเดียวกัน ด้วยอัตราส่วนกำไรขั้นต้นสูงถึง 15.61% มากเป็นอันดับที่ 2 รองจาก ไอที ซิตี้ แต่มีความแข็งแกร่งกว่าในด้านของระยะเวลาในการขายสินค้าที่ต่ำกว่า โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ยเพียง 47 วัน ขณะที่ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทฯมีสินค้าคงเหลือรวม 940.93 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าจากการวิเคราะห์ 3 อัตราส่วนของทั้ง 4 บริษัทที่เรียกได้ว่าเป็น BIG4 ของตลาดค้าปลีกสินค้า IT ต่างมีจุดแข็งและจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่บริษัทเหล่านี้จะต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือ ความเสี่ยงจากความล้าสมัยของสินค้า ซึ่งต้องอัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีอยู่เสมอ บวกกับคาดการณ์กระแสนิยมของผู้บริโภคให้แม่นยำ เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีอาจทำให้มีสินค้าที่ไม่สามารถระบายออกได้ ดังนั้น ควรต้องมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อเนื่อง และลงพื้นที่ศึกษาสภาพตลาดอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดผลขาดทุนจากการจำหน่ายสินค้าล้าสมัยลง นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าใหม่ๆ ให้ครอบคลุม และให้บริการหลังการขายที่ดีเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ที่มา : corpusx , SEC ,SET , เว็บไซต์บริษัท
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
#thebusinessplus #BusinessPlus #ตลาดหลักทรัพย์ #SEC #SET #ตลาดหุ้น #หุ้นไอที #สินค้าไอที #IT