3 สัญญานบ่งชี้เศรษฐกิจ ‘เกาหลีใต้’ กำลังมา แม้เจอแรงกดดันส่งออก ‘รถยนต์’ หดตัว

ดูเหมือนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นในช่วงท้ายปี 2564 แม้ยังเผชิญกับความกดดันหลายอย่าง โดยมีการประเมินจากฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายสถาบัน ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจะเติบโตราว 4% ในปี 2564

ซึ่ง ‘Business+’ มองเห็นเครื่องบ่งชี้สัญญานการเติบโตทั้งหมด 3 ด้านด้วยกัน คือ

– การส่งออกที่เติบโตก้าวกระโดดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (เติบโต 32% เทียบกับปีก่อนหน้าทำออลไทมไฮที่ 6.044 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา)

– ถูกปรับคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สู่ระดับ 2.3% จาก 2% ในเดือนกันยายน และมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อปี 2565 ของเกาหลีใต้มีแนวโน้มแตะ 1.9% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ระดับ 1.6% โดยเงินเฟ้ออ่อน ๆ (ไม่เกิน 5%) ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตมีการลงทุนขยายการผลิต และมีการจ้างงาน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

– รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 3/2564 เพิ่มขึ้น 8% (เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) เกิดขึ้นทั้งจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และการสนับสนุนจากภาครัฐ

โดย CPI มีทิศทางเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในขณะที่รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 3/2564 เพิ่มขึ้นถึง 8% สะท้อนให้เห็นว่าระดับรายได้ที่สูงขึ้นนี้สูงกว่ารายจ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้นแสดงถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2564 ซึ่ง ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)’ คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2564 ที่ 4%

สอดคล้องกับการคาดการณ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัว 4.3% ในปีนี้

นอกจากนี้การลงทุนในเกาหลีใต้ดูเหมือนจะได้รับความนิยมเช่นกัน ล่าสุด บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ส่ง B.Gimm Power Korea Limited (บริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) เข้าซื้อหุ้น 49.9% ใน KOPOS Co.,Ltd. มูลค่าการซื้อขายหุ้น 3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 115500000 ล้านบาท)

โดย KOPOS Co. Ltd. เป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 95.78 เมกะวัตต์ ที่สาธารณรัฐเกาหลี ทุนจดทะเบียน 8,000,000,000 วอนเกาหลีใต้ แบ่งออกเป็น 1,600,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 5,000 วอนเกาหลีใต้

ทั้งหมดนี้มีส่วนในการผลักดันตัวเลขเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ เพราะการส่งออกที่เติบโตก้าวกระโดด และเม็ดเงินลงทุนที่เข้าสู่ประเทศจะยิ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของพวกเขาให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ได้แสดงความกังวลหลังจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเกาหลีใต้ขยายตัวเพียง 0.3% ในไตรมาส 3/2564 (เทียบรายไตรมาส) และคาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจจะไม่เติบโตไม่ถึงระดับ 4% ในปีนี้ เพราะการแพร่ระบาดที่ยาวนานของโควิด-19 และปัญหาซัพพลายเชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ขณะที่ สถาบันเพื่อการพัฒนาเกาหลี (KDI) มองว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยเฉพาะถ้าหากภาครัฐใช้มาตรการคุมเข้มด้านโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้รายงานในวันที่ 15 ธันวาคา ที่ผ่านมาว่า ยอดการผลิต, ยอดส่งออก และยอดขายรถยนต์ของเกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลง ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้สำหรับรถยนต์

ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ก็ยังมีส่วนกดดันตัวเลขเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ได้ไม่แพ้ 3 ปัจจัยที่มีส่วนผลักดัน ดังนั้น เศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะสามารถเติบโตตามเป้าหมายได้หรือไม่นั้น? ขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจด้านไหนจะมีผลกระทบที่รุนแรงกว่ากัน

แต่จะเห็นได้ว่ากุญแจสำคัญที่จะกำหนดตัวแปลทางเศรษฐกิจ อย่างการบริโภค การลงทุนภายในประเทศ และเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศของเกาหลีใต้ขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลว่าสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ปัญหาซัพพลายเชนที่กระทบการส่งออกของเกาหลีใต้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : tradingeconomics ,ditp ,infoquest

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #เกาหลีใต้ #GDP