2021 ปีแห่งการ Disruption เปิดข้อมูล 8 บริษัทสลัดคราบธุรกิจเดิม!!

ปี 2564 ถือว่าเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างสำหรับการทำธุรกิจ เพราะโควิด-19 เข้ามาทำให้บริษัทหลายแห่งต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมอื่นที่สร้างผลตอบแทนแก่เจ้าของ ในเมื่อธุรกิจเดิมไม่สามารถไปต่อได้อีก จนทำให้ในปีนี้กลายเป็นปีแห่งการ Disruption

โดยทั่วไปแล้วเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรม หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่ไม่เหมือนธุรกิจเดิมที่เคยทำจะไม่ได้เห็นกันบ่อย ๆ
สาเหตุที่ไม่ค่อยมีบริษัทไหนคิดเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ เป็นเพราะก่อนจะทำธุรกิจใด ๆ ก็ตามบริษัทจะมีเงินลงทุนเริ่มแรก ซึ่งเป็นการลงทุนในเครื่องจักร หรือสิ่งปลูกสร้างที่ออกแบบมาสำหรับธุรกิจหนึ่งโดยเฉพาะ แต่หากเปลี่ยนธุรกิจ ก็จะต้องกลับมาลงทุนใหม่เพิ่ม ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนสำหรับธุรกิจเดิมเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส เพราะใช้งานได้ไม่เต็มที่

แต่เมื่อสถานการณ์เข้ามาบีบบังคับ อย่างที่กำลังเผชิญกับโควิด-19 ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา บางธุรกิจไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่น กิจการที่ถูกสั่งให้ปิด หรือธุรกิจที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก ก็อาจจะไม่สามารถเปิดกิจการต่อไปได้ หรือแม้กระทั่งผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทาน ที่กระทบกันมาเป็นลูกโซ่ เช่น การจัดส่งอุปกรณ์ จัดส่งวัตถุดิบล่าช้า ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้บริษัทยอมที่จะเฉือนเนื้อร้ายทิ้ง ด้วยการ Disruption ตัวเอง และเปลี่ยนกลุ่มธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากมองว่าการลงทุนใหม่คุ้มค่ากว่า

11 เดือนเปลี่ยนกลุ่มธุรกิจไป 8 บริษัท


นับตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา จนถึงตอนนี้ สิ้นเดือนพฤศจิกายน มีบริษัทฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปลี่ยนกลุ่มธุรกิจไปแล้ว 8 บริษัทฯ ด้วยกัน

สาเหตุส่วนหนึ่งคาดว่า บริษัทต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เพื่อให้กิจการยังอยู่รอด โดยเฉพาะช่วงที่โควิด-19 เข้ามาทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง หลาย ๆ บริษัทที่ไม่อาจทำรายได้จากธุรกิจเดิม เพราะอาจจะติดปัญหาทั้งด้านแรงงาน ขนส่ง หรือแม้แต่ปัญหาจากห่วงโซ่อุปทาน เลยจำเป็นต้องหารายได้อย่างอื่นมาทดแทน และบางองค์กรต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น โดยคำนึงถึงโอกาสเติบโตในอนาคต และสุดท้ายเมื่อธุรกิจใหม่สร้างรายได้มากกว่าธุรกิจเดิมก็ต้องเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรมในที่สุด

ทั้งนี้การเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรม ของบริษัทฯ ในตลาดหุ้นถือว่าสำคัญมาก เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมต้องสอดคล้องกับสัดส่วนรายได้หลัก และเพื่อให้นักลงทุนเห็นว่า ตอนนี้บริษัทพึ่งพารายได้หลักจากธุรกิจอะไรกันแน่ เพราะผู้ลงทุนจะเลือกเข้าลงทุนบริษัทใด ๆ นั้น จะต้องยึดกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อการวิเคราะห์ผลประกอบการ หรือแนวโน้มธุรกิจของบริษัทได้ง่ายขึ้น
สำหรับบริษัทที่ทำการเปลี่ยนกลุ่มมีทั้งหมด 8 บริษัท และเราจะนำมายกตัวอย่าง 3 บริษัทฯ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปแบบสิ้นเชิง

1. บมจ.แอดวานซ์ คอนเนคชั่น คอร์ปอเรชั่น (ACC) เดิมอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค / ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน ซึ่งบริษัทเป็นผู้ผลิต และออกแบบพัดลมซึ่งมีโคมไฟประกอบเข้ากับพัดลมเป็นเครื่องตกแต่ง ภายใต้แบรนด์คุ้นหูคุ้นตาอย่าง Sunlight, COMPASS EAST และ Air-le-gance แต่ปัจจุบัน บริษัทมีรายได้หลักจากธุรกิจพลังงานทดแทน จึงได้ย้ายมากลุ่ม ทรัพยากร /พลังงานและสาธารณูปโภค

2. บมจ.วาว แฟคเตอร์ (W) เดิมเป็นผู้ผลิตธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Components) อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Technology) แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงมาทำธุรกิจอาหาร และมีรายได้หลักจากธุรกิจอาหารจึงย้ายไปกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)

3. บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ (GLOCON) เดิมอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) หมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Packaging) แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงการดําเนินธุรกิจเป็นธุรกิจส่งออก ธุรกิจอาหารแปรรูปแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสําเร็จรูปพร้อมทาน และผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้ง และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)

จากข้อมูลที่มีจะเห็นได้มีบริษัทเหล่านี้เปลี่ยนไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม รวมไปถึงกลุ่มพลังงานทดแทนอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นปรับเปลี่ยนมายังกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นกลุ่มที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ต่อให้รายได้ประชาชนลดลงมาก แต่ก็ยังคงต้องซื้อสินค้าเหล่านี้ในการใช้ชีวิต

และสำหรับกลุ่มพลังงานทดแทนอย่างโรงไฟฟ้า ก็เป็นกลุ่มที่ยังเป็น New S-Curve จึงมีโอกาสเติบโตสูงจากการสนับสนุนของภาครัฐ ให้ประชาชนหันมาผลิต และใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้นจึงอาจพูดได้ว่าทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจเป็นธุรกิจที่ผู้บริหารหลาย ๆบริษัทมองแล้วว่าจะสามารถอยู่รอดภายใต้วิกฤติที่กำลังเผชิญในขณะนี้

ดีลใหญ่ปี 2564
นอกจากการเปลี่ยนแปลงกลุ่มธุรกิจแล้วปี 2564 ยังเป็นปีที่ได้เห็นยักษ์ใหญ่หลายเจ้าทำการควบรวม หรือซื้อกิจการกันมากมาย ไล่เรียงมาตั้งแต่ดีลใหญ่ของปีอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายใหญ่ เข้าซื้อหุ้นของ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ AIS โดยดีลนี้ถือเป็นการซื้อกิจการที่แตกต่างจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ ซึ่งหลังจบดีลนี้ได้นำพาให้ GULF ก้าวเข้าสู่การครอบครองบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ทันที

หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB สู่บริษัทเทคโนโลยีเต็มตัวเป็น SCBX (เอสซีบี เอกซ์) และตามมาด้วยการประกาศเข้าซื้อกิจการ Bitkub ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งการเข้าซื้อครั้งนี้ SCB จะได้ประโยชน์จากสัดส่วนถือหุ้นใน Bitkub ที่เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี ที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเป็นบริษัทที่ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยถึง 92% ไปทันที

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC เจ้าของเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถืออย่าง “ทรู” กับ “ดีแทค” ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า TRUE และ DTAC ยังมีปัญหาในเรื่องของความสามารถในการทำกำไร เพราะต้องจัดโปรโมชั่นเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด ทำให้การแข่งขันค่อนข้างสูง แต่หากสามารถควบรวมกิจการได้สำเร็จปัญหาตรงนี้จะเบาลงหากเหลือผู้เล่นในตลาดแค่ 2 เจ้า เพราะไม่ต้องลดค่าบริการเพื่อแข่งขันอีกต่อไป

“ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า บริษัทเหล่านี้กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้อยู่รอดในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง และในภาวะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้การทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อีกต่อไป เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องหาแนวทางใหม่ในการดำเนินธุรกิจ”